ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับรอง ผอ.รร.ในขอนแก่น “รับแป๊ะเจี๊ยะ” ผู้ปกครองชี้แก้ทุจริตระบบการศึกษาต้องกล้าเปลี่ยน

สังคม
5 พ.ค. 67
14:10
510
Logo Thai PBS
จับรอง ผอ.รร.ในขอนแก่น “รับแป๊ะเจี๊ยะ” ผู้ปกครองชี้แก้ทุจริตระบบการศึกษาต้องกล้าเปลี่ยน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สพป.ขอนแก่น เขต 1 สั่งพักราชการ รอง ผอ.โรงเรียนใน จ.ขอนแก่น เรียกรับแป๊ะเจี๊ยะ และตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ขณะที่ผู้ปกครองที่ถูกเรียกรับเงิน ออกมาให้ข้อมูล หวังผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาทุจริตทั้งระบบ เพราะเชื่อว่าไม่ได้มีแค่โรงเรียนเดียว

เพียงแค่ระยะเวลา 1 เดือน มีเหตุการณ์ผู้ปกครองร้องเรียนปัญหาโรงเรียนเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ ใน จ.ขอนแก่น ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ต้นเดือนเมษายน มีการเผยแพร่คลิปภาพจากผู้ปกครอง ถูกโรงเรียนแห่งหนึ่ง เรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะจากนักเรียนที่สอบติดสำรองถึง 100,000 บาท เพื่อแลกกับการได้เข้าเรียนในระดับชั้น ม.1

และครั้งที่สอง วันที่ 29 เม.ย.2567 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ร่วมกับตำรวจ เข้าจับกุม รองผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ขณะเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะจากผู้ปกครองนักเรียนชั้น ป.3 จำนวน 10,000 บาท เพื่อรับย้ายนักเรียนระหว่างปีการศึกษา โดยนัดมอบเงินในห้องทำงานในโรงเรียน

ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้พูดคุยกับผู้ปกครอง ที่ตัดสินใจร้องเรียนปัญหานี้ ต่อ ป.ป.ช. นำไปสู่การจับกุมครั้งนี้

เขามีอาชีพเป็นตำรวจ ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น มีลูกชายอายุ 9 ขวบ และอยากให้ลูกย้ายมาอยู่โรงเรียนใกล้ที่พักและที่ทำงาน เพื่อสามารถไปรับ-ส่งเองได้ จึงได้เข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ของโรงเรียน เพื่อค้นดูประกาศรับสมัครนักเรียนระหว่างปีการศึกษา

แต่กลับไม่มีการลงประกาศระเบียบหลักเกณฑ์ รายละเอียดค่าเทอม และค่าธรรมเนียม ไว้ในเว็บไซต์ของโรงเรียน หรือข้อมูลการแจ้งจำนวนนักเรียนแต่ละห้อง ว่าสามารถรับนักเรียนเพิ่มได้อีกเท่าไหร่ จึงตัดสินใจพาลูกเดินทางมาที่โรงเรียนเพื่อสมัครเรียน

เมื่อมาถึงโรงเรียนเขาได้รับแจ้งรายละเอียดกรอกใบสมัคร และทางโรงเรียนมีการทดสอบการอ่านและเขียนของลูกชาย มีการแจ้งค่าใช้จ่าย คือ ค่าเทอม 2,500 บาท ค่าประกันชีวิต 200 บาท จ่ายที่ฝ่ายการเงินของโรงเรียน

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้เข้าพบ รอง ผอ.โรงเรียนที่ห้องทำงาน ซึ่งแจ้งว่า ปกติการสมัครเข้าเรียนต้องจ่ายเงิน 20,000 บาท แต่เด็กทดสอบการอ่านเขียนผ่าน จึงจ่ายเพียง 10,000 บาท แต่ต้องเป็นเงินสดเท่านั้น

“เขาบอกว่า เป็นค่าใช้จ่าย และไม่พูดถึงใบเสร็จ พูดว่า ค่าใช้จ่าย ผมก็เข้าใจ ว่าในสังคมไทยหมายถึงอะไร ที่มองว่าเป็นการเรียกรับโดยทุจริต เพราะเงินจำนวนนี้ไม่ระบุรายละเอียดในระเบียบการรับสมัครนักเรียน หรือระบุในใบสมัครเรียน” ผู้ปกครองกล่าว

ผู้ปกครองอธิบายต่อว่า วิธีสังเกตว่า การเรียกรับเงินของโรงเรียน เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งหากเป็นการทุจริต ทางโรงเรียนจะย้ำว่า ต้องจ่ายเงินสดเท่านั้น

หากมีการออกใบเสร็จ จะไม่ใช่ใบเสร็จที่ถูกต้องตามระเบียบราชการ เอาไปลดหย่อนภาษีไม่ได้ อาจเป็นบิลเงินสด และระบุว่า เป็นเงินบริจาค เขาไม่ได้จ่ายเงินในวันสมัครทันที แต่ขอเวลา และกลับมาถามคนที่เคยส่งลูกไปเรียนโรงเรียนนี้ และได้คำตอบที่น่าตกใจว่า ให้จ่ายๆ ไปเถอะ คนอื่นก็จ่ายกันหมด 10,000 ถูกแล้ว

หากการจ่ายเงินใต้โต๊ะ หรือเงินแป๊ะเจี๊ยะ เพื่อให้ลูกได้เข้าเรียนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ กลายเป็นสิ่งถูกต้อง เขาคิดว่า นี่กำลังกลายเป็นการบ่มเพาะปัญหาใหญ่ในสังคม เขาจึงตัดสินใจเปิดโปงปัญหานี้

เพราะอย่างน้อยก็ให้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ในฐานะตำรวจ หรือคนรุ่นใหม่ แต่ในฐานะพ่อคนหนึ่งด้วย แต่สิ่งที่ได้รับตามมาก็ยังถูกคนรอบข้างต่อว่า ทำไมแค่เงิน 10,000 บาท ถึงจ่ายให้ลูกเข้าเรียนไม่ได้

“ผมโดนว่าอยู่ทุกวัน ผมก็ตอบว่าจ่ายได้ ถ้าเงินถูกนำไปพัฒนาโรงเรียน พัฒนาการเรียนการสอน เงินต้องนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียน ไม่ใช่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่เรียกรับ ผมว่าสอนเด็กให้เก่งทำได้ง่าย แต่สอนให้เป็นคนดี ต้องเริ่มจากเรา พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำให้เห็น” ผู้ปกครองกล่าว

นายอิทธิพล ชลธราศิริ สส.ขอนแก่น เขต 2 ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนและข้อมูลปัญหาการเรียกแป๊ะเจี๊ยะจากผู้ปกครองหลายคนใน จ.ขอนแก่น และออกมาเผยแพร่ข้อมูลการเรียกรับเงินครั้งนี้

โดยพบว่า มีนักเรียนที่สมัครขอย้ายโรงเรียนระหว่างปีการศึกษา เพื่อมาเรียนโรงเรียนแห่งนี้กว่า 100 คน และพบว่ามีการจ่ายเงิน 70 คน แต่ละคนจ่ายไม่เท่ากัน โดยทางโรงเรียนยังเปิดรับสมัครนักเรียนที่ขอย้ายระหว่างปีการศึกษา ไปจนถึงวันที่ 16 พ.ค.นี้

เขาใช้สื่อสังคมออนไลน์เรียกร้องให้ผู้ปกครองที่ถูกเรียกรับเงินคนอื่น ๆ ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาทุจริตในระบบการศึกษา เพราะหลายคนมองว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ต้องจ่ายเป็นปกติอยู่แล้วในหลายโรงเรียน

อยากให้การที่ผู้ปกครองกล้าออกมาเปิดเผยปัญหา เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เพราะในสื่อสังคมออนไลน์ หลายความเห็นบอกว่า โรงเรียนทำถูกต้องแล้ว ดีแล้ว เราก็งงว่า ต้องตกใจกับปัญหาทุจริต หรือตกใจที่คนมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ

นอกจากนี้ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขาจะพยายามผลักดัน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา ที่อาจต้องใช้กลไกของรัฐสภา ในการติดตามนโยบายการออกระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่ช่วยลดช่องวางการเรียกรับเงินที่ผิดระเบียบ

โดยทางโรงเรียนต้องประกาศระเบียบหลักเกณฑ์ ผ่านเว็บไซต์ ระบุค่าเทอม ค่าธรรมเนียม รวมทั้งระเบียบการรับบริจาค และระเบียบการใช้เงินบริจาค เพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบให้ชัดเจน เพราะหากมีการเรียกรับเงิน ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบจะเข้าข่ายการทุจริต

รายงาน : พลอยไพฑูรย์ ธุระพันธุ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน

อ่านข่าว : หลายฝ่ายโต้กลับ "อุ๊งอิ๊ง" วิจารณ์ "ธปท."อุปสรรคพัฒนาประเทศ?

นายกฯ ปฏิเสธกดดัน "ผู้ว่าแบงก์ชาติ" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อธิบดี กพร. ยืนยันขน "กากแคดเมียม" เข้าโกดังพักเป็นไปตามมาตรฐาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง