วันนี้ (23 เม.ย.2567) นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เชื้อราแมว (Microsporum canis) เป็นเชื้อราที่สามารถก่อโรคในแมวได้และติดต่อระหว่างแมวด้วยกันเอง รวมทั้งสามารถติดต่อมาที่มนุษย์ได้ โดยเฉพาะคนที่ชอบสัมผัสกับแมว โดนแมวที่ติดเชื้อข่วน กัด หรือสัมผัสผิวหนัง โดยอาจไม่ได้ทำความสะอาดหลังจากสัมผัส ทำให้เกิดการติดเชื้อรา เกิดภาวะโรคกลากแมวได้ (Tinea infection)
นอกจากนี้สามารถติดจากแมวที่ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนเชื้อราแมว เช่น ขนแมว หรือตามบริเวณต่างๆ ส่วนใหญ่ แมวที่เป็นโรคผิวหนังอาจมีลักษณะเป็นผิวหนังแดง แห้ง ลอกเป็นขุยๆ หรือมีขนหลุดเป็นหย่อมๆ บางบริเวณได้
ขณะที่มนุษย์ เมื่อติดเชื้อราแมวจะมีอาการโดยเริ่มมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ตามลำตัว หรือแขน ขาที่สัมผัส ลักษณะผื่นจะเป็นผื่นแดงขอบค่อนข้างหนา มองเห็นชัด รวมทั้งมีขุยสะเก็ด และขนาดวง มีขนาดใหญ่ขึ้นตามการกระจายของเชื้อราที่ผิวหนัง นอกจากนี้จะมีอาการคันตามผื่นแดงที่เป็นได้ หรือบางครั้งมีการติดเชื้อที่หนังศีรษะ มีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะและมีผมร่วงเป็นหย่อม
กรณีที่ผู้ป่วยแกะเกามากจนเป็นแผล อาจจะพบการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนเพิ่มเติมได้ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกวิธี มีโอกาสผื่นลุกลามมากขึ้น หรือกระจายทั่วตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ
วิธีรักษา "เชื้อรากลากแมว"
สำหรับผู้ป่วย กรณีที่เป็นผื่นกลากแมวไม่รุนแรง มีผื่นรอยโรค1-2 รอยโรค แพทย์จะให้ยาทาฆ่าเชื้อรา โดยจะต้องทายาต่อเนื่อง 3-4 สัปดาห์ อาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นได้ สำหรับกรณีที่เป็นผื่นหลายรอยโรค หรือหลายตำแหน่ง หรือได้รับการรักษาด้วยยาทาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือติดเชื้อราแมวที่ศีรษะ แพทย์จะพิจารณาให้รับประทานยาต้านเชื้อราตามที่แพทย์สั่ง ควบคู่กับยาทาต้านเชื้อราอย่างต่อเนื่อง
นพ.สุตศรัญย์ พรึงลำภู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการป้องกันตนเองจากเชื้อราแมว คนที่เลี้ยงแมวควรหมั่นดูแลสุขภาพของแมวที่เลี้ยง พาแมวไปฉีดวัคซีนตามกำหนด จัดสถานที่เลี้ยงให้สะอาด แยกโซนบริเวณให้เหมาะสม
กรณีที่แมวเป็นโรคผิวหนังหรือรอยโรค ควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักษา หลีกเหลี่ยงการสัมผัสแมวในช่วงที่แมวมีอาการ หรือจนกว่าจะรักษาแมวจนหาย นอกจากนี้ไม่ควรคลุกคลีกับแมวมากเกินไป เช่น การเลี้ยงแมวบนเตียงหรือที่นอน ไม่ควรให้แมวสัมผัสหรือเลียใบหน้า หลังสัมผัสสัตว์เลี้ยงควรทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสให้สะอาดทุกครั้งในทันที
ส่วนกรณีที่คนไข้ติดเชื้อจากทางผิวหนังจากแมวแล้ว ควรทำความสะอาดเสื้อผ้าให้สะอาดด้วยสารฟอกขาว หรือโซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือใช้ความร้อนรีดเสื้อผ้าทั้งบริเวณด้านในและด้านนอก
อ่านข่าวอื่นๆ
กลัวติดคุก! ดรามา "ซาร่า" กู้ภัยประกาศงดจับหมา-แมว
โควิด JN.1 อาการไม่รุนแรง "กลุ่ม 608-ไม่ฉีดวัคซีน" ให้ฉีดป้องกัน