ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เสียงประชาชน” ดังขึ้นดังอีก เอาคืน กกต.อย่าล้ำเส้นสิทธิ

การเมือง
1 พ.ค. 67
12:42
484
Logo Thai PBS
“เสียงประชาชน” ดังขึ้นดังอีก เอาคืน กกต.อย่าล้ำเส้นสิทธิ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พลังของประชาชนยิ่งใหญ่เสมอ คนไทยกำลังได้เห็นการรวมตัวแสดงจุดยืนครั้งสำคัญอีกครั้ง เรื่องการเลือกสว.ที่ถูกออกแบบประหลาดที่สุดไม่พอ ยังมีออกกฎระเบียบจากกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่คนส่วนใหญ่ เห็นว่าไม่เข้าท่าที่สุด

ไม่ว่าจะระเบียบปฏิบัติเรื่องแนะนำตัวที่แทบทำอะไรไม่ได้ การส่งและเผยแพร่ต้องเฉพาะแก่ผู้สมัครคนอื่นเท่านั้น ห้ามเผยแพร่ทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นอื่น ไปถึงประชาชนทั่วไป

ทำให้สาธารณชน ไม่สามารถเห็นได้เลยว่า ผู้สมัคร สว.แต่ละคน เป็นใคร แนะนำตัวอย่างไร และเมื่อพระราชกฤษฎีกาเลือก สว. มีผลบังคับใช้ ห้ามแนะนำตัวผ่านสื่อ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ห้ามให้สัมภาษณ์กับสื่อที่เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ

รวมทั้งการออกเอกสารข่าว สั่งห้ามชี้ชวนคนมาสมัครเป็น สว. ห้ามแคมเปญหรือรณรงค์เชิญชวนให้คนร่วมลงสมัคร สว. เพราะเข้าข่ายผิดตามกฎหมาย อาจมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี

นำไปสู่ผู้ประสงค์จะลงสมัคร สว. ส่วนหนึ่ง นำโดย นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ดังกล่าว โดยเฉพาะข้อห้ามแนะนำตัวผ่านสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

ด้วยเหตุผลเป็นสิทธิสำหรับการแนะนำตัว เพื่อให้ประชาชนได้รู้จักโดยทั่วไปด้วย ไม่เฉพาะผู้สมัครด้วยกัน อีกทั้งข้อห้ามต่าง ๆ ของ กกต.ที่ปรากฏในระเบียบ คิดว่า กกต.ไม่มีอำนาจขนาดจะสั่งห้ามให้เป็นระบบปิด ถึงขนาดบังคับ จำกัดสิทธิในการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว.

เป็นจุดเริ่มต้น ที่นำไปสู่ความเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่าง ๆ ที่สนใจและตระหนักถึงความสำคัญของ สว. ที่เห็นสอดคล้องกันประการหนึ่ง คือไม่เห็นด้วยกับการออกระเบียบและเหตุผลจาก กกต. โดยเฉพาะจาก นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ซึ่งต้องรับบทหนังหน้าไฟ และได้พยายามชี้แจงก่อนหน้านี้ว่า สว.เป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิ มาจากการเลือกของผู้ทรงคุณวุฒิ ต่างจาก สส.ที่เป็นสภานักการเมือง มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ประเด็นนี้สำคัญ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจน สส.และ สว.ถือเป็นตัวแทนของประชาชนเหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังมีผู้คนจากต่างสาขาอาชีพ ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย นักธุรกิจ ตัวแทนภาคประชาชน ศิลปิน แม้แต่อดีตข้าราชการ ขานรับ ข้อเรียกร้อง และสนับสนุนให้ยกเลิกข้อจำกัดที่เข้มข้นเกินเหตุของกกต. ไปรวมตัวที่สื่อค่ายใหญ่ย่านประชาชื่น จัดงานแถลงเปิดตัวแคมเปญ “มติชน : ส.ว.ชุดใหม่ Thailand-Select”

การวิพากษ์และตั้งปุจฉาต่อระเบียบการแนะนำตัวของ สว.เสียงดังพอที่จะได้เห็นการขานรับจากกกต.ผ่านนายแสวง บุญมี เลขาธิการเช่นเดิม และผ่านเฟซบุ๊ก แม้จะมีเนื้อหาผ่อนคลายลงจากโพสต์ครั้งแรก บอกว่าสื่อนำเสนอข่าวได้ ไม่ขัดระเบียบ แต่ต้องระวังห้ามช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัว ส่วนประชาชนร่วมสังเกตการณ์ได้ แต่ไม่มีสิทธิเลือก ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ

และแนะให้ติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ รวมทั้งประวัติของผู้สมัครได้ที่แอพพลิเคชั่น smart vote และเว็บไซต์ สนง.กกต. ที่จะเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่ประชาชนควรรู้ให้มากที่สุด

เท่ากับผ่อนคลายเรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อ แต่สำหรับผู้สมัคร ยังคงตอกย้ำต้องแนะนำตัวตามที่กฎหมายและระเบียบที่ กกต.กำหนด ทำมากไปกว่านั้นอาจถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และอาจได้รับโทษอาญา

เป็นการแจกแจงจาก กกต.ผ่านเลขาฯ โดยที่กรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.เอง ยังไม่มีใครออกโรงสื่อสารอย่างเป็นทางการ ขณะที่ภาคประชาชนเริ่มกล้าขึ้น เสียงเริ่มดังมากขึ้น และดังกว่านี้ หากกฎกติกาและระเบียบที่ออกมา ยังไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ในยุคสมัยที่ข้อมูลข่าวสารย่อมควรต้องถูกเปิดเผยอย่างเหมาะสมและไร้พรมแดน

การเปิดกว้างสำหรับผู้คน คือสิ่งต้องตระหนักและยึดมั่น ไม่ใช่ไปลิดรอนสิทธิ์

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง