ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หญิงเปรูทำ "การุณยฆาต" คนแรกของประเทศ

ต่างประเทศ
24 เม.ย. 67
06:49
21,981
Logo Thai PBS
หญิงเปรูทำ "การุณยฆาต" คนแรกของประเทศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หญิงเปรูป่วยด้วยโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ ยื่นเรื่องต่อศาลสูงขอให้แพทย์ทำการุณยฆาต ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์และกลายเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีลักษณะนี้ เนื่องจากการทำการุณยฆาตเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเปรู แต่กรณีนี้ถือเป็นกรณีพิเศษที่ศาลสูงอนุญาตให้ทำได้

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า อนา เอสตราดา นักจิตวิทยาวัย 47 ปี ซึ่งป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออักเสบมานานกว่า 30 ปี และในช่วง 5 ปีหลัง อาการของเธอแย่ลงเรื่อยๆ ถึงขั้นกล้ามเนื้อเกือบทั้งหมดไม่สามารถใช้การได้ ทำให้เธอไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ มีชีวิตอยู่ด้วยเครื่องช่วยหายใจและอยู่ภายใต้การดูแลของบุคคลอื่น

ก่อนหน้านี้ เธอไม่สามารถทำการุณยฆาตเพื่อจบชีวิตของตัวเองได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมายที่ระบุไว้ว่า ผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือให้คนคนหนึ่งจบชีวิตตัวเอง จะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี

เอสตราดาได้ยื่นเรื่องต่อศาลสูง โดยระบุว่าสาเหตุที่เธอต้องการทำการุณยฆาต เนื่องจากโรคที่เธอเป็นอยู่ไม่มีทางรักษา เธอต้องการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี ภายใต้การดำเนินงานทางการแพทย์

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เธอต้องล้มหมอนนอนเสื่อและใช้ชีวิตอยู่กับเครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นจึงต้องการกำหนดวิธีการจากไปด้วยตัวเธอเองและจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี โดยศาลสูงมีคำตัดสินตั้งแต่ปี 2023 ว่าเธอสามารถทำการุณยฆาตได้และแพทย์ที่ดำเนินการไม่ถือว่ามีความผิด ซึ่งเธอเพิ่งจบชีวิตตัวเองไปเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2024

"เอกวาดอร์" เปิดทางให้ทำการุณยฆาตได้

และเมื่อเดือน ก.พ.2024 เอกวาดอร์กลายเป็นประเทศที่ 2 ในลาตินอเมริกา ต่อจากโคลอมเบีย ที่แก้ไขกฎหมายกำหนดให้การทำการุณยฆาตไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไป ซึ่งการไฟเขียวในครั้งนี้มาจากการฟ้องร้องของ Poala Roldan หญิงชาวเอกวาดอร์วัย 43 ปี ที่ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS ที่ยื่นเรื่องต่อศาลเมื่อเดือน ส.ค.2023 คัดค้านกฎหมายที่กำหนดว่าการทำการุณยฆาตขัดต่อกฎหมายและมีโทษจำคุก 10-13 ปี

ครอบครัว ระบุว่า เธอต่อสู้เพื่อสิทธิในการจากไปอย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยความมีเมตตา ซึ่งเธอเสียชีวิตไปแล้วช่วงต้นเดือน มี.ค.2024 แต่ครอบครัวไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าเธอเสียชีวิตจากการทำการุณยฆาตหรือไม่

แถลงการณ์ของครอบครัว ระบุว่า การต่อสู้ของเธอทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อสังคม ความกล้าหาญและความมุ่งมั่นได้ปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้านกฎหมายของเอกวาดอร์ เปิดทางให้ผู้ที่เผชิญกับวาระสุดท้ายของชีวิตมีทางเลือกที่จะจากไป โดยไม่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอย่างไม่จำเป็น

"ฝรั่งเศส" พิจารณาร่างกฎหมายการุณยฆาต

ส่วนที่ประเทศฝรั่งเศส กำลังมีการอภิปรายถึงประเด็นนี้อย่างเข้มข้นในคณะกรรมาธิการของรัฐสภา และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอเข้าสู่วาระการประชุมของสมัชชาแห่งชาติในเดือน พ.ค.2024

ประเด็นหลักๆ ที่หารือคือ คุณสมบัติของผู้ที่สามารถทำการุณยฆาตได้ เช่น จะต้องอายุเกิน 18 ปี มีความต้องการชัดเจนว่าต้องการจบชีวิตตัวเอง เนื่องจากอาการป่วยที่คาดว่าจะทำให้มีชีวิตได้อีกไม่นาน ซึ่งขั้นตอนการทำการุณยฆาตจะต้องปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม

ปัจจุบัน กฎหมายของฝรั่งเศสอนุญาตให้ผู้ป่วยจากไปแบบทางอ้อมได้ เช่น ผู้ป่วยมีสิทธิ์ปฏิเสธการใช้เครื่องช่วยหายใจ แพทย์สามารถให้ยาสลบที่ออกฤทธิ์รุนแรงแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวด แต่ไม่สามารถขอให้แพทย์จบชีวิตของผู้ป่วยได้

สำหรับประเทศอื่นๆ ที่มีกฎหมายรองรับการทำการุณยฆาต ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา โคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และอินเดีย

การุณยฆาต คืออะไร 

การุณยฆาต (Euthanasia) มีที่มาจากภาษากรีก จากคำว่า Eu หมายถึง Good และ Thanatos หมายถึง Death แปลโดยรวมว่า การทำให้เสียชีวิตอย่างสงบโดยมีมนุษยธรรม ซึ่ง การุณยฆาต (Euthanasia) หรือ Mercy Killing คือ การยุติชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยหรือตามคำร้องขอของผู้แทนโดยชอบธรรม โดยมีโดยมีแพทย์เป็นผู้ดำเนินการยุติความเจ็บป่วย หรือเป็นผู้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยดี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

การุณยฆาตเชิงรับ (Passive Euthanasia) คือ การยุติการรักษาให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ในกรณีที่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือการรักษาได้ดำเนินมาถึงขีดสุด และแพทย์หรือผู้ได้รับอนุญาต จึงเลือกวิธีนี้เพื่อปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิต และหลุดพ้นจากความเจ็บปวดของการรักษา เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด และถูกกฎหมายในหลายประเทศ

การุณยฆาตเชิงสงบ (Non-aggressive Euthanasia) คือการุณยฆาตโดยการยุติการให้ปัจจัยดำรงชีวิตแก่ผู้ป่วย เป็นวิธีเร่งให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

การุณยฆาตเชิงรุก (Active Euthanasia) คือ การุณยฆาตโดยการให้สารหรือวัตถุเร่งให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

อ่านข่าว : 

กต.ชี้สู้รบเมียนมาไม่แน่นอน ย้ำหลักการรักษาดินแดนไทย

ฮ.กองทัพเรือมาเลเซีย 2 ลำชนกันกลางอากาศ ทหารตาย 10 นาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง