วันหยุดยาว "เทศกาลปีใหม่ 2568" กำลังจะเริ่มขึ้น หลายคนต้องเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดเพื่อไปหาครอบครัว และเจอกับสภาพการจราจรที่รถติด ฉะนั้นการขับรถทางไกลช่วงเทศกาลปีใหม่ อาจทำให้มีอาการง่วงและเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย วันนี้มีคำแนะนำดีดี มาบอกต่อกัน

ดื่ม "กาแฟ - เครื่องดื่มชูกำลัง" มากไป ทำใจเต้นเร็ว
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า การขับรถทางไกลผู้ขับขี่บางรายนิยม "ดื่มกาแฟ" หรือ "เครื่องดื่มชูกำลัง" เพราะมี "สารคาเฟอีน" เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว สามารถขับรถต่อเนื่องได้นาน โดยปกติร่างกายไม่ควรได้รับคาเฟอีนเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน หากดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน จะทำให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนมากถึง 500 - 1,000 มิลลิกรัม ส่งผลให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว มือสั่น ใจสั่น คลื่นไส้
หลังจากดื่มกาแฟไปแล้วประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง คาเฟอีนจะออกฤทธิ์ ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ร่างกายต้องสูญเสียเกลือแร่ คือ โซเดียมและแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมากขึ้นด้วย
ส่วนเครื่องดื่มประเภทชูกำลังมีปริมาณคาเฟอีน 50 มิลลิกรัมและมีปริมาณน้ำตาล 25-26 กรัมต่อขวด แม้หลายคนจะมีความเชื่อว่า เครื่องดื่มชูกำลังจะทำให้ร่างกายตื่นตัว ไม่ง่วง จึงเป็นสาเหตุให้ละเลยการพักผ่อน ทำให้ยิ่งอ่อนล้าจนมีอาการมึนงง อีกทั้งยังส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่
การดื่มกาแฟและเครื่องดื่มชูกำลังเป็นประจำ จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ผู้ขับรถทางไกล ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันเดินทาง และควรเปลี่ยนจากเครื่องดื่มชูกำลังมาเป็นดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6 – 8 แก้วต่อวันแทน โดยเน้นจิบบ่อย ๆ ระหว่างเดินทาง
- น้ำเปล่า : ช่วยให้ร่างกายสดชื่น ลดอาการง่วงนอน ป้องกันภาวะขาดน้ำ
- กาแฟ : คาแฟอีนช่วยหระตุ้นระบบประสาท ควรเลือกดื่มกาแฟดำ เพื่อลดแคลอรีส่วนเกินจากน้ำตาล และไขมันจากครีมเทียม
** ข้อควรระวัง บริโภคคาแฟอีนมากเกินไปอาจทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหาร ทำใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ นอนไม่หลับ
ผลไม้รสเปรี้ยว ถั่วและธัญพืช ช่วยแก้ง่วง
กินผลไม้สดหรือดื่มน้ำผลไม้คั้นสดรสเปรี้ยวที่เป็นแหล่งวิตามินซี แทนจะดีกว่า เพราะวิตามินซีจะช่วยต้านความเหนื่อยล้าที่มาจากความเครียดและความกังวลขณะขับรถได้ ดังนี้
- กินผลไม้สด : ส้ม ส้มโอ มะม่วงดิบ สัปปะรด สตรอว์เบอร์รี่
- ถั่วและธัญพืช : อัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง อุดมด้วยวิตามินบี
ผลไม้รสเปรี้ยวช่วยกระตุ้นระบบประสาท วิตามินบีช่วยลดอาการอ่อนล้า อ่อนเพลีย และน้ำตาลธรรมชาติจากผลไม้ให้พลังงานช่วยให้ร่างกายตื่นตัว สดชื่น
อาหารที่ ควรงด เลี่ยง เสี่ยงง่วง
นอกจากนี้ ควรกินอาหารประเภทข้าวแป้งในปริมาณที่อิ่มพอดี ไม่มากเกินไป หากกินมากไปอาจทำให้แน่นทอง และทำให้รู้สึกง่วงหลังอาหารได้ง่าย รวมทั้งให้เลี่ยงกินผักที่ย่อยยาก เช่น กะหล่ำปลีดิบ ดอกกะหล่ำ ถั่ว หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง และมันฝรั่ง เลี่ยงอาหารที่อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่มีกระทิ ซึ่งอาจบูด เสียง่าย
และงดเครื่องดื่มที่มีฟอง เช่น โซดา หรือน้ำอัดลมผสมโซดา เพราะมีผลทำให้ท้องอืดเฟ้อและง่วงนอนได้เช่นเดียวกัน

ขับรถทางไกล ต้องจอดพักรถ
นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำจาก กรมการขนส่งทางบก ขับรถทางไกล ทำไมต้องจอดพักรถ และจะต้องจอดบ่อยแค่ไหน
อย่างที่บอกว่า การขับรถทางไกลอาจทำให้มีอาการง่วง เหนื่อยล้า และอ่อนเพลีย ฉะนั้นหาก ผู้ขับขี่ได้ผ่อนคลาย พักเติมพลังด้วยกาแฟหรือเติมความสดชื่นด้วยน้ำเย็น เครื่องดื่มรสเปรี้ยว เดินยืดเส้นยืดสาย จะเป็นการช่วยลดอาการง่วง ลดอาการปวดเมื่อยล้าตามร่างกาย ได้ นอกจากนี้ ยังเป็รระบายความร้อนสะสมที่เกิดขึ้นกับยางรถยนต์ อีกด้วย

จอดพักบ่อยแค่ไหน ยังไงดี
การขับรถทางไกล เมื่อขับอย่างต่อเนื่องจนถึงระยะ 200 กม. หรือทุก ๆ 2-3 ชม. โดยให้จอดพักประมาณ 10-15 และหากดับเครื่องลงจากรถต้องล็อกรถ เพื่อความปลอดภัย ป้องกันทรัพย์สินสูญหาย และมีข้อแนะนำว่า การเปิดฝากระโปรงรถจะช่วยระบายความร้อนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากไม่เปิดก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์
ทั้งนี้ ก่อนออกเดินทาง ช่วงเทศกาลปีใหม่ ควรเช็กรถให้พร้อมใช้งาน ที่สำคัญคือเตรียมร่างกายให้พร้อมขับ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัยตลอดเส้นทาง
อ่านข่าว : อาลัย "นพ.กัณฑ์เอนก สวีวงศ์" แพทย์ประจำ รพ.ระแงะ ประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิต