ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เครือข่ายทนายความ ยื่นฟ้อง 9 จนท.รัฐ "คดีตากใบ" 25 เม.ย.นี้

ภูมิภาค
23 เม.ย. 67
11:32
628
Logo Thai PBS
เครือข่ายทนายความ ยื่นฟ้อง 9 จนท.รัฐ "คดีตากใบ" 25 เม.ย.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เครือข่ายทนายความสิทธิฯ เป็นตัวแทนผู้เสียหายกรณีตากใบ เตรียมยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ในวันที่ 25 เม.ย.นี้

ทีมทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ เตรียมเดินทางไปศาลนราธิวาส เพื่อยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 9 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากในระหว่างการขนย้าย หลังถูกจับกุมในการสลายการชุมนุมหน้า สภอ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547

การฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ 9 รายดังกล่าว ทีมทนายความตั้งข้อหาว่า มีการหน่วงเหนี่ยวกักขัง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 และมาตรา 310 การฆ่าผู้อื่นและกระทำในลักษณะที่โหดร้าย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และ 289 (5) และยังเป็นเจ้าพนักงานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ผู้เสียหายและญาติผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ และมอบหมายให้ทีมทนายความทำคดี มีความตั้งใจมุ่งมั่นว่าการฟ้องร้องดำเนินคดีครั้งนี้ กระทำเพื่อจะแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต โดยไม่หวังผลเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ

ก่อนหน้านี้ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ติดตามความคืบหน้าของการดำเนินคดี และคณะกรรมาธิการฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยการเรียกเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงแล้ว

ปรากฏจากข้อมูลที่มีการชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า ในสำนวนคดีไต่สวนการเสียชีวิต พนักงานสอบสวนได้สรุปว่า ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดและไม่ทราบถึงสถานะและความมีอยู่ของสำนวนคดี ข้อเท็จจริงนี้ทำให้เห็นว่าเส้นทางการดำเนินคดีอาญาที่เพิ่งริเริ่มโดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เกิดขึ้น ในขณะที่อายุความของการเป็นคดีอาญากำลังจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ทีมทนายความฯ ระบุว่า แม้เหตุการณ์ตากใบจะผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี แต่กรณีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญ มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และด้วยวิธีการที่ทารุณโหดร้าย แม้ญาติผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาจากภาครัฐไปแล้ว แต่ผลพวงของเหตุการณ์ยังคงเป็นที่รับรู้กันทั่วไปทั้งในระหว่างเครือญาติครอบครัวที่สูญเสียและประชาคมที่ติดตามกรณีนี้ที่ต่างต้องการความยุติธรรม แต่ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนอย่างแล้วว่ากระบวนการทางคดีอาญาไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ได้ เพื่อจะหาตัวผู้กระทำความผิดให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี

เพื่อให้มีการค้นหาความจริงและพฤติกรรมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการเยียวยาความรู้สึกของครอบครัวและผู้เกี่ยวข้อง มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ ได้ร่วมกันรับมอบหมายจากผู้เสียหายและญาติผู้เสียชีวิตบางส่วนให้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์สลายการชุมนุมและการขนย้ายดังกล่าว ทั้งครอบครัวผู้เสียหาย และทีมทนายความ เชื่อว่า การทำความจริงให้ปรากฎและสร้างความยุติธรรม โดยอาศัยกระบวนการทางศาลเช่นว่านี้จะส่งผลด้านดีอย่างมากต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความขัดแย้งยืดเยื้อมายาวนานถึง 20 ปี

อ่านข่าว

เหตุการณ์ "ตากใบ" ในมุม "พล.อ.พัลลภ" 

บทวิเคราะห์ : 18 ปี ตากใบ กับเสียงคนปักษ์ใต้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง