วันนี้ (19 เม.ย.2567) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงการเลือก สว.ว่า ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ส่งไปยังราชกิจจานุเบกษาแล้ว รอประกาศ ซึ่งฉบับล่าสุดเกี่ยวกับการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. จะส่งในวันที่ 23 เม.ย.นี้ และวันนี้มีการมอบนโยบายเน้นย้ำกับผู้อำนวยการกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กกต.) ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในกระบวนการเลือก และได้เน้นย้ำให้ทุกคนศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ละเอียดรอบคอบ และนำไปถ่ายทอดกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เพื่อเตรียมเลือก สว. ระดับอำเภอ จังหวัด และ ประเทศ และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร ในการดำเนินการเตรียมการเลือก สว.

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.
พร้อมกันนี้ยังเปิดเผยถึงมาตรการป้องกันการฮั้วหรือบล็อกโหวต มี 2 กลไกหลักตามกฎหมาย
- ค่าสมัคร 2,500 บาท
- การเลือกไขว้
ทางกกต. ยังมีกระบวนการของผู้ตรวจการเลือกตั้ง หน่วยเคลื่อนที่เร็ว รวมถึงภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ที่ร่วมกันตรวจสอบการทุจริตด้วย และย้ำขอผู้สมัครอย่าฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ถ้าหากพบการกระทำเข้าข่ายฮั้ว สามารถแจ้งเบาะแสกับ กกต. ได้ ซึ่งโทษจะมีทั้งทั้งจำและปรับและตัดสิทธิทางการเมือง โดยหากนำไปสู่คำพิพากษาว่ามีความผิดจริงก็จะมีเงินรางวัลสูงสุด 1,000,000 บาท
การสมัครมาเป็นผู้แทนประชาชน จิตสำนึกพยายามอย่าฝ่าฝืนกฎหมายไม่ว่าด้านใด ให้เป็นผู้สมัครที่ดี ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่ง กกต. ก็จะพยายามตรวจสอบการฮั้วให้ดีสุด
กลุ่มคนที่ตั้งใจจะฮั้ว อย่ามั่นใจว่าจะไม่ถูกจับได้ เพราะสมัยนี้ช่องทางการตรวจสอบเยอะ อย่าสุ่มเสี่ยง กระทำความผิด
นายอิทธิพร ยังกล่าวถึงกรณีของคณะก้าวหน้า ที่ได้มีการรณรงค์ให้ผู้สนใจมาลงสมัคร สว. นั้น ส่วนตัวเห็นว่าจากที่เป็นข่าวถือว่ายังไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งแคมเปญ 1 ครอบครัว 1 สว. ก็เป็นการรณรงค์ให้คนไปสมัคร ซึ่งหากมีคนตอบรับแคมเปญแล้วสมัครเข้ามาจำนวนมาก ไม่ว่าจะมากเท่าไหร่ กกต. ก็สามารถจัดการเลือก สว.ได้ ไม่มีปัญหา
เบื้องต้นคาดการณ์ว่าผู้สมัครจะอยู่ที่ประมาณ 100,000 คน ต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่หรือจำนวนบัตร ซึ่งรูปแบบบัตรเลือกตั้ง ก็เป็นไปตามแนบท้ายของกฎหมายที่ประกาศไปแล้ว โดยการจัดพิมพ์จะจัดเป็น 2 รอบ รอบแรกจัดพิมพ์ในจำนวนที่คาดการณ์ไว้ แต่หากเกินจำนวนที่คาดการณ์ไว้ก็จะจัดพิมพ์อีกรอบ หลังจากเขียนตัวเลขการรับสมัครแล้ว

นายอิทธิพร ยังกล่าวถึงกรณีที่ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เกี่ยวกับ กฎหมายการได้มาซึ่งสว. หรือจะมีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เชื่อว่า ยังไม่ปรากฏเหตุผลใดที่จะทำให้การเลือก สว.ถูกเลื่อนหรือถูกยื้อออกไป โดยยืนยันว่าเมื่อ สว. ครบวาระก็จะดำเนินการตามกระบวนการทันที แม้มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็ยังมีกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการเลือก สว.ได้
โดยวันนี้ นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร ทนายความอิสระ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน นายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน หรือผู้แทน เพื่อขอให้พิจารณาเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 40, 41 และ มาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา107 ที่บัญญัติว่า "มาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้การเลือกกันเองเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม" หรือไม่
นายธีรยุทธเห็นว่าการเลือกกันเองระดับอำเภอ จังหวัด และ ประเทศ ไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันผู้สมัครรับเลือก สว. มีการสมยอมกันในการเลือกกันเอง ต้องสันนิษฐานว่ามีการสมยอม และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม มีผลให้บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107
อ่านข่าวอื่น :