ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชะตากรรม "ออง ซาน ซู จี" ส่องเหตุผลเมียนมาย้ายกักตัวในบ้านพัก

ต่างประเทศ
17 เม.ย. 67
20:24
5,973
Logo Thai PBS
ชะตากรรม "ออง ซาน ซู จี" ส่องเหตุผลเมียนมาย้ายกักตัวในบ้านพัก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อ 3 ปีที่แล้ว "ออง ซาน ซู จี" ก็ถูกควบคุมตัวและต้องโทษจำคุกนานถึง 27 ปีจากกว่า 10 ข้อหา แต่จนถึงปัจจุบันแทบไม่มีใครได้พบตัวอดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนคนนี้เลย ล่าสุดมีข่าวว่าทางการย้ายเธอออกจากเรือนจำไปกักตัวที่บ้านพักแทน

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ออง ซาน ซู จี มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในเมียนมา และแม้ว่าในปัจจุบัน การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารจะไปไกลกว่าการสนับสนุนตัวอดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนคนนี้แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ซู จี ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและการต่อต้านการกดขี่ในประเทศ

หลังจากสื่อหลายสำนักรายงานอ้างแหล่งข่าวในกองทัพเมียนมาว่า ซู จี วัย 78 ปี และ วิน มินต์ อดีต ปธน.เมียนมา วัย 72 ปี ถูกย้ายออกจากเรือนจำในกรุงเนปยีดอ ไปกักตัวที่บ้านพักเมื่อวันที่ 16 เม.ย.2567 ล่าสุด โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาออกมายืนยันกระแสข่าวดังกล่าวแล้ว

โดยชี้แจงว่าการตัดสินใจในครั้งนี้เป็นเพียงมาตรการดูแลผู้ต้องขังที่มีสุขภาพอ่อนแอ-ไม่แข็งแรง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด และไม่ใช่แค่อดีตผู้นำ 2 คนนี้เท่านั้น แต่นักโทษคนอื่นๆ ที่มีอายุมากแล้ว ก็ได้รับการดูแลที่จำเป็นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลทหารเมียนมายังประกาศปล่อยตัวนักโทษ 3,300 คน ในวันนี้ (17 เม.ย.2567) อีกด้วย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการอภัยโทษตามปกติ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลตินจาน หรือสงกรานต์ในเมียนมา

ตลอดช่วงกว่า 3 ปี หลังรัฐประหาร รัฐบาลทหารเมียนมาจำกัดการเข้าพบ ซู จี จนแทบไม่มีใครได้พบตัวอดีตผู้นำคนนี้เลย แม้กระทั่งทีมทนายความในบางครั้ง

ภาพนี้ถือเป็นภาพแรกที่ทางการเมียนมายอมเผยแพร่ให้สาธารณชนได้เห็น ซึ่งเป็นภาพตอนที่ ซู จี ขึ้นศาลในกรุงเนปยีดอเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 เดือนหลังรัฐประหาร ขณะที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งนั่งเก้าอี้ รมว.ต่างประเทศไทยในขณะนั้น กลายเป็นเจ้าหน้าที่ต่างชาติคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบ ซู จี เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว

ปัจจุบัน ซู จี ได้รับการลดโทษจากจำคุก 33 ปี ใน 19 ข้อหา ทั้งทุจริตนำเข้าและครอบครองวิทยุสื่อสารผิดกฎหมายไปจนถึงละเมิดมาตรการป้องกันโควิด-19 เหลือโทษจำคุก 27 ปี จาก 14 ข้อหา

ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าคำสั่งย้ายตัว ซู จี จากเรือนจำไปกักตัวที่บ้านพักจะมีผลไปนานแค่ไหน เป็นเพียงการย้ายชั่วคราวหรือจะถือเป็นการลดโทษอย่างเป็นทางการ แต่นับตั้งแต่ถูกกองทัพควบคุมตัวหลังรัฐประหารเมื่อปี 2021 ข่าวเกี่ยวกับคดีความของซู จี ก็มีออกมาให้ได้ยินเป็นระยะๆ

โดยช่วงปลายปี 2022 ศาลทหารตัดสินจำคุกซู จี เพิ่มอีก 7 ปี จาก 5 ข้อหา ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ทำให้ ซู จี ต้องโทษจำคุกทั้งหมด 33 ปี ขณะที่ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา มีรายงานว่าซู จี ถูกย้ายไปควบคุมตัวที่อาคารของรัฐบาลในกรุงเนปยีดอ แต่ไม่มีการยืนยันจากทางการ ก่อนที่ในเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว รัฐบาลทหารเมียนมาจะประกาศอภัยโทษให้ ซู จี ใน 5 ข้อหา ทำให้เหลือโทษจำคุก 27 ปี ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการอภัยโทษนักโทษมากกว่า 7,000 คน เนื่องในวันเข้าพรรษา

ขณะที่ ยางฮี ลี อดีตผู้แทนพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาขององค์การสหประชาชาติ มองว่าการตัดสินใจของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในครั้งนั้น ก็เพื่อหวังเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนบางส่วนและหวังได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ในยุครัฐบาลทหารเมียนมาปิดประเทศ ซู จี เคยถูกกักตัวที่บ้านพักในย่างกุ้งนานถึง 15 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 รอบ ได้แก่ ช่วงปี 1989 ระหว่างดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค NLD จนถึงปี 1995 ซึ่งในระหว่างนั้น พรรค NLD ก็ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 1990 แต่รัฐบาลทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้ง

ขณะที่ในปี 2000 ซู จี ถูกกักตัวอีกครั้งแม้จะจำกัดกิจกรรมทางการเมืองของตัวเอง ส่วนรอบสุดท้ายเกิดขึ้นหลังเหตุโจมตีขบวนรถ NLD ในวันที่ 30 พ.ย.2003 ซึ่งทำให้ ซู จี ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอินเซนในย่างกุ้ง ก่อนที่ในหลายเดือนต่อมา จะถูกย้ายไปกักตัวที่บ้านพัก จนได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 13 พ.ย.2010 หรือ 6 วัน หลังเมียนมาจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี

การย้ายสถานที่ควบคุมตัว ซู จี ในรอบนี้ถูกจับตามอง เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงที่กองทัพกำลังเพลี่ยงพล้ำในหลายสมรภูมิรบ ท่ามกลางการรุกคืบของกลุ่มต่อต้านรัฐประหารเข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมียนมา ซึ่งทำให้อาจมองได้ว่ารัฐบาลทหารคงจะไม่อยากให้ปัญหาเรื่องสุขภาพของ ซู จี กลายมาเป็นตัวแปร หรือกลายมาเป็นข้ออ้างเพื่อโหมกระพือสถานการณ์จนทำให้กองทัพเสียท่าอีกในช่วงเวลาเช่นนี้

ขณะที่ล่าสุด สถานีโทรทัศน์ CCTV ของทางการจีน รายงานว่า กองทัพจีนเตรียมจัดการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงและการป้องกันทางอากาศในมณฑลยูนนานใกล้พรมแดนเมียนมาในวันนี้ (17 เม.ย.2567) เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งปกป้องอธิปไตยของประเทศและชีวิตของประชาชน

แม้ทางการจีนจะระบุว่าการซ้อมรบในครั้งนี้เป็นเพียงการฝึกซ้อมประจำปี แต่ก็จัดขึ้นเป็นรอบที่ 2 แล้วในเดือนนี้ ขณะที่ปัจจุบัน สถานการณ์บริเวณพรมแดนเมียนมา-จีน ค่อนข้างสงบ นับตั้งแต่จีนเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาพักรบระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเมื่อเดือน ม.ค.

ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า ซู จี มีปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เนื่องด้วยอยู่ในวัยชรา โดยในช่วงการพิจารณาคดีเคยมีอาการทั้งเวียนศีรษะ อาเจียน และบางครั้งก็กินอาหารไม่ได้ เนื่องจากปวดฟัน ต้องติดตามท่าทีของรัฐบาลทหารหลังจากนี้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งย้ายตัว ซู จี กลับไปคุมขังในเรือนจำอีกหรือไม่ 

อ่านข่าวอื่น :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง