ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษ (ทางด่วน) ในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ รวมถึงการปรับปรุงระบบค่าผ่านทาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนนั้น
วันนี้ (25 เม.ย.2567) นายสุริยะ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทพ.ได้รายงานว่า อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ สนข. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัญญาสัมปทานบริหารทางด่วน ในการพิจารณาปรับโครงสร้างลดอัตราค่าผ่านทางฯ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการใช้ทางด่วนให้กับประชาชน โดยได้นำผลการศึกษาการแก้ปัญหาจราจรเมื่อปี 2565 มาศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการใช้กับทางด่วนขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร เนื่องจากมีผู้ใช้ทางเป็นจำนวนมาก
สำหรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ที่มีการปรับลดลง เริ่มต้นที่ 25 บาทและสูงสุดไม่เกิน 50 บาท จากในปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 25-90 บาท โดยจะมีการยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก (ขาออก) ซึ่งมีปริมาณรถหนาแน่น ซึ่งจากเดิมมีค่าผ่านทาง 25 บาท ทำให้เหลือ 0 บาท
ส่วนด่านประชาชื่น (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 65 บาท เหลือ 50 บาท ขณะที่ด่านอโศก (ขาเข้า) เดิมมีค่าผ่านทาง 50 บาท เหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ (ขาเข้า) จ่ายเงินทางขึ้น 25 บาท อย่างไรก็ตามคาดว่าจะหารือและได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป คาดว่าจะทำได้จริงได้ภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้
ประชาชนที่เดินทางด้วยทางด่วนสายยาวจากทางทิศเหนือ กทม.มายังทิศใต้ โดยเฉลี่ยจะเสียค่าทางด่วน 100 บาทกว่าๆ เป็นค่าใช้จ่ายที่สูง จึงมีนโยบายให้ กทพ.และ สนข.หารือกับเอกชนลดค่าทางด่วน ให้เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาท หรือ 50 บาทตลอดสาย
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การปรับลดค่าผ่านทางดังกล่าวจะทำให้รายได้ของผู้รับสัมปทานลดลง จากการหารือเบื้องต้น กทพ.มีแนวทางขยายสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 ต.ค.2578 พร้อมกับการพิจารณาแบ่งสัดส่วนรายได้ โดย กทพ.จะมีรายได้ลดลง เพื่อนำไปชดเชยให้กับผู้รับสัมปทานในการลดค่าผ่านทาง จากเดิม กทพ.มีสัดส่วนร้อยละ 60 ผู้รับสัมปทานร้อยละ 40 แต่การจะปรับลงเหลือสัดส่วนเท่าใดนั้นทางเอกชนและ กทพ.จะสรุปร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งการปรับลดส่วนแบ่งรายได้จะทำให้ กทพ.มีรายได้ลดลงทันที
ขณะเดียวกัน BEM จะต้องรับภาระในการลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการปรับลดค่าผ่านทางในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อ กทพ.หารือร่วมกับ สนข.และ BEM จนได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือนนับจากนี้ กทพ.จะเสนอเรื่องให้บอร์ด กทพ.พิจารณาเห็นชอบแนวทางการปรับลดค่าผ่านทาง รวมทั้งการขยายสัญญาสัมปทาน, การปรับสัดส่วนรายได้ และ BEM เป็นผู้ลงทุนโครงการ Double Deck ก่อนจะเสนอไปยังคณะกรรมการ มาตรา 43 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 พิจารณาเห็นชอบรายละเอียดการแก้ไขสัญญาฯ
ทั้งนี้ เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 43 แล้วจะส่งร่างสัญญาที่มีการปรับแก้ไขแล้วต่อไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อตรวจร่างสัญญา จากนั้นจะเสนอให้ รมว.คมนาคม พิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญาและเสนอไปยังคณะกรรมการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) เห็นชอบ ก่อนกลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม.อนุมัติเห็นชอบ ซึ่งตามไทม์ไลน์คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้ จะทำให้สามารถจัดเก็บค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 2 ที่มีการปรับลดลงในอัตราใหม่ได้
เดินหน้าแก้ปัญหาจราจรบนทางด่วนศรีรัช
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมยังเดินหน้านโยบายที่จะสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) หรือ Double Deck ต่อ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กม. โดยเฉพาะต่างระดับพญาไท ซึ่งประสบปัญหาการจราจรอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจากมีปริมาณจราจรเฉลี่ยกว่า 400,000 คันต่อวัน
ในขณะที่เส้นทางมีความจุประมาณ 300,000 คันต่อวัน ทำให้ต้องรับภาระด้านการจราจรทั้งหมดจากความต้องการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้บนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในและชั้นกลาง
สำหรับทางด่วน 2 ชั้น จะเป็นการแยกจราจรบริเวณจุดทางแยกให้ชัดเจน แก้ปัญหาจราจรตรงจุดแบบเบ็ดเสร็จ ตรงต่างระดับพญาไท (แยกตัว Y) โดยโครงการจะยกระดับซ้อนบนทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2 ) มีขนาด 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 แห่ง คือ ด่านประชาชื่น และด่านมักกะสัน
มีทางขึ้น 3 แห่ง ได้แก่ งามวงศ์วาน (ขาเข้าเมือง), บางซื่อย่านพหลโยธิน (ขาเข้าเมือง), อโศก (ขาเข้าเมือง) และมีทางลงสู่ทางด่วน 4 แห่ง ได้แก่ งามวงศ์วาน (ขาออกเมือง) บางซื่อ ย่านพหลโยธิน (ขาออกเมือง) มักกะสัน (ขาออกเมือง) อโศก (ขาออกเมือง)
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการใช้งานบัตร Easy Pass เพิ่มมากขึ้น โดยสั่งการให้ กทพ.เพิ่มช่องทางการจำหน่ายและการเติมเงิน Easy Pass ให้สะดวกขึ้น เช่น การจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ขณะเดียวกันจะมีการยกไม้กั้นออกและจะเพิ่มช่อง Easy pass มากขึ้น
อ่านข่าวอื่นๆ
ผอ.ขสมก.แจงปมรถเมล์จอดเสีย 486 คัน เอกชนไม่ส่งมอบรถ
พาณิชย์เฟ้นหาสุดยอด”หอมไทย-ข้าวสารแห่งปี”เจาะตลาดโลก
"แบงก์ชาติ" ส่งหนังสือด่วนถึง ครม. แนะทบทวน "ดิจิทัล วอลเล็ต"