ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หน้าร้อน ต้องระวัง สาเหตุเสี่ยง "ไฟไหม้" กับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "ไฟ"

ไลฟ์สไตล์
27 เม.ย. 67
17:04
1,712
Logo Thai PBS
หน้าร้อน ต้องระวัง สาเหตุเสี่ยง "ไฟไหม้" กับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "ไฟ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หน้าร้อน ต้องระวัง สาเหตุเสี่ยง "ไฟไหม้" ข้อควรรู้เอาตัวรอด - สิ่งที่ต้องทำเมื่ออยู่ในเหตุการณ์ มาเรียนรู้ และเตรียมพร้อม รับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่คาดคิด

เดือน เม.ย.-พ.ค.2567 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้หลายต่อหลายที่ หลายคนตั้งคำถามทำไมช่วงนี้มีเหตุไฟไหม้บ่อยครั้ง แต่ละครั้งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะหากเกิดเพลิงไหม้ในชุมชนแออัด อาคารขนาดใหญ่ รวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรม จะสร้างความเสียหายให้มากขึ้น ย้อนเหตุการณ์ไฟไหม้ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้ เกิดเหตุการณ์ใดที่ไหนบ้าง

  • วันที่ 22 เม.ย. ไฟไหม้โกดังเก็บกากของเสียอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตราย ในพื้นที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ต.บ้านค่าย จ.ระยอง อพยพ 250 ครัวเรือนหนีไฟไหม้หลัง 9 ชั่วโมงยังคุมเพลิงได้แค่วงจำกัด
ต.บ้านค่าย จ.ระยอง

ต.บ้านค่าย จ.ระยอง

ต.บ้านค่าย จ.ระยอง

  • วันที่ 25 เม.ย. เวลา 02.10 น. สารเคมีไทโอยูเรีย รั่วไหลออกจากถังเก็บโรงงานในซอยพระราม 2 ซอย 20 แขวงบางมด กทม. ชุดปฏิบัติการตอบโต้สารเคมีฯ ประสานรถดับเพลิงและกู้ภัยเข้าดับกลางดึก
  • วันที่ 25 เม.ย. เวลา 17.35 น. ไฟไหม้ป่าหญ้า ซ.ลาดปลาเค้า 72 เขตบางเขน กทม. กลุ่มควันลอยสูง โดยพื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนและแคมป์คนงานก่อสร้าง แม้เหตุการณนี้ไม่มีผู้บาดเจ็บร้ายแรง แต่ทำให้ชาวบ้านที่อยู่โดยรอบได้รับผลกระทบ รู้สึกแสบตาแสบจมูก และได้กลิ่นเหม็นไหม้ 
ไฟไหม้ป่าหญ้า ซ.ลาดปลาเค้า 72

ไฟไหม้ป่าหญ้า ซ.ลาดปลาเค้า 72

ไฟไหม้ป่าหญ้า ซ.ลาดปลาเค้า 72

  • วันที่ 25 เม.ย. เวลา 20.15 น.ไฟไหม้ที่บ่อทิ้งขยะชุมชนของเทศบาลตำบลศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ที่กองสูงมากกว่า 4 เมตรในพื้นที่กว่า 17 ไร่ เพลิงโหมรุนแรงมีกลิ่น ควันฟุ้งกระจายไปทั่วรอบบริเวณ
  • วันที่ 26 เม.ย. เพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชน ภายในชุมชนพัฒนาใหม่ (ชุมชนคั่วพริก) เขตคลองเตย ต้องระดมเจ้าหน้าที่กู้ภัยกว่า 100 นาย รถน้ำกว่า 10 คัน จึงคุมเพลิงได้ เหตุการณ์นี้ บ้านเรือนเสียหาย 20 หลังคาเรือน ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุสั่งตั้งศูนย์อพยพชั่วคราวช่วยผู้ได้รับผลกระทบ
  • วันที่ 27 เม.ย. ศูนย์วิทยุพระราม199 รายงานเวลา 12.09 น. เหตุเพลิงไหม้ภายในบริษัทรองเท้าชื่อดัง ย่าน ถนนเพชรเกษม แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กทม. โดยเพลิงลุกไหม้ตู้อบรองเท้าภายในบริษัท ไม่กี่นาทีต่อมา เพลิงสงบ ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ
  • วันที่ 27 เม.ย. เกิดเหตุไฟไหม้บ้านทั้งหลัง ต.ท่าข้าม จ.ฉะเชิงเทรา ส่วนต้นเพลิงมาจากรถตู้ ที่เจ้าของบ้านจอดไว้ที่หน้าบ้าน ก่อนที่จะลุกลามไปไหม้ตัวบ้านจนเสียหายทั้งหลังอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์นี้เจ้าของบ้านคาดว่าน่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรในรถตู้
ไฟไหม้บ้านทั้งหลัง ต.ท่าข้าม จ.ฉะเชิงเทรา ต้นเพลิงมาจากรถตู้

ไฟไหม้บ้านทั้งหลัง ต.ท่าข้าม จ.ฉะเชิงเทรา ต้นเพลิงมาจากรถตู้

ไฟไหม้บ้านทั้งหลัง ต.ท่าข้าม จ.ฉะเชิงเทรา ต้นเพลิงมาจากรถตู้

อ่าน : ป้องกัน "ไฟไหม้" ความรู้เบื้องต้นที่ทุกคนต้องรู้

  • วันที่ 28 เม.ย.2567 เกิดเหตุไฟไหม้บ้านไม้ 3 หลัง ซ.วงศ์สว่าง 8 ย่านบางซื่อ ที่เกิดเหตุเป็นบ้านไม้ปลูกติดกันหลายหลัง เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางซ่อนใช้น้ำฉีดสกัด ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
  • วันที่ 29 เม.ย.2567 เกิดไฟฟ้าดับทั้ง จ.อุทัยธานี รวมถึง จ.ชัยนาทบางส่วน หลังไฟไหม้ป่าหญ้าใต้สายไฟแรงสูงข้างทาง ถนนสาย 333 พื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านจักษา ต.สะแกกรัง อ.เมืองอุทัยธานี ทำให้ระบบตัดไฟฟ้าทำงานอัตโนมัติ ผู้ว่าฯ อุทัยธานี สั่งสอบเจ้าของที่นาหลังเกิดเหตุ

  • วันที่ 30 เม.ย.2567 เกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บยางพารา อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ช่วงเย็นเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว แต่ยังคงระดมฉีดน้ำสกัดป้องกันไฟปะทุซ้ำ 
  • วันที่ 30 เม.ย.2567 เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานกระดาษในพื้นที่ ม.6 ต.นาโคก อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 15 ชม.จึงจะสามรถควบคุมเพลิงได้

  • วันที่ 1 พ.ค.2567 เกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมีใน อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่เร่งควบคุมเพลิง พร้อมอพยพประชาชนรัศมี 1 กิโลเมตร และเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 31 คน จาก รพ.ภาชี ไปยัง 4 รพ.

  • วันที่ 4 พ.ค.2567 เจ้าหน้าที่กู้ภัยรับแจ้งเหตุเพลิงไหม้กองกระดาษภายในพื้นที่ของบริษัท ปัญจพลไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด (สาขาบางปลา) ซึ่งตั้งอยู่ถนน เศรษฐกิจ 1 ต.บ้านเกาะ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร

เหล่านี้เป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น "ไฟไหม้" เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอด และไม่ควรประมาท เพราะหลายครั้งมาแบบไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ทั้งที่ บ้าน ที่ พักอาศัยบนอาคารสูง สำนักงาน แล้วอย่างนี้จะเอาตัวรอดจากเหตุไฟไหม้ได้อย่างไร หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วควรทำสิ่งใดก่อน รวมถึงวิธีการปฎิบัติตน วันนี้รวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้วดังนี้ แต่ก่อนอื่นมารู้จักองค์ประกอบที่ทำให้เกิดไฟกันก่อน

องค์ประกอบของไฟมี 3 อย่าง

ออกซิเจน - เชื้อเพลิง - ความร้อน  3 สิ่งรวมตัวกันก่อให้เกิดไฟ

1.เชื้อเพลิง : เชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดการลุกไหม้ อยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ

2.ออกซิเจน : ซึ่งมีอยู่ในอากาศประมาณ 21% โดยปริมาตร ที่ช่วยให้ติดไฟ แต่หากออกซิเจนลดต่ำลงไฟก็จะไหม้ช้าลงหรือดับมอดไป 

3.ความร้อน (HEAT) ที่ทำให้เชื้อเพลิงเปลี่ยนสถานะเป็นไอหรือก๊าซ ที่เรียกว่า ความร้อนถึงจุดวาบไฟ และอีกอย่างคือ ความร้อนถึงจุดติดไฟ หรือจุดชวาล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเร็ว พอเพียงที่จะติดไฟได้จะมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับลักษณะทางสารสมบัติของเชื้อเพลิงด้วย

ดังนั้น หากขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไป "ไฟ" จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้

เปลวไฟ

เปลวไฟ

เปลวไฟ

รู้จักประเภทของ "ไฟ"

ไฟประเภท A ได้แก่ ไฟที่ลุกไหม้จากเชื้อเพลิงธรรมดา เช่น ไม้ กระดาษ เสื้อผ้า พลาสติก เศษใบไม้ และขยะแห้ง วิธีดับไฟประเภทนี้ คือ ลดความร้อน (Cooling) โดยใช้น้ำ

ไฟประเภท B ได้แก่ ไฟที่ลุกไหม้จากวัตถุเชื้อเพลิงเหลว และ ก๊าซ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ทินเนอร์ แอลกอฮอล์ วิธีดับไฟประเภทประเภทนี้คือ กำจัดออกซิเจน โดยใช้ผงเคมีแห้ง ใช้ฟองโฟม

ไฟประเภท C ได้แก่ ไฟที่ลุกไหม้จากอุปกรณ์ที่มีกระแสไฟฟ้า วิธีดับไฟประเภทนี้คือ ตัดกระแสไฟฟ้า แล้วใช้ก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์หรือน้ำยาเหลวระเหยที่ไม่มี CFC ไล่ออกซิเจนออกไป

ไฟประเภท D สารเคมีติดไฟ เช่น ผงแมกนีเซียมเซอร์โครเมียม ไททาเนียม ผงอลูมิเนียม วิธีดับไฟประเภทนี้คือ ทำให้อับอากาศหรือใช้สารเคมีเฉพาะ (ห้ามใช้น้ำเป็นอันขาด)

ปัจจุบันมีการผลิตเครื่องดับเพลิงที่สามารถดับไฟได้หลายประเภท วิธีการใช้ต้องดูที่ถังว่ามีป้าย A-B หรือ B-C หรือแม้แต่ A-B-C เพื่อนำไปดับไฟได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ระยะเวลาการเกิดไฟไหม้และลุกลามของไฟ 

ยกตัวอย่าง เกิดเหตุไฟไหม้ภายในห้อง

  • 1 นาที : ไฟลุกลามกระจายทั่วห้อง
  • 2 นาที : ควันไฟลอยตัวปกคลุมชั้นบน
  • 3 นาที : พื้นห้องมีควันไฟปกคลุมหนาแน่น
  • 4 นาที : ไฟลุกลามทั่วบริเวณ ครอบคลุมทั้งชั้นบนและชั้นล่าง
  • 5 นาที : มีควันพิษและความร้อนสูง ทำให้ผู้ประสบเหตุเสียชีวิตได้
แฟ้มภาพ ประกอบข่าว

แฟ้มภาพ ประกอบข่าว

แฟ้มภาพ ประกอบข่าว

ต้องรู้ พร้อมรับมือเหตุไฟไหม้

  • หากสูดอากาศที่มีความร้อน 150 องศาเซลเซียส เข้าสู่ ร่างกาย ปอดจะถูกทำลายและอวัยวะภายในหยุดทำงาน ส่งผลให้หมดสติและเสียชีวิตได้
  • เพลิงไหม้ที่ลุกลามในห้อง เป็นเวลา 1 นาทีขึ้นไป ทำให้อุณหภูมิสูงถึง 700 องศาเซลเซียส หากอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวจะเสียชีวิตทันที
  • ความมืด เมื่อเกิดเพลิงไหม้จะมีควันไฟสีดำ ทึบปกคลุมพื้นที่ทันที ขณะที่ กระแสไฟฟ้าจะดับ เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็นและอพยพออกจากอาคาร
  • เมื่อเกิดเพลิงไหม้ผู้ประสบภัยมีระยะเวลาในการอพยพหนีไฟอย่างปลอดภัยเพียง 2 นาทีแรก เนื่องจากไฟยังไม่ลุกลามขยายวงกว้างและมีควันไฟปกคลุมเบาบาง

การสังเกตลักษณะของควันไฟ

  • ควันไฟที่พุ่งออกจากช่องประตูและหน้าต่างอย่างรวดเร็ว แสดงว่า จุดที่เป็นต้นเพลิงอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว
  • ควันไฟสีดำและเคลื่อนที่เร็ว แสดงว่า อยู่ใกล้จุดต้นเพลิง
  • ควันไฟสีจางและเคลื่อนที่ช้า แสดงว่า อยู่ไกลจากต้นเพลิง
  • ควันไฟหนาแน่น แสดงว่า เพลิงไหม้บริเวณดังกล่าว มีก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
  • ควันไฟที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งรูปร่าง สี และความเร็วพุ่งออกมาจากช่องต่างๆ แสดงว่า ต้นเพลิงเป็นพื้นที่อับอากาศหรือไฟลุกไหม้เต็มที่แล้ว
  • ควันไฟสีดำ หนาแน่น แสดงว่า มีแนวโน้มที่ควันอาจลุกติดไฟกลายเป็นลูกไฟขนาดใหญ่และมีการเผาไหม้ต่อเนื่องในจุดที่ห่างออกมาจากต้นเพลิง
  • ควันไฟสีเทา (ไม่เป็นสีดำ หรือสีขาว) ลอยออกมาจากช่องประตูและหน้าต่างที่ปิดอยู่หรือรอยต่อฝาผนัง แสดงว่า เพลิงลุกไหม้เต็มพื้นที่และกำลังลุกลามออกมา ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณดังกล่าวและให้รีบอพยพออกจากอาคาร

สาเหตุที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้

ความประมาทและความร้เท่าไม่ถึงการณ์ : ทั้งการไม่ดับไฟบุหรีก่อนทิ้ง การจุดธูปเทียนหรือยากันยุงทิ้งไว้โดยไม่ดูแล การเผาขยะและหญ้าแห้งในบริเวณที่ติดไฟง่าย รวมถึงการจัดเก็บวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงใกล้แหล่งความร้อน จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้

ไฟฟ้าลัดวงจร : การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สายไฟฟ้าเสื่อมสภาพ การใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไม่ถูกวิธีการไม่ดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ใน สภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงการใช้ฟิวส์ หรือสายไฟฟ้าที่มีขนาดไม่เหมาะสม กับปริมาณกระแสไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้า ลัดวงจรเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ได

ก๊าซหุงต้มรั่วไหล เนื่องจากก๊าซหุงต้ม เป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติไวไฟ หากใช้งาน อย่างไม่ถูกวิธีหรือถังก๊าซไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้ก๊าซรั่วไหล หากมีประกายไฟ ในบริเวณดังกล่าว ส่งผลให้เกิดระเบิดและเพลิงไหม้ได้

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ดังนั้น จึงควรปฎบัติ ดังนี้

  • หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า
  • ใช้ปลั๊กพ่วงที่คุณภาพ
  • ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งที่เลิกใช้งาน
  • หมั่นตรวจสอบถังก๊าซหุงต้น
  • ติดตั้งช่องทางออกฉุกเฉิน
  • ติดตั้งถังดับเพลิงในจุดที่เห็นชัด
  • ติดตั้งเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ
  • เก็บวัสดุเชื้อเพลิงในบริเวณที่ปลอดภัย
  • ระมัดระวังเมื่อต้องทำกิจกรรมเกี่ยวกับไฟ
  • ติดหมายเลขสถานีดับเพลิงให้เห็นชัดเจน

การปฏิบัติตนเมื่อเกิดเพลิงไหม้

ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก ประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น
  • เพลิงไหม้เล็กน้อย : ใช้ถังดับเพลิงควบคุม เพลิงในเบื้องต้นพร้อมโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาควบคุมเพลิง
  • เพลิงไหม้รุนแรง : ตะโกนบอกหรือกดสัญญาณเตือน เพลิงไหม้ เพื่อแจ้งให้ผู้อื่นทราบ พร้อมอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ จากนั้นให้โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาควบคุมเพลิง
  • เปิดประตูออกไปช้า ๆ และอพยพไปตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย
  • หากมีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะอยู่ในวงล้อมของเพลิงไหม้ ให้ใช้ผ้าหนาๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟสามารถลอยเข้ามาได้
  • หลีกเลี่ยงการสูดดมควันไฟเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจโดยใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาครอบศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย ทำให้หมดสติและเสียชีวิต
  • โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อบอกตำแหน่งที่ติดอยู่ และส่งสัญญาณให้ผู้อื่นทราบจะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
  • หมอบคลานต่ำหรือย่อตัวให้ใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือพื้นในระดับไม่เกิน 1 ฟุต
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

หมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน

191 เหตุด่วนเหตุร้าย

199 แจ้งไฟไหม้ - ดับเพลิง

1669 เจ็บป่วยฉุกเฉิน

1677 วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน

1554 หน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล

1646 สายด่วนของศูนย์เอราวัณ  

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ก็ไม่ควรประมาท และหากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน สิ่งที่ควรทำคือ ตั้งสติ 

อ้างอิงข้อมูล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

อ่านข่าวอื่น ๆ 

เช็กการจราจร "เลนห้ามจอด" - กทม.เร่งประสานขนส่งฯ ลงโทษแท็กซี่ไม่รับคนไทย

อวสานจุดเช็กอินสุดฮิต "ฟูจิ" จ่อตั้งแผงกั้นสูง 2.5 เมตรคุมท่องเที่ยว

ปทส.ปิดโรงเลื่อยชาวอินเดียวลอบเปิดไร้ใบอนุญาต ก่อมลพิษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง