10 นาทีสุดท้ายของการสมัคร "ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รอบ 2" นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ถึงได้ข้อสรุปให้ตัวเอง ยื่นชื่อสมัครตำแหน่ง ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ต่อมามติ ครม.วันที่ 29 ก.ค.2563 แต่งตั้ง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินและที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่
ไม่มีเพื่อนสนิทแต่มีเพื่อนที่หลากหลาย
ด้วยความเป็นลูกชายนักการทูต ชีวิตของ นก-เศรษฐพุฒิ จึงเติบโตมาท่ามกลาง "การเดินทาง" เขาบอกตัวเขาเองไม่ค่อยมีเพื่อนสนิทเพราะต้องย้ายประเทศทุกครั้งตามภารกิจของครอบครัว แต่จุดแข็งที่เขามองเห็นจากวิกฤตการไม่มีเพื่อนแท้คือ "เขามีเพื่อนที่หลากหลาย"
หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากวิทยาลัยสวาร์ธมอร์ และ ปริญญาโท-ปริญญาเอกในสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล "ดร.นก" เริ่มงานที่แรกในบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ชื่อดัง "แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี" ที่นิวยอร์ก เขาเล่าว่าที่นี่ให้โอกาสคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กใหม่หรือคนที่อยู่มานาน คอนเซปต์ของบริษัทคือต้องส่งมอบของที่ดีที่สุดให้ลูกค้า นั่นหมายถึงพนักงานทุกคนต้องกล้าเถียง กล้าเรียกร้อง เพื่อให้ได้ "สิ่งที่ดีที่สุด" ส่งให้ผู้รับบริการ
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
อ่านข่าว : นายกฯ ปฏิเสธกดดัน "ผู้ว่าแบงก์ชาติ" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
Export to World Bank - Import to BOT
จากนั้นเขาเข้าทำงานที่ธนาคารโลก (World Bank) กว่า 10 ปี ประสบการณ์การทำงานระดับโลกทำให้ นายเศรษฐพุฒิจึงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มองความมีเสถียรภาพของโครงสร้างเศรษฐกิจระดับมหภาคเป็นสำคัญ
การมองภาพระยะยาวมากพอ จะทำให้การประเมินความเสี่ยงต่ำลง
ในสมัยวิกฤติเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง 2540" นายเศรษฐพุฒิถูกรัฐบาลสมัย นายกฯ ชวน หลีกภัย เรียกตัวมาช่วยงานในตำแหน่งผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง ร่วมกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนก่อนหน้าเขา นายเศรษฐพุฒิมองว่าตัวเขาเองก็เจอวิกฤตทางการทำงานเช่นกัน จากคนที่โตในเมืองนอก ทำงานบริษัทต่างชาติ การกลับมาทำงานร่วมกับคนไทยที่ค่อนข้างมีพิธีรีตอง ลำดับชั้นยศ จึงเป็นความท้าทายแรกๆ หรือ Culture shock สำหรับเขา
แต่มุมมองของคนที่ทำงานธนาคารโลก เมื่อวันที่ต้องมานั่งอยู่อีกฝั่งในฐานะตัวแทนประเทศไทยเจรจากับ IMF และธนาคารโลก จึงทำให้นายเศรษฐพุฒิมองขาดว่า ธนาคารโลกมองประเทศไทยอย่างไร การเจรจาจึงง่ายขึ้น 2 ปีต่อมา ทีมเศรษฐกิจที่นำโดยผู้ว่าการแบงก์ชาติ 2 คน (ดร.วิรไท และ ดร.เศรษฐพุฒิ) ก็สามารถพาเศรษฐกิจไทยก้าวพ้นวิกฤติต้มยำกุ้งได้ นายเศรษฐพุฒิจึงตัดสินใจลาออกกลับไปทำงานที่ธนาคารโลกอีกครั้ง
จนในปี 2548 ในยุคนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เชิญนายเศรษฐพุฒิ กลับสู่เส้นทางการเงินการคลังของประเทศไทยอีกครั้ง ด้วยการดำรงตำแหน่ง "ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่" ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจากนั้นเขาก็ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในสถาบันการเงินระดับประเทศอีกมากมาย จนก้าวขึ้นสู่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน
อ่านข่าว : หลายฝ่ายโต้กลับ "อุ๊งอิ๊ง" วิจารณ์ "ธปท."อุปสรรคพัฒนาประเทศ?
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
หน้าที่ของคนแบงก์ชาติ "ถูกจ้างมาเพื่อกังวลแทนคนอื่น"
บนหอคอยงาช้างหลังกำแพงบางขุนพรหม ที่รายล้อมด้วยวิกฤตโควิด-19 ขณะที่นายเศรษฐพุฒิเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เมื่อปี 2563 เขามีหน้าที่สำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นภาคเศรษฐกิจให้กลับมา
เขาจ้างมาให้เรากังวล เพื่อที่คนอื่นจะได้ไม่ต้องกังวลมาก เพราะโดยหน้าที่ เรากังวลและระแวงแทนคนอื่นไปแล้ว
เขาปลอบใจตัวเองบนความกังวลแรกที่ต้องรับแก้ในวิกฤตขณะนั้น การทำให้ "การท่องเที่ยว" กลับมาด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) การท่องเที่ยวจะกลับมาได้ขึ้นอยู่กับวัคซีน สิ่งที่น่ากังวล คือ เราจะมีวัคซีนพอฉีดไหม การหยุดวิกฤตโควิดต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ไม่เช่นนั้น เราก็จะติดกับดักวงจรอุบาทว์ ระบาดระลอกใหม่-ล็อกดาวน์-รัฐเยียวยา-เริ่มมาตรการฟื้นฟู-การ์ดตก-ระบาดใหม่ วนไปไม่มีวันหลุดพ้น
"ประเทศไทยไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนทางเศรษฐกิจมานาน เราซื้อเวลาด้วยการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ให้ตัวเลขออกมาดูดี สนับสนุนให้คนเป็นหนี้กู้ง่าย การบริโภคก็เลยดูดี เศรษฐกิจก็โตขึ้นมาได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว"
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข้อกังวลต่อมาคือเรื่อง "หนี้" ที่หลังโควิดคลี่คลายจะเกิดการทำธุรกิจยุค New Normal ผู้ประกอบการควรปรับรูปแบบ โครงสร้างทางธุรกิจรองรับ
และสุดท้ายคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 จะขยายแผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยิ่งรุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมากจะเป็น "ตัวฉุด" การฟื้นตัวของหลายๆ ครัวเรือน ซึ่งจะซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งหนักขึ้น จนอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา
เศรษฐา - เศรษฐพุฒิ - เศรษฐกิจ
จนถึงปี 2567 ที่ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากรัฐบาลเศรษฐาที่ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกนโยบาย "ลดดอกเบี้ย" เนื่องจากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผู้ว่าฯ ปฏิเสธและยืนยังยังคงใช้นโยบายดอกเบี้ยเดิม โดยเขาระบุว่า ดอกเบี้ยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การตัดสินใจทำอะไร ต้องมีการอิงกับข้อมูล ภาพรวม และต้องดูผลเกี่ยวเนื่องระยะยาว ไม่ใช่แค่ผลระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สำคัญที่สุดคือ เสถียรภาพของระบบการเงิน
การแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากที่สุดคือ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ ธปท.ได้ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยการบังคับผ่านธนาคารทุกแห่ง
ก่อนหน้านี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเองก็เคยส่งหนังสือทักท้วงขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากที่นายกฯ ประกาศว่า มติ ครม.เห็นชอบเดินหน้าแจกเงินหมื่นให้ประชาชน 50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา
อ่านข่าว :
"แบงก์ชาติ" ส่งหนังสือด่วนถึง ครม. แนะทบทวน "ดิจิทัล วอลเล็ต"
"เศรษฐา" เคาะไตรมาส 4 แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
ครม.ใหม่เศรษฐา1/1 เข้าทำเนียบวันแรก-ถ่ายภาพหมู่
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย, บทสัมภาษณ์ Banking on the Future นิตยสาร Optimise