ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กกต.แจงยิบกฎ-กติกาขั้นตอนเลือก 200 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13

การเมือง
2 พ.ค. 67
08:00
6,849
Logo Thai PBS
กกต.แจงยิบกฎ-กติกาขั้นตอนเลือก 200 สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 13
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
13 พ.ค.นี้ กกต.เปิดรับสมัคร สว. 77 จังหวัด 928 อำเภอพร้อมกันทั่วประเทศ ให้ 20 กลุ่มสาขาอาชีพลงรับสมัคร ตามไปดูขั้นตอนการเลือก สว. ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ก่อนได้ 200 สว. ตัวแทนคนไทยช่วนพัฒนาบ้านเมืองในทิศทางที่ดี

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่มาของสมาชิกวุฒิสภาอีกครั้ง ซึ่งได้กำหนดให้มีจำนวนและที่มาของวุฒิสภาไว้เป็น 2 ช่วงเวลากล่าวคือ

  1. ช่วงที่ 1 ให้เป็นไปตามบทเฉพาะกาล กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สช) ทั้งนี้ สว.ชุดแรกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

  2. ช่วงที่ 2 เมื่อ สว.ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลพ้นจากตำแหน่งแล้ว ให้วุฒิสภามีจำนวน 200 คน โดยมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม

    โดยการแบ่งกลุ่มให้ประชาชนที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะส่งผลให้การทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลนี้น่าจะทำให้การปฏิรูปประเทศมีความต่อเนื่องและมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

อ่านข่าว : "เลือกกันเอง" ที่มา สว.ชุดใหม่ ครั้งแรกการเมืองไทย

กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

  1. เมื่อ สว.ชุดที่ 12 (ชุดปัจจุบัน) สิ้นสุดลง กกต.จะดำเนินการภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ 

  2. พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ

  3. กกต.กำหนดวันและเวลารับสมัคร และวันเลือก ระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ เพื่อเลือกไม่ช้ากว่า 30 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ

  4. ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ประกาศกำหนดสถานที่รับสมัคร 

  5. เปิดสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยมีระยะเวลารับสมัคร 5-7 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับ

  6. ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร

  7. การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับอำเภอ ภายใน 20 วัน นับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร

  8. การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับจังหวัด ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เลือกระดับอำเภอ

  9. การเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่เลือกระดับจังหวัด

  10. กกต. ประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 

ทั้งนี้เมื่อผู้ใดได้ยื่นใบสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว จะถอนการสมัครมิได้ แต่หากสมัครรับเลือกเป็น สว. แล้ว ผู้สมัครพบว่าชื่อตนเองนั้นไม่มี หรือถูกสั่งลบชื่อในประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครระดับอำเภอมีสิทธิ ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครหรือวันที่ ผอ.การเลือกตั้งลบชื่อแล้วแต่กรณี 

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง

ขั้นตอนการเลือก สว.

ประกาศให้มีการเลือก สว. ภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือก สว.ใช้บังคับ ให้ กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกระดับอำเภอ จังหวัด และ ประเทศ

การสมัครรับเลือก สว. เริ่มรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก สว.ใช้บังคับ และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วันแต่ต้องไม่เกิน 7 วัน โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกสมัครได้ 1 กลุ่มอาชีพและ 1 อำเภอเท่านั้น

การเลือก สว.ระดับอำเภอ 

  • การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 5 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่ม จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้ 
  • การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้

 การเลือก สว.ระดับจังหวัด

  • การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 5 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่ม จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้
  • การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้

การเลือก สว.ระดับประเทศ

  • การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-40 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 40 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้
  • การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนลำดับที่ 1-10 เป็น สว. และลำดับที่ 11-15 อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละไม่เกิน 5 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้

ประกาศผลการเลือก สว.

เมื่อ กกต.ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศแล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้า กกต. เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้องสุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา 

ที่มา : หอสมุดรัฐสภา, สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง