อาการปวดเข่าและหลังอย่างรุนแรง คือ หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่นางมะโอส่วย ชาญวนา ผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียม
ชาวบ้านพะเด๊ะ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก ได้รับหลังการตกค้างของสารแคดเมียม ในดิน และพืชผลทางการเกษตร ทำให้เธอป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน และไม่สามารถทำงานหนักได้
สำหรับชาวบ้านพะเด๊ะ ได้รับผลกระทบจากการประกอบการเหมืองแร่สังกะสีในพื้นที่ เมื่อประมาณปี 2545 ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อม จะมีคำพิพากษาในปี 2562 ให้บริษัทเอกชน จ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากสารแคดเมียม 20 คน เป็นเงินตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท
ชาวบ้านบอกว่า ที่ผ่านมาภาครัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แม้ช่วงแรกมีการระดมทุกหน่วยงานมาตรวจสอบ แต่ 3-4 ปีที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานเข้ามาเหลียวแล ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เขามองปัญหาการลักลอบขุดกากแคดเมียมออกนอกพื้นที่ ที่ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก ว่า สะท้อนการทำงานที่บกพร่องของหน่วยงานภาครัฐ และ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบสุขภาพของชาวบ้านรอบพื้นที่ และดำเนินการทำ EIA ใหม่อีกครั้ง
ส่วนการเตรียมเคลื่อนย้ายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมี่ยม จาก จ.สมุทรสาคร กรุงเทพฯ และชลบุรี กลับมาฝังกลบในพื้นที่เก็บกักกากแร่เดิมใน ต.หนองบัวใต้ วันที่ 7 พ.ค.นี้
ล่าสุด แม้คณะทำงานจะสั่งให้ปรับปรุงบ่อกักเก็บกากแคดเมียม ด้วยการฉาบพื้นผิวบ่อใหม่ทั้งหมดในเวลาไม่เกิน 2 เดือน ส่วนกากตะกอนแคดเมียมที่ขนย้ายมาจะนำไปเก็บไว้ในโรงเก็บแร่ที่จะปรับปรุงและปูวัสดุรองพื้น เพื่อป้องกันการรั่วซึม
แต่ชาวตำบลหนองบัวใต้ก็ยังคงกังวล เพราะกากแร่ที่ฝังอยู่ในพื้นที่ มากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้พวกเขาไม่กล้าใช้แหล่งน้ำ อุปโภคและบริโภค จึงเตรียมจับตาการจัดการของคณะทำงาน ก่อนที่จะกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป
เกษม แซ่กือ ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ