ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ "วันฉัตรมงคล" 4 พฤษภาคม

ไลฟ์สไตล์
26 เม.ย. 67
13:43
6,026
Logo Thai PBS
เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ "วันฉัตรมงคล" 4 พฤษภาคม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เรื่องราวทางประวัติศาสตร์วัน "วันฉัตรมงคล" วันสำคัญของไทยในเดือน "พฤษภาคม" มีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงกำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญ

เดือน "พฤษภาคม" เป็นอีกเดือนสำคัญในรอบปี นั้นเพราะเป็นเดือนที่มีวันสำคัญหลายวันทั้ง วันแรงงานแห่งชาติ วันพืชมงคล วันสำคัญทางศาสนา "วันวิสาขบูชา" รวมไปถึงวันสำคัญที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย วันนี้จะพาไปย้อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจกับวัน "วันฉัตรมงคล"

ความเป็นมา และความสำคัญ "วันฉัตรมงคล"

นับเป็นเวลานับร้อยปีที่ประเทศไทย มีพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งเป็น พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค ฉลองสิริราชสมบัติเนื่องในวันคล้ายวัน "บรมราชาภิเษก" ของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี

ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก มีมาตั้งแต่ "สมัยสุโขทัย" โดยปรากฏหลักฐานใน "หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช" แต่พระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ตามธรรมเนียมเดิม ในเดือน 6 (ตรงกับเดือน พฤษภาคม) เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภค และพระราชนิเวศน์ จะทำพิธีสมโภชเป็นการภายใน โดยฝ่ายในจะตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา ส่วนฝ่ายหน้าจะจัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระ

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุนตรีศก จ.ศ. 1213 ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2394 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศล ในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก และพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" โดยจัดการพระราชพิธีในเดือน 6 ขึ้น 13, 14, 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ รวม 4 วัน

ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงรับบรมราชาภิเษกเมื่อวันพุธ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ. 1230 ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 แต่ยังคงให้จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือน 6 ตามแบบอย่างในรัชกาลที่ 4

ในปีต่อมาพระราชพิธีฉัตรมงคลถูกย้ายจากเดือน 6 มาทำในเดือน 12 และเรียกว่า "การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร" มีการจัดพระราชพิธีรวม 4 วัน

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 คราว คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียร วันที่ 11 พ.ย.2453 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 28 พ.ย.2454

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 25 ก.พ.2468

ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ไม่มีการจัดพระราชพิธีฉัตรมงคล เนื่องจากไม่มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พ.ค. เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2493 และทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีของไทย หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต รัฐบาลได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษายกเลิกวันที่ 5 พ.ค. เป็น "วันฉัตรมงคล"

สำหรับในรัชกาลปัจจุบัน "วันฉัตรมงคล" ถูกกำหนดวันขึ้นตาม วันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นใน วันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 โดย "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก อย่างเป็นทางการ" จัดขึ้นในวันที่ 4 พ.ค. 2562 ดังนั้น "วันฉัตรมงคล" ในปัจจุบัน จึงตรงกับ "วันที่ 4 พ.ค. ของทุกปี"

ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการพระราชพิธีดังกล่าว เนื่องจากพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงร่วมงานพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ในวันที่ 6 พ.ค.2566

ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค

ในพระราชพิธีฉัตรมงคล จะมีพิธีจัดสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระบรมมหาราชวัง โดยเจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จากนั้นพระราชครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น

สำหรับเครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่

  • พระมหาพิชัยมงกุฎ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยทองคำหนัก 7.3 กิโลกรัม และได้ประดับเพชร "พระมหาวิเชียรมณี" ที่ยอดมงกุฎในสมัยรัชกาลที่ 4 ถือเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะในการปราบดาภิเษกของพระมหากษัตริย์
  • พระแสงขรรค์ชัยศรี หรืออาวุธที่มีลักษณะเป็นมีดยาวคล้ายดาบ มีคมทั้ง 2 ด้าน ตรงกลางทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นสันนูนคล้ายคมหอก ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพระอาญาสิทธิ์ในการปกครองแผ่นดิน ในทางพุทธศาสนายังหมายถึงพระปัญญาที่แหลมคมอีกด้วย
  • ธารพระกร ซึ่งทำจากไม้ชัยพฤกษ์อันเป็นมงคล สื่อความหมายถึงชัยชนะ
  • วาลวิชนี หมายถึง พัดใบตาลปิดทองและแส้ขนจามรี ซึ่งเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามคติอินเดีย
  • ฉลองพระบาทเชิงงอน หรือรองเท้าที่พระมหาราชครูพราหมณ์จะเป็นผู้สวมถวายทีละข้าง ซึ่งแสดงถึงพระบรมเดชานุภาพที่แผ่ไปทุกแห่งหนที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถึง
ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

ภาพจาก : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

กิจกรรมที่ถือปฏิบัติ ในวันฉัตรมงคล

1. ร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต

2. ถวายพระพรชัยมงคล

3. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน และตามสถานที่ราชการทุกแห่ง

4. ร่วมทำความดี ปลูกต้นไม้ กิจกรรมจิตอาสา ช่วยเหลือสังคม 

ข้อมูล : สำนักพระราชวัง, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

อ่านข่าว :

ดับร้อนแบบอิ่มท้อง! แนะกิน "ข้าวแช่" เมนูสมุนไพรฤทธิ์เย็น

จนกว่าจะตายจากกัน! ผู้ป่วยแคดเมียม ลมหายใจสุดท้ายที่แม่ตาว

25 เม.ย.2402 วันแรกเริ่มต้นขุด "คลองสุเอซ" ทางเชื่อมยุโรป-เอเชีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง