ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โฆษก อสส.ยันคดีค้าง "นักธุรกิจหญิงเมาแล้วขับ” ยังส่งฟ้องได้

อาชญากรรม
2 พ.ค. 67
15:04
2,034
Logo Thai PBS
โฆษก อสส.ยันคดีค้าง "นักธุรกิจหญิงเมาแล้วขับ” ยังส่งฟ้องได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงขั้นตอนคดีอดีตผู้บริหารหญิง "เมาแล้วขับ" หลังพบมีความล่าช้า ยืนยันยังส่งฟ้องศาลแขวงได้ แต่ต้องขออนุญาตสำนักงานอัยการสูงสุด

วันนี้ (2 พ.ค.2567) นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยแนวทางการทำคดีอดีตผู้บริหารหญิง "เมาแล้วขับ" ในส่วนของคดีเก่าที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2565 ว่า แม้พนักงานสอบสวน สน.ประเวศ จะส่งสำนวนมาให้พนักงานอัยการล่าช้า แต่กรณีนี้ยังสามารถดำเนินคดีกับอดีตผู้บริหารหญิงได้

ขั้นตอนการทำคดีเมาแล้วขับนั้นจะอยู่ในอำนาจของศาลแขวง เนื่องจากมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีไม่ต้องทำสำนวนการสอบสวน สามารถส่งพนักงานอัยการฟ้องได้ภายใน 48 ชม. นับตั้งแต่มีการจับกุม

อ่านข่าว : นักธุรกิจหญิงมีคดีค้าง “เมาแล้วขับ” ตร.นัดส่งฟ้อง 10 พ.ค.

ส่วนกรณีที่ 2 ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนจะต้องทำสำนวนการสอบสวนเต็มรูปแบบ ซึ่งใช้ระยะเวลานาน จึงอนุญาตให้พนักงานสอบสวนดำเนินการผัดฟ้องต่อศาลได้ครั้งละ 6 วัน สูงสุดไม่เกิน 30 วัน เมื่อนำไปรวมกับ 48 ชั่วโมงที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัว จะเท่ากับว่าพนักงานสอบสวนจะต้องส่งฟ้องภายใน 32 วัน

แต่หากยังไม่แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาดังกล่าว เช่น กรณีอดีตผู้บริหารหญิงคนนี้ ก็ยังสามารถที่จะส่งสำนวนให้อัยการเพื่อส่งฟ้องศาลแขวงได้ แต่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี และจะต้องระบุเหตุขัดข้องว่า ทำไมจึงดำเนินการไม่สามารถทำสำนวนให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ โดยพนักงานอัยการจะนำคำชี้แจงดังกล่าวทำเรื่องเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขออนุญาตฟ้อง และเมื่ออัยการสูงสุดพิจารณาอนุญาตให้ฟ้อง ก็ต้องนำหนังสืออนุญาตนั้นมาแนบในสำนวนด้วย

ส่วนกรณีดังกล่าวจะเป็นช่องว่างของกระบวนการยุติธรรมหรือไม่นั้น โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด มองว่า การที่กฎหมายกำหนดว่าในฐานความผิดใดที่มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ให้ขึ้นอยู่กับอำนาจของศาลแขวงนั้น ก็เพื่อให้กระบวนการดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว

พร้อมยืนยันว่า กฎหมายไม่มีช่องโหว่ช่องว่างใด ๆ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน แต่หากไม่ทำ หรือมีข้อบกพร่องก็เป็นเรื่องของหน่วยงานที่จะต้องเข้าไปกำกับดูแลตรวจสอบด้านวินัย ซึ่งตัวเองไม่ขอก้าวล่วงการทำงาน

อ่านข่าว

ปทส.จ่อออกหมายจับ "ผู้เช่าโกดังภาชี" พบพิรุธไฟไหม้สารเคมีซ้ำ

เด้ง "สารวัตรหญิง ตม." คนสนิทมาดามดัง หลัง "ทนายตั้ม" อ้างร่วมทำธุรกิจ

ป.ป.ช.ขอนแก่น เปิดเบื้องหลังจับ รอง ผอ.รร.เก็บแป๊ะเจี๊ยะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง