ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คนเข้ากรุงฯ แน่นหมอชิต พบแท็กซี่ไม่พอ ปฏิเสธผู้โดยสารไม่กดมิเตอร์

สังคม
17 เม.ย. 67
07:25
371
Logo Thai PBS
คนเข้ากรุงฯ แน่นหมอชิต พบแท็กซี่ไม่พอ ปฏิเสธผู้โดยสารไม่กดมิเตอร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประชาชนทยอยเดินทางกลับจากภูมิลำเนาหลังเทศกาลสงกรานต์อย่างต่อเนื่อง ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 พบปัญหารถแท็กซี่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะเดียวกันผู้ใช้บริการยังต้องประสบปัญหาเรื่องแท็กซี่ไม่กดมิเตอร์และปฏิเสธที่จะรับผู้โดยสาร

วันนี้ (17 เม.ย.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศสถานีขนส่งหมอชิต 2 ว่า ประชาชนเดินทางกลับจากภูมิลำเนา หลังเทศกาลสงกรานต์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประชาชนต้องประสบปัญหา จำนวนแท็กซี่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้บางคนเลือกที่จะออกไปเรียกรถแท็กซี่ ที่ด้านหน้าสถานีขนส่งหมอชิต 2 แต่ก็พบปัญหาแท็กซี่ไม่ยอมกดมิเตอร์

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจ พบมีผู้โดยสารหลายคน พยายามเรียกรถแท็กซี่ แต่ก็ถูกปฏิเสธ เนื่องจากสถานที่ที่ต้องการจะไปมีระยะทางไกล บางคันเลือกที่จะไม่กดมิเตอร์

อ่านข่าว : คนแห่กลับกรุง ถนนมิตรภาพรถแน่น - สงกรานต์ 5 วันเดินทาง 12 ล้านคน

กลุ่มผู้โดยสารให้ข้อมูลว่า ตนเรียกแท็กซี่มา 5-6 คันแล้ว แต่ทุกคันปฏิเสธที่จะกดมิเตอร์ค่ารถ และจะเรียกราคาเหมา ซึ่งตนมองว่า เป็นราคาที่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับระยะทาง เนื่องจากตนต้องการเดินทางไปที่ดินแดง แต่ถูกแท็กซี่เรียกราคาเหมาในราคา 200 บาท เมื่อลองกดแอปพลิเคชันเรียกรถในโทรศัพท์มือถือพบราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80-120 บาท จึงทำให้สุดท้ายตัดสินใจเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันแทน

ซึ่งนอกเหนือจากรถแท็กซี่แล้วยังพบว่า มีรถจักรยานยนต์รับจ้างบางคัน พยายามหาลูกค้า โดยอ้างว่า สามารถเรียกรถโดยสารให้ได้ แต่อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้โดยสารมองว่า เป็นการฉวยโอกาสช่วงที่มีประชาชนต้องการใช้บริการรถแท็กซี่

เสียงสะท้อนของผู้ใช้บริการหลายคนกล่าวว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะเรื่องแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร และไม่กดมิเตอร์ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังพบเห็นได้ในทุกช่วงเทศกาล

ปลาทู น้ำแจ่ว ผัก ข้าวเหนียว แค่นี้ก็อิ่มแล้ว

แทบจะทุกเทศกาลภาพชินตาที่พบเห็นคนเดินทางกลับจากภูมิลำเนามาทำงานในเมือง นอกจากกระเป๋าเสื้อผ้าและของฝากแล้ว ข้าวก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พบเห็นติดไม้ติดมือมา และหลาย ๆ คนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ในเมืองหลวงที่เพิ่มสูงขึ้น

"ตะวัน" ภัทรพงษ์ ทองหมื่นไวย วัย 23 ปี นักศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เดินทางมาฝึกงานที่ บริษัทเอกชน แห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ก็เช่นเดียวกัน หอบหิ้วข้าวเหนียวจากบ้านเกิดใส่ไว้ในถังแกลลอนน้ำ แทนที่จะนำมาเป็นถุงกระสอบ แต่เพื่อกันความชื้น พอได้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ 1-2 เดือนต่อจากนี้

ภัทรพงษ์ ทองหมื่นไวย

ภัทรพงษ์ ทองหมื่นไวย

ภัทรพงษ์ ทองหมื่นไวย

ตะวันเล่าให้ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ฟังว่า ตนเคยไปฝึกงานที่ จ.อุบลราชธานี อยู่ 1 เดือน ที่นั่นค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูง จึงชวนเพื่อน ๆ นำข้าวเหนียวมานึ่งกินกัน เราซื้อหมูปิ้งกินกันตอนเช้า 20 บาท ข้าวเหนียวก็ไม่ต้องซื้อ หมูเหลือเราก็กินตอนเที่ยงได้อีก

ปกติถ้าไม่มีข้าวของตัวเอง ต้องซื้อข้าวกล่องกิน เช้าซื้อข้าว ไหนจะน้ำขวดเวลาออกไปไซต์งาน ตอนข้าวกลางวันก็ต้องซื้ออีก 60-70 บาท ไหนจะตอนเย็นอีก รวม ๆ แล้วตกวันละ 200-300 บาท สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว

ตนและเพื่อนจึงตัดสินใจ ช่วงฝึกงานที่ จ.นนทบุรี จึงพกข้าวเหนียวจากที่บ้านมานึ่งกินกันเอง ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายได้หลายร้อยบาท และยังพอมีเงินเหลือเก็บได้บางส่วน เพราะโชคดีที่ที่ฝึกงานมีเบี้ยเลี้ยงให้และที่พักฟรี

"ปลาทู น้ำแจ่ว ผัก ข้าวเหนียว แค่นี้ผมกับเพื่อนก็อิ่มแล้ว กินกันแบบบ้าน ๆครับพี่" ตะวัน กล่าว

อ่านข่าว : ปิดฉากสงกรานต์ 2567 ขยะรอบถนนข้าวสาร 116 ตัน - สีลม 33 ตัน

เช็ก 6 วิธีรับมือภาวะ "ซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว"

ชนกันยับ 3 คันรวด บนถนนเกษตรนวมินทร์ บาดเจ็บ 4 คน

5 วันสงกรานต์ตาย 206 เจ็บ 1,593 - คุมประพฤติเมาขับ 3,973 คดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง