วันนี้ (30 เม.ย.2567) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง สถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ที่ 36,699.9 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 29 เม.ย.2567 เวลา 21.00 น. ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย
โดยจะเห็นได้ว่าเป็นการเกิดพีคในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือ Solar Cell ไม่สามารถที่จะผลิตไฟฟ้าออกมาช่วยรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบได้
อ่านข่าว : "คมนาคม" ขีดเส้นขึ้นทะเบียน "รถป้ายดำ" ภายใน 90 วัน
ทั้งนี้ ตัวเลขระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งเป็นการคำนวณจาก กำลังผลิตไฟฟ้าที่คาดว่าจะสามารถผลิตได้จริงของโรงไฟฟ้าแต่ละชนิดในช่วงที่จะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด พบว่า ประเทศไทยยังคงมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง อยู่ที่ ประมาณ 25.8% ลดลงจากปีที่ผ่านมา (ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด อยู่ที่ 34,826.5 เมกะวัตต์ ในเดือน พ.ค.2566 ซึ่งคิดเป็นกำลังผลิตสำรองประมาณ 30.9%)
อ่านข่าว : เช็ก 22 พื้นที่ร้อนสุดปีนี้ พบบางจังหวัดทุบสถิติอดีตในรอบ 41 ปี
อย่างไรก็ดีกระทรวงพลังงานจะติดตามการใช้ไฟฟ้าและการสำรองไฟฟ้าของประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป
สถิติการใช้ไฟฟ้าช่วงพีคสุด 5 ปีย้อนหลัง
- วันที่ 6 พ.ค.2566 เวลา 21.41 น. ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 35,830 เมกะวัตต์
- วันที่ 23 เม.ย.2565 เวลา 20.49 น. ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 30,936.5 เมกะวัตต์
- วันที่ 31 มี.ค.2564 เวลา 14.49 น. ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 31,023 เมกะวัตต์
- วันที่ 13 มี.ค.2563 เวลา 14.14 น. ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 30,342 เมกะวัตต์
- วันที่ 3 พ.ค.2562 เวลา 14.27 น. ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 32,273 เมกะวัตต์
อ่านข่าว :
คุยเปิดใจ "พิรุณ" อธิบดีกรมโลกร้อน กับภารกิจฝ่าหายนะโลกเดือด
ดีเดย์ 1 พ.ค.วันขึ้นเงินเดือนข้าราชการและขึ้นเงินบำนาญขั้นต่ำ