เทศกาลสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย ซึ่งกำหนดระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี โดยเทศกาลสงกรานต์จะมีการทำบุญตักบาตร ทำบุญเลี้ยงพระ ฟังธรรมเทศนา และพิธีบังสกุลเพื่อระลึกและอุทิศบุญกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ รวมถึงการรดน้ำผู้ใหญ่เพื่อขอพรเสริมสิริมงคลงให้กับชีวิต
ทั้งนี้ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละภูมิภาค จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ รวมถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ ของท้องถิ่นนั้นๆ
อ่านข่าว : เรื่องเล่าตำนาน "วันสงกรานต์" กับ "ประเพณีสงกรานต์" ใน 4 ภูมิภาค
ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้รัฐบาลโดยสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และ กระทรวงมหาดไทย กำหนดจัดงานมหาสงกรานต์ “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ในระหว่างวันที่ 11-15 เม.ย.2567 ทั้งนี้เพื่อดันซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลสงกรานต์ไทยติด 1 ใน 10 งานเฟสติวัลระดับโลก
- สงกรานต์ 2567 รวมพิกัดที่เที่ยว จุดเล่นน้ำทั่วไทย
- อัปเดตเบอร์ฉุกเฉิน ที่ต้องรู้ ก่อนเดินทางช่วงสงกรานต์ 2567
ทั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยได้รับการประกาศจากองค์การ UNESCO ให้ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ภาพ : วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช
โดย จ.นครศรีธรรมราชเป็นอีกจังหวัดที่มีอัตลักษณ์การจัดเทศกาลสงกรานต์ที่โดดเด่น และ หนดจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-14 เม.ย. 2567 โดยภายในงานกำหนดให้มีกิจกรรมเพื่อเสริมสิริมงคล และส่งเสริมการท่องเที่ยวมากมาย
อ่านข่าว : เสริมมงคลวันสงกรานต์ “ไหว้พระ 10 วัด” เริ่มต้นฉ่ำๆ รับปีใหม่ไทย
วันที่ 11 เม.ย.2567 จะมีพิธีถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กำหนดจัดขึ้นเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระผู้เป็นปฐมกษัตริย์เป็นต้นราชวงศ์ปทุมวงศ์ แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์ และเป็นผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช โดยพระองค์ได้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชในรูปแบบธรรมราชา ที่มีเมืองบริวารในการปกครองจำนวน 12 เมือง เรียกเมือง 12 นักษัตร
ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
พระองค์ได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ โดยบรรจุพระสารีริกธาตุไว้ในองค์พระบรมธาตุ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและความยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามขึ้นมากมาย อาทิ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ หรือประเพณีแห่ผ้าขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์และงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ที่ลูกหลานได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
วันที่ 12 เม.ย.2567 พิธีพลีกรรมและพิธีพุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง 6 แหล่ง และพิธีแทงหยวก
วันที่ 13 เม.ย.2567 พิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย ณ สนามหน้าเมือง พิธีอัญเชิญและขบวนแห่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากหอพระสิหิงค์ ไปตามถนนราชดำเนิน สู่ปะรำพิธี ณ สนามหน้าเมือง พิธีสมโภชพระพุทธสิหิงค์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การร่วมสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ และเล่นน้ำสงกรานต์ ณ สนามหน้าเมือง
ภาพ : ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช
และในวันที่ 14 เม.ย.2567 มีพิธีเปิดฟ้า เปิดดิน เปิดขบวนแห่นางดาน อลังการเมืองนคร ณ หอพระอิศวร ขบวนแห่นางดาน อลังการเมืองนคร จากหอพระอิศวร มุ่งสู่สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช และการแสดงแสง สี เสียง ชุดมหากาพย์แห่งศรัทธาและจิตวิญญาณ นางดาน อลังการเมืองนคร THE ONLY IN THAILAND
ซึ่งประเพณีแห่นางดานเมืองนคร งานประเพณีที่มีเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย เป็นประเพณีที่เก่าแก่ของ จ.นครศรีธรรมราช ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานแต่ครั้งบรรพกาล
ภาพ : วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช
ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งมีชุมชนพราหมณ์เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราช หรือเมื่อราว พ.ศ. 1200 เพื่อบูชาเทพบริวารในคติพราหมณ์ โดย "นางดาน" หรือ "นางกระดาน"
เป็นแผ่นไม้กระดานที่มีขนาดความกว้างหนึ่งศอก และสูงสี่ศอก แกะสลักเป็นรูปเทพบริวารในคติความเชื่อของพราหมณ์ จำนวน 3 องค์ คือ แผ่นแรกคือรูปพระอาทิตย์ และพระจันทร์, แผ่นที่สองรูปพระแม่ธรณี และแผ่นที่สามคือรูปพระนางคงคา โดยทั้ง 3 แผ่น จะนำมาร่วมในขบวนแห่เพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลกในวันขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ คือในเดือนอ้าย
พิธีแห่นางดานและการโล้ชิงช้าเป็นประเพณีของพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราชนับถือพระอิศวรเป็นเทพเจ้า เรียกว่าพิธีโล้ชิงช้า หรือ พิธีตรียัมปวาย สืบทอดมาจนถึงรัตนโกสินทร์ เป็นการเสด็จมาเยือนยังโลกมนุษย์ของพระอิศวร เชื่อกันว่าเสด็จมาเพื่อประสาทพรให้เกิดความสงบสุข ความอุดมสมบูรณ์และช่วยคุ้มครองมนุษย์ให้ปลอดภัย
ปัจจุบัน ประเพณีแห่นางดาน กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 เม.ย.ของทุกปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เตือนละนะ! อ่านก่อนจะได้เล่น "สงกรานต์" แบบไม่ผิดกฎหมาย