- อัปเดตบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พ.ค.2567 จ่ายอะไรบ้าง เงินเข้าวันไหน
- เรื่องน่ารู้ ก่อนเลือก สว.67 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13 ของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2567 สำนักข่าวต่างประเทศ เผยแพร่ภาพมุมสูงของอ่างเก็บน้ำภายใน จ.ด่งนาย ทางตอนใต้ของเวียดนาม พบปลานับแสนตัวตายลอยอืดบนผิวน้ำ ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด เจ้าหน้าที่เร่งเก็บซากปลาที่กำลังเน่าเสียหลังจากปลาตายตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ซึ่งมีปริมาณปลามากจนบางส่วนแทบไม่เห็นผิวน้ำ
ชาวบ้านในพื้นที่ ระบุว่า ปลาตายเพราะน้ำน้อย และชาวบ้านเดือดร้อนจากกลิ่นปลาเน่ามานานหลายวัน โดยเชื่อว่าหายนะที่เกิดขึ้นเกิดจากการดูแลจัดการที่ผิดพลาด ทั้งนี้คาดว่าปลาที่ตายคิดเป็นน้ำหนักรวมกว่า 200 ตัน และไม่สามารถระบุจำนวนได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสอบสวนหาสาเหตุ
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลอ่างเก็บน้ำต้องปล่อยน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรท้ายน้ำ ท่ามกลางอากาศแล้งจัดและฝนที่ไม่ตกมานานหลายสัปดาห์ โดยสื่อท้องถิ่นเวียดนาม รายงานว่า บริษัทที่ดูแลอ่างเก็บน้ำจุดนี้พยายามขุดลอกและผันน้ำเข้าไปเพิ่มตั้งแต่ต้น 2024 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
อ่านข่าว : "ลำน้ำทา" แล้งหนัก อปท.ต้องขนน้ำแจกชาวบ้านทุกวัน
"กัมพูชา" เปลี่ยนเวลาเรียนรับอากาศร้อน
ส่วนที่กัมพูชา อากาศร้อนจัดทำให้โรงเรียนในกรุงพนมเปญต้องลดเวลาเรียนลง 2 ชั่วโมง โดยเปลี่ยนไปเริ่มเรียนเช้าขึ้น 1 ชม. เป็นเข้าเรียนเวลา 07.00 น. และเรียนถึง 10.00 น. จากนั้นการเรียนภาคบ่ายจะเริ่มช้าลง 1 ชม. เป็นเข้าเรียนเวลา 14.00 น. และเลิกเรียน 17.00 น.
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาประเมินว่าอุณหภูมิสูง 39 องศาเซลเซียส ซึ่งนักเรียนบางส่วนกังวลว่าชั่วโมงเรียนที่ลดลงจะกระทบกับผลการเรียน ขณะที่นักเรียนหลายคนระบุว่ามีอาการปวดและเวียนศีรษะจนทำให้เรียนได้ไม่สะดวก
ขณะที่ที่ฟิลิปปินส์ ชุมชนแออัดที่อากาศร้อนจัดกลายเป็นโรงเรียนชั่วคราวของเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ภายใน หลังจากโรงเรียนประกาศปิดการเรียนการสอนเพราะอากาศร้อนจัด และให้นักเรียนเรียนออนไลน์จากที่บ้านแทน
สำหรับกรุงมะนิลา มีหน่วยงานท้องถิ่นเมือง Valenzuela นำรถอาบน้ำเคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชน เพื่อให้มาอาบน้ำคลายร้อนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนทั้งน้ำและไฟฟ้าในช่วงนี้ โดยหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาคาดว่าดัชนีความร้อนจะยังอยู่ในระดับสูงถึง 45 องศาเซลเซียสไปตลอดสัปดาห์
อ่านข่าว : แล้งจัด! เกษตรกรสุดช้ำ "ลูกทุเรียน" ร่วงเสียหายกว่า 50 ล้านบาท
"บังกลาเทศ-อินเดีย" ร้อนทุบสถิติเดือน เม.ย.
อีกด้านหนึ่ง ชาวโรฮิงญาซึ่งอาศัยลี้ภัยอยู่ที่ค่ายในบังกลาเทศ เผชิญอากาศร้อนจัดและสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ซึ่งแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ผู้อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยกููตูปาลอง เลี่ยงการออกไปที่กลางแจ้ง แต่คนส่วนใหญ่ยังคงต้องทำมาหากิน โดยมีรายงานการเกิดฮีทสโตรกและภาวะขาดน้ำอย่างต่อเนื่อง ส่วนในเด็กจำนวนมากพบปัญหาโรคผิวหนัง
สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนทุบสถิติในบังกลาเทศ ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาระบุว่า เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นเดือน เม.ย.ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เริ่มบันทึกข้อมูลเมื่อปี 1948
ส่วนที่อินเดีย เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นเดือน เม.ย.ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของพื้นที่ทางตะวันออกของอินเดียเช่นกัน โดยหลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อใช้อุปโภคบริโภค ท่ามกลางอากาศร้อนจัด
อ่านข่าว
สภาพอากาศวันนี้ เหนือ-อีสาน-กลาง "พายุฤดูร้อน" ในหลายพื้นที่
"ญี่ปุ่น" เริ่มสร้างฉากกั้นถ่ายรูป "ฟูจิ" แก้ปัญหานักท่องเที่ยว
รับครั้งแรก! AstraZeneca ชี้วัคซีนอาจมีผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตัน