ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อ่าน! “คำพิพากษาฉบับเต็ม” คดีฆ่า “สารวัตรแบงก์” ในบ้าน “กำนันนก”

อาชญากรรม
9 เม.ย. 67
16:31
18,619
Logo Thai PBS
อ่าน! “คำพิพากษาฉบับเต็ม” คดีฆ่า “สารวัตรแบงก์” ในบ้าน “กำนันนก”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลคดีอาญาคดีทุจริตประพฤติและมิชอบกลาง พิพากษาจำคุก 15 ตำรวจ ที่อยู่ในงานเลี้ยงบ้าน “กำนันนก” นครปฐม ส่วน “กำนันนก” ถูกจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนคนขับรถรอดเพียงคนเดียว

วันนี้ (9 เม.ย.2567) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท 206 /2566 คดีหมายเลขแดงที่ อท 64 /2567 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 โจทก์ กับ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ หรือเกียรติ สมสุข ที่ 1 กับพวก รวม 23 คน เป็นจำเลย โดยในคดี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ

ถูกฟ้องฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ส่วนจำเลยที่ 17 ถึงที่ 23 เป็นราษฎร เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน

เหตุดังกล่าวนี้นายธนัญชัย หมั่นมาก หรือหน่อง ท่าผา ลูกน้องคนสนิท ใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม. ยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.1 กก.2 บก.ทล. จำนวน 4 นัด จนถึงแก่ความตาย ขณะนำส่งโรงพยาบาลนครปฐม

กระสุนปืนพลาดไปถูก พ.ต.ท.วศิน พันปี รอง ผกก.2 บก.ทล.ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมานายหน่องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปจับกุม และวิสามัญฆาตกรรม

ต่อมาชุดสืบสวนสอบสวนของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าดำเนินการสืบสวน ระหว่างนั้น พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.2 บก.ทล.2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ตายและผู้บาดเจ็บ ได้รับความกดดันอย่างหนัก กระทั่งยิงตัวเองเสียชีวิตในบ้านพัก

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จึงมีคำสั่งให้โอนคดีมาให้กองปราบปราม และโอนคดีจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มายังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา

สำหรับคดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหา 28 คน พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง 5 คน ถูกฟ้องเป็นจำเลย 23 คน มีการตั้งข้อหาความผิดหลายกรรมหลายบท มีการอ้างพยานบุคคลและพยานวัตถุจำนวนมาก

ล่าสุดวันนี้ (9 เม.ย.2567) ศาลฯ มีคำพิพากษา ดังนี้

โจทก์ฟ้องว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 จำเลยทั้งยี่สิบสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทและหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 22 (กำนัน น) จัดงานเลี้ยงโดยเชิญเจ้าพนักงานตำรวจจากหลายหน่วยงานและประชาชนที่คุ้นเคยหลายคนมาร่วมงาน รวมทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และจำเลยที่ 17 ถึงที่ 23 ซึ่งเป็นราษฎร

ในระหว่างงานเลี้ยงดังกล่าว จำเลยที่ 22 ไม่พอใจพันตำรวจตรี ศ ผู้ตาย อย่างมาก จึงสั่งให้นาย ธ ลูกน้องคนสนิท ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจำนวนหลายนัด กระสุนปืนถูกผู้ตายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล และกระสุนยังพลาดไปถูกพันตำรวจโท ว ได้รับบาดเจ็บ

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 พบเห็นนาย ธ ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้บาดเจ็บอันเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงมีหน้าที่ต้องจับกุมตัวนาย ธ แต่ไม่จับกุมกลับปล่อยให้นาย ธ หลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ

จำเลยที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 16 เร่งรีบออกจากที่เกิดเหตุ ไม่กระทำการยับยั้งเหตุตามความจำเป็น จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 22 และนาย ธ ไม่ให้ต้องรับโทษ จำเลยที่ 2 แย่งอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุจากนาย ธ ห่อด้วยผ้าคลุมเก้าอี้โต๊ะจีนและส่งมอบให้จำเลยที่ 1 เก็บไว้

จากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 23 ใช้ให้จำเลยที่ 17 นำอาวุธปืนดังกล่าวออกไปจากที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 17 นำไปฝังดินที่บริเวณใกล้บ้านพักอาศัยแห่งหนึ่ง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม จากนั้นจำเลยที่ 1 ใช้ให้จำเลยที่ 19 ถึงที่ 21 เก็บปลอกกระสุนปืนไปทิ้ง ล้างคราบเลือด และเก็บโต๊ะอาหารที่เกิดเหตุ

ต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 5และที่ 5 ใช้ให้จำเลยที่ 18 ถอดเอาเครื่องบันทึกข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 22 บอกจุดที่ติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลจากกล้องวงจรปิด แล้วนำไปทิ้งลงคลองบริเวณโค้งสะพานวัดตาก้อง ตำบลตาก้อง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 22 ไม่ให้ต้องรับโทษ ร่วมกับจำเลยที่ 23 พาจำเลยที่ 22 หลบหนีออกจากที่เกิดเหตุไปยังบ้านพักของจำเลยที่ 22 อีกแห่งหนึ่งโดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ มีจำเลยที่ 23 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 2 และที่ 5 นั่งโดยสารไปด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ติดตามให้การคุ้มกัน

ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งยี่สิบสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 91, 92, 157, 184, 189, 200 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 4, 172

จำเลยทั้งยี่สิบสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 21 รับว่า เป็นบุคคลเดียวกับที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งยี่สิบสามคน ตามทางไต่สวนแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 16 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จึงเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 (16) ยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 4 อีกด้วย

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 ย่อมมีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสืบสวนคดีอาญา เพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด แม้ประจำการอยู่คนละแห่งแตกต่างกัน แต่มีอำนาจและหน้าที่ทำการจับกุมผู้ต้องหาได้ โดยเฉพาะความผิดซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (16), 17, 18 และมาตรา 80

ทั้งตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ตามมาตรา 6 ก็กำหนดอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจไว้ สอดคล้องตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ภาค 1 ระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี และคู่มือการปฏิบัติมาตรฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจและเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ประสบเหตุ 2559

เจ้าพนักงานตำรวจประจำการอยู่คนละแห่งแตกต่างกันก็ตาม แต่ทุกคนต่างมีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีอำนาจทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้ การจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนคดีอาญา ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดจำกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ เฉพาะในเขตท้องที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นประจำการอยู่เท่านั้น

เจ้าพนักงานตำรวจทุกคนทุกชั้นยศ จึงมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร มีอำนาจและหน้าที่ทำการจับกุมผู้ต้องหาได้ทั่วไป รวมทั้งในเขตท้องที่อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ที่เหตุเกิดด้วย

เจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจและหน้าที่ปฏิบัติเป็นลำดับขั้นตอน 1.ขั้นเผชิญเหตุ ต้องหาตัวผู้กระทำความผิด หากมีผู้บาดเจ็บให้ช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วและทำการปิดล้อมที่เกิดเหตุ

2.ขั้นประเมินค่าอันตราย กรณีคนร้ายอยู่ในที่เกิดเหตุและใช้อาวุธให้พิจารณาอาวุธที่คนร้ายใช้ว่ามีความรุนแรงมากหรือน้อย
3.ขั้นการตอบโต้เหตุการณ์หรือการบังคับใช้กฎหมาย เข้าระงับเหตุตามระดับการใช้กำลังโดยพิจารณาความเหมาะสมตามสัดส่วน สถานการณ์ พฤติการณ์ของคนร้ายและสภาพแวดล้อม หากคนร้ายใช้อาวุธที่รุนแรงและภยันตรายที่เกิดขึ้นทันที ให้ตำรวจใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้หรือระงับเหตุทันที

4.ขั้นประเมินผล เมื่อทำการระงับเหตุเสร็จสิ้นแล้วให้ทำการปิดกั้นพื้นที่เกิดเหตุและสถานที่เกิดเหตุ ป้องกันไม่ให้คนเข้าออกพื้นที่นั้น ตลอดจนรักษาสถานที่เกิดเหตุให้คงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันมิให้พยานหลักฐานสูญหายหรือถูกทำลาย รายงานผู้บังคับบัญชาหรือแก่พนักงานสอบสวนพื้นที่เกิดเหตุทราบ หรือหากไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบของตน ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่รับผิดชอบนั้นทราบ

คดีนี้โจทก์มีพยานหลักฐานจากเครื่องบันทึกข้อมูลภาพกล้องวงจรปิด ที่จำเลยที่ 18 ถอดออกและโยนทิ้งน้ำคลองวัดตาก้อง และข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยแต่ละคน ซึ่งข้อมูลจากระบบอิเล็กทรอนิกส์มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากกัน สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำการกู้คืนได้ 12 ไฟล์วิดีโอ ไม่ปรากฏว่า มีการตัดต่อปรับเปลี่ยนแก้ไข เมื่อเปลี่ยนทำเป็นรูปภาพ

แสดงให้เห็นการกระทำหรือพฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคน ตามช่วงเวลาเป็นลำดับอย่างละเอียดนับวินาที โดยมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพบุคคล รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรืออื่น ๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก

ศาลได้ให้จำเลยแต่ละคนได้มีโอกาสตรวจสอบความถูกต้อง ไม่ปรากฏว่า จำเลยคนใดได้โต้แย้งความไม่ถูกต้อง หรือชี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่น ศาลจึงรับฟังรับฟังได้เฉกเช่นพยานคนกลาง และเช่นเดียวกับพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง ไม่มีส่วนได้เสีย นำเป็นพยานประกอบหลักฐานอื่นได้ และรับฟังสนับสนุนพฤติการณ์การกระทำของจำเลยแต่ละคนได้ด้วย

เห็นว่า

จำเลยที่ 1 รู้เห็นเหตุการณ์คำพูดและกิริยาของจำเลยที่ 22 กับนาย ธ ก่อนเป็นอย่างดี เห็นนาย ธ ยืนถือปืนยิงผู้ตายและผู้บาดเจ็บ การกระทำของนาย ธ ดังกล่าวเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า จำเลยที่ 1 เป็นสารวัตรสืบสวน ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะตัดสินใจ รับราชการกว่า 31 ปี มีประสบการณ์มาก

เมื่อจำเลยที่ 2 คว้าและนำปืนออกจากนาย ธ แล้ว ไม่ปรากฏว่านาย ธ มีอาวุธอย่างอื่นที่จะเป็นภยันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น เมื่อพบเห็นการกระทำผิดซึ่งหน้า จะต้องควบคุมตัวหรือจับกุมนาย ธ ด้วยตนเองหรือจะสั่งการ หรืออาจร้องขอให้เจ้าพนักงานตำรวจอื่น ที่อยู่ในที่เกิดเหตุด้วยเป็นจำนวนมาก เพื่อควบคุมตัวนาย ธ

ข้ออ้างว่า ตกใจ สับสน ไม่มีทีมงานตนอยู่ในพื้นที่ สภาพร่างกาย นาย ธ สูงใหญ่แข็งแรงกว่า ไม่กล้าควบคุมตัว นาย ธ เป็นลูกน้องคนสนิทของจำเลยที่ 22 น่าจะมาติดต่อมอบตัวในภายหลัง เข้าใจว่า มีผู้อื่นเข้าควบคุมตัวแล้ว

กับอยู่ในอาการมึนเมาสุรา ยืนลังเล และมีตำรวจอื่นพูดทำนองว่า “ไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยว ให้กลับบ้านไป” จึงขับรถยนต์ออกจากที่เกิดเหตุไปที่รีสอร์ตนั้น เป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล

พยานหลักฐานการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุพบภาพ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ออกจากที่เกิดเหตุไปในช่วงเวลา 9.25 นาที และข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์ที่รีสอร์ตที่ อ.ดอนตูม เหตุซึ่งเกิดเฉพาะหน้า ในความผิดต่อชีวิตร้ายแรง ที่มีการใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่นจนตายและบาดเจ็บเช่นนี้ และโดยลำพังตัวของเจ้าพนักงานตำรวจแต่ละคน แม้ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ไม่ได้อยู่ในเวลาปฏิบัติราชการ

และแม้ไม่มีอุปกรณ์วัตถุ ก็อาจใช้ตัวเองทำการหวงกั้นหรือปิดกั้นพื้นที่เกิดเหตุได้ รักษาสถานที่เกิดเหตุเอาไว้ เพื่อรอส่งมอบพื้นที่ให้แก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานตำรวจผู้รับผิดชอบพื้นที่ แต่จำเลยที่ 1 ไม่กระทำการดังกล่าว

ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะเห็นเหตุการณ์ในขณะที่นาย ธ ยิงผู้ตายและผู้บาดเจ็บหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อได้ยินเสียงปืนตั้งแต่แรกดังขึ้นจนถึงนัดสุดท้าย โดยสัญชาตญาณบุคคลย่อมหันไปทิศทางที่มีเสียงดังเกิดขึ้น ย่อมประมวลเหตุการณ์ การใช้อาวุธปืนยิงใส่บุคคลเป็นความผิดตามกฎหมาย และเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า

จำเลยที่ 2 คว้าแย่งปืนจากนาย ธ ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่เผชิญเหตุ การที่จำเลยที่ 2 ใช้ผ้าคลุมเก้าอี้มาห่อหุ้มอาวุธปืนเอาไว้ โดยมีเจตนาเพื่อที่จะไม่ให้พยานหลักฐานจำพวกลายนิ้วมือแฝงหรือดีเอ็นเอถูกทำลาย แล้วส่งมอบอาวุธปืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่อยู่ใกล้เคียงเป็นผู้เก็บรักษาไว้แทน

ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักยุทธวิธีตำรวจ และหลักการปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรักษาของกลาง แต่ก็ยังพอถือว่า เหมาะสมกับสถานการณ์การตัดสินใจในเวลานั้น

แต่เมื่อจำเลยที่ 2 คว้าแย่งอาวุธปืนในมือของนาย ธ แล้ว ภยันตรายร้ายแรงเฉพาะหน้าย่อมอาจหมดไป โดยอาจจะสั่งให้นาย ธ หยุดไม่ให้หลบหนี หรือร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานตำรวจอื่นให้ช่วยจับกุมหรือติดตาม หรือใช้อาวุธที่ตนคว้าแย่งมาได้ให้เป็นประโยชน์ตามยุทธวิธี

จำเลยที่ 2 พกพาอาวุธปืนสั้น ชนิดกึ่งออโตเมติก ขนาด 9 มม. ยี่ห้อซิกซาวเออร์ พร้อมบรรจุกระสุน 10 นัด ติดตัวอยู่ด้วย ย่อมหรือใช้อาวุธปืนดังกล่าว ในการติดตามจับกุมทันทีต่อเนื่องกันไป ในการที่จะระงับยับยั้งไม่ให้นาย ธ หลบหนีไปได้ โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่งตามยุทธวิธีตำรวจ

การอ้างว่า มีอายุมากและสุขภาพไม่ดี มึนเมาสุราไม่อาจเป็นข้ออ้างได้ เพราะการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีอาวุธปืนอยู่กับตนย่อมมีศักยภาพที่สูงกว่าคนร้ายที่ไม่มีอาวุธปืนในขณะนั้น แต่กลับปล่อยให้นาย ธ เดินไปขึ้นรถยนต์ขับหลบหนีไป ในขณะที่เหตุการณ์ชุลมุน

ส่วนการที่พบภาพจำเลยที่ 2 วิ่งไปที่ลานจอดรถ เข้าไปพยุงร่างของผู้ตายนำขึ้นรถยนต์ เข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ นับเป็นสิ่งที่เหมาะสมในสถานการณ์ขั้นเผชิญเหตุ แต่ต่อมากลับขึ้นโดยสารรถยนต์ไป พร้อมกับจำเลยที่ 22 ออกจากสถานที่เกิดเหตุ ไปยังบ้านพักอีกแห่งของ โดยไม่อยู่ปิดกั้นสถานที่เกิดเหตุ

ส่วนจำเลยที่ 3 นั่งหันหลังให้โต๊ะเดี่ยววีไอพี ห่างจุดที่มีการยิงกันราว 3 เมตร การที่นาย ธ ใช้อาวุธปืนยิง 4 นัด ขณะเกิดเหตุไม่มีเสียงดนตรีและเป็นเวลากลางคืนย่อมมีเสียงดังมาก โดยสัญชาตญาณทั่วไป บุคคลย่อมที่จะหันหน้าไปยังทิศทางของต้นเสียงในทันที ย่อมเห็นเหตุการณ์ที่มีการยิงผู้ตายช่วงเวลาบางส่วน

จำเลยที่ 3 เห็นขณะที่จำเลยที่ 2 คว้าแย่งอาวุธปืนจากมือของนาย ธ แต่ไม่มีผู้ใดควบคุมตัวนาย ธ จนหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุไปในทันทีโดยง่าย จำเลยที่ 3 ย่อมอาจแสดงให้เห็นว่าพยายามจะติดตามจับกุม หรืออาจร้องขอในการที่ให้เจ้าพนักงานตำรวจอื่น ช่วยกันจับกุมหรือติดตามไปในทันทีแต่ไม่กระทำ

ส่วนการที่วิ่งเข้าไปช่วยพยุงร่างผู้บาดเจ็บขึ้นท้ายรถกระบะ ถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ขั้นเผชิญเหตุในการช่วยเหลือนำส่งผู้บาดเจ็บเป็นไปตามสภาวการณ์ได้ถูกต้องแล้ว แต่หลังจากนั้นกลับขับรถจักรยานยนต์ออกไปและติดตามไปที่บ้านพักอีกแห่งของจำเลยที่ 22ไม่ปรากฏว่าขับรถจักรยานยนต์ตำรวจจราจร ไปช่วยอำนวยความสะดวก ระหว่างทางที่มีการส่งตัวผู้ตายหรือผู้ได้รับบาดเจ็บไปที่โรงพยาบาลนครปฐม ไม่กระทำการตามหน้าที่ตามลำดับดังกล่าวข้างต้น

ส่วนจำเลยที่ 4 ภาพจากกล้องวงจรปิด เวลา 21.26.33 น. หลังจากมีการใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย พบจำเลยที่ 4 นั่งอยู่ที่โต๊ะจีนหันไปมองเหตุการณ์ตรงจุดเกิดเหตุ จากนั้นเดินออกจากที่เกิดเหตุไปยังลานจอดรถยนต์ ขึ้นรถยนต์ของตนจอดติดเครื่องยนต์เปิดไฟกระพริบฉุกเฉิน จากนั้นขับรถยนต์ของตนออกที่เกิดเหตุ

การที่จำเลยที่ 4 พบเห็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า แต่เกรงกลัวภยันอันตรายที่เกิดขึ้นเฉพาะตน โดยนั่งรออยู่ในรถยนต์ส่วนตน ทั้งที่พกพาอาวุธปืนสั้น ชนิดกึ่งออโตเมติก ขนาด 9 มิลลิเมตร ยี่ห้อซิกซาวเออร์ เอพี 320 บรรจุกระสุนปืนไว้ 10 นัด ติดตัว โดยเหน็บไว้ที่บริเวณขอบกางเกงเอวด้านหน้า

และสามารถใช้อาวุธปืนให้เป็นประโยชน์เพื่อป้องกันตนเองและบุคคลอื่นตามยุทธวิธีตำรวจ แต่ไม่ได้ใช้อาวุธปืน ในการที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการระงับยับยั้งไม่ให้นาย ธ หลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ ไม่พยายามที่จะเข้าทำการจับกุม ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ กลับขึ้นไปนั่งอยู่บนรถยนต์ส่วนตัว มองดูเหตุการณ์จนนาย ธ หลบหนี

จากนั้นขับรถออกจากที่เกิดเหตุไปในทันที ข้ออ้างนั่งอยู่ในรถรอเหตุการณ์ให้ปกติ เรื่องความสูงอายุ สุขภาพร่างกายและการเจ็บป่วย กลัวบุคคลอื่นเป็นอันตรายนั้น เป็นเพียงข้ออ้างเหตุผลส่วนตัว ผิดวิสัยของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น

จำเลยที่ 5 หลังจากนาย ธ ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้บาดเจ็บ ในเวลา 21.28.00 น. พบภาพจำเลยที่ 5 เดินเข้าไปในห้องเรือนกระจกที่มีจำเลยที่ 22 อยู่ก่อนแล้ว แม้จะได้อ้างว่าร้องตะโกนเร่งรัดให้คนเข้ามาช่วยนำรถยนต์เข้ารับผู้ถูกยิง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า พยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ

อ้างว่า ห้ามไม่ให้และเอามือปัดคนที่หยิบปลอกกระสุนปืนก็ยังไม่เพียงพอ ที่จะแสดงให้เห็นว่าได้จัดให้มีการปิดกั้นหรือป้องกันสถานที่เกิดเหตุเอาไว้ หรือรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ แต่เมื่อกลับออกมาจากเรือนกระจก ก็นั่งรถยนต์ออกจากที่เกิดเหตุไปพร้อมกับจำเลยที่ 22

จำเลยที่ 6 ภาพจากกล้องวงจรปิดพบ กำลังเดินออกจากงานเลี้ยง ระหว่างนั้นจำเลยที่ 6 ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ได้หันหน้าไปมองจุดเกิดเหตุอยู่เป็นระยะ เดินห่างออกมาจากโต๊ะวีไอพี 5 ถึง 6 เมตร มองจุดเกิดเหตุอยู่ตลอดเวลา

การที่ได้ยินเสียงปืนปืน 4 นัด ติดต่อกัน โดยสัญชาตญาณและวิสัยของคนปกติขณะนั้น ย่อมจะต้องมองไปยังจุดที่เป็นแหล่งต้นเสียง ปรากฏตามภาพวงจรปิดว่าแขกที่มาร่วมงานลุกขึ้นยืน มิใช่นั่งอยู่ตามที่กล่าวอ้าง มีผู้ร่วมงานจำนวนสองคนแตกตื่นวิ่งแซงขึ้นหน้าไป ย่อมเป็นข้อพิรุธว่า จำเลยที่ 6 จะไม่ทราบถึงเหตุการณ์การยิงผู้ตายและผู้บาดเจ็บ มิใช่เพียงการยิงไล่ให้กลับบ้านเพื่อความสะใจตามที่อ้าง

ไม่น่าเชื่อว่า จะไม่รู้ว่ามีการใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้บาดเจ็บ การยิงปืนขึ้นฟ้าหรือยิงลงพื้นดินก็เป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ และเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า จำเลยที่ 6 อาจจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามขั้นตอนการเผชิญเหตุที่จะนำไปสู่การจับกุมหรือที่จะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ

การประเมินค่าอันตราย กรณีที่นาย ธ มีอาวุธที่มีศักยภาพสูงกว่า ก็อาจจะขอกำลังสนับสนุนหรือแจ้งเหตุตามลำดับการบังคับบัญชา มีอำนาจและหน้าที่ต้องปฏิบัติไปตามสมควรในสถานการณ์ แต่รีบกลับออกจากที่เกิดเหตุ ไม่ได้กระทำการใด โดยอ้างการคาดเดาตามความเข้าใจของตน ที่ไม่สมเหตุผล

ส่วนจำเลยที่ 7 พบเห็นนาย ธ ยืนถืออาวุธปืนอยู่ที่บริเวณโต๊ะวีไอพี แม้จะอ้างว่า อยู่ไกลจากจุดที่มีการยิง 7 เมตร จำเลยที่ 7 แม้ไม่อาจจับกุมได้ เนื่องจากอยู่ห่างออกไป แต่ก็อาจตะโกนร้องขอให้จับกุมนาย ธ ได้ แต่ไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการระงับยับยั้งไม่ให้นายธนันชัยหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ โดยใช้เวลาออกจากที่เกิดเหตุ 3.25 นาที

ส่วนการพยายามจะช่วยเหลือ ขณะที่มีการหามผู้ตายไปขึ้นรถยนต์เก๋งและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บประคองหามไปส่งขึ้นท้ายรถยนต์กระบะ เพื่อไปส่งที่โรงพยาบาล นับว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอน เมื่อมีการเผชิญเหตุการณ์ที่ถูกต้อง

แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวดังกล่าวจบลงแล้ว จำเลยที่ 7 ควรใช้รถจักรยานยนต์สายตรวจจราจรของทางราชการให้เป็นประโยชน์แก่สถานการณ์ นำทางเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่รถยนต์ที่นำส่งผู้ตายและผู้บาดเจ็บ ส่งรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล หรืออาจจัดให้มีการปิดกั้นหรือป้องกันสถานที่เกิดเหตุเอาไว้ รวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ แต่จำเลยที่ 7 ขับรถจักรยานยนต์ออกจากที่เกิดเหตุไปในทันที มุ่งหน้ากลับบ้านพักของตน

ส่วนจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 แม้ข้อเท็จจริงขณะที่นาย ธ ยิงผู้ตายและผู้บาดเจ็บ จะไม่ได้เห็นเหตุการณ์นั้นด้วยตาของตนเอง แต่ก็เห็นขณะที่นาย ธ มีอาวุธปืนอยู่ในมือหลังจากยิงแล้ว เห็นมีผู้คว้าแย่งอาวุธปืน มีผู้เข้าช่วยเหลือผู้ตายและผู้บาดเจ็บในขณะนั้น หลังเกิดเหตุ 28 วินาที กล้องวงจรปิดพบภาพจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ลุกจากโต๊ะจีน แต่ไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ตายและผู้บาดเจ็บ

ข้ออ้างว่า เกรงจะเป็นการกีดขวางการช่วยเหลือ ไม่สมเหตุผล ข้ออ้างไม่ติดตามจับกุมเพราะเห็นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอื่นเข้าไปควบคุมตัวแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดควบคุมตัวเลย การกล่าวอ้างดังกล่าวจึงไม่อยู่บนข้อเท็จจริง

จำเลยที่ 8 รับราชการตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันมีประสบการณ์มีวุฒิภาวะพอสมควร จะต้องมีความกล้าหาญในการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ให้ประจักษ์ เป็นตัวอย่างให้แก่จำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นพนักงานตำรวจที่จบการศึกษามาใหม่เพิ่งบรรจุเข้ารับราชการ จำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 เป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาการตำรวจหรือยุทธวิธีตำรวจ อย่างน้อยในระดับพื้นฐานมาแล้ว ย่อมสังเกตมองติดตาม

จะต้องเห็นได้ว่า ไม่มีการจับกุมตัวนาย ธ แต่อย่างใด แต่หาได้กระทำการเช่นนั้นไม่ กลับพากันออกจากที่เกิดเหตุอ้างเกรงว่าจำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 จะไม่ปลอดภัย จึงขึ้นไปหลบนั่งรออยู่บนรถยนต์กระบะตราโล่หลังเกิดเหตุ 4 ถึง 6 นาที เพื่อรอดูสถานการณ์ จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตำรวจ

ต้องจัดให้มีการปิดกั้นหรือป้องกันสถานที่เกิดเหตุเอาไว้ รวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุตามสมควร มิใช่ออกจากที่เกิดเหตุไปในทันทีโดยไม่อยู่รักษาสถานที่เกิดเหตุเอาไว้

ส่วนจำเลยที่ 12 ขณะเกิดเหตุเห็นนาย ธ หยิบอาวุธปืนขึ้นมาสไลด์ลำกล้อง แล้วหันปากกระบอกปืนไปยังผู้ตาย แล้วยิงปืนรัวใส่ 4 นัด ยืนดูเหตุการณ์ห่างจากจุดที่ก่อเหตุอยู่ 3 เมตร หลังจากสิ้นเสียงปืน วิ่งกลับไปที่รถยนต์ อ้างว่าเพื่อไปหาอาวุธปืนมาระงับเหตุ ยังไม่ทันสังเกตว่า นาย ธ หลบหนีไปทิศทางใด แต่ค้นหาอาวุธปืนไม่พบ จึงทราบว่า ไม่ได้พกพาติดรถมาด้วย

ขาดความมั่นใจ ตัดสินใจขึ้นรถยนต์แล้วขับออกจากสถานที่เกิดเหตุไป มุ่งหน้า อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี กลับบ้านพักของตน เมื่อพบการกระทำผิดซึ่งหน้า แต่ไม่กระทำการอย่างใดระงับยับยั้งไม่ให้นาย ธ หลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ

ไม่แสดงให้เห็นว่า พยายามที่จะเข้าจับกุม หรือจะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ไม่จัดให้มีการปิดกั้นหรือป้องกันสถานที่เกิดเหตุเอาไว้ไม่รวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ทั้งที่สามารถกระทำได้ตามอำนาจและหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตำรวจ

ส่วนจำเลยที่ 13 แม้จะไม่เห็นขณะนาย ธ ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย แต่เมื่อได้ยินเสียงปืนดังขึ้นได้หันไปมองเห็นว่านาย ธ ยืนอยู่ข้างผู้ตาย ย่อมทราบในทันใดว่าเป็นผู้ร้ายที่กระทำผิดสด ๆ จำเลยที่ 13 พบเห็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า

เคยรับราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าจังหวัดยะลา 3 ปี ประจำอยู่ที่ จ.นราธิวาส อีก 5 ปี และกลับมารับราชการงานป้องกันและปราบปราม รวมเวลา 18 ปี แสดงให้เห็นถึงประวัติการรับราชการ การฝึกอบรมว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านยุทธวิธี และการใช้อาวุธปืนชนิดต่าง ๆ

เมื่อเกิดเหตุการณ์เผชิญเหตุ จำเลยที่ 13 ย่อมน่าจะมีวุฒิภาวะ มีตัดสินใจที่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน ตามยุทธวิธีปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจ ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดี แต่อ้างว่า หลังจากเสียงปืนทุกคนแตกตื่น ไม่ทราบว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันตัวจากอันตรายที่ตนไม่ทราบสาเหตุ จึงรีบเดินออกจากบริเวณดังกล่าว ไปขึ้นรถยนต์กระบะของตน แล้วขับขี่ออกจากที่เกิดเหตุ ไปยังที่พักอาศัยแฟลตตำรวจ ที่ สภ.สามควายเผือก ทั้งที่มีอาวุธปืนสั้นออโตเมติก ยี่ห้อซิกเซาเออร์ สีดำ ของทางราชการ อยู่ในลิ้นชักหน้ารถยนต์กระบะที่ขับขี่มา

ย่อมหรืออาจใช้อาวุธดังกล่าว กระทำการระงับยับยั้งไม่ให้นาย ธ หลบหนี ข้ออ้างเรื่องเหตุมึนเมาสุรา ไม่อาจเป็นข้ออ้างตามกฎหมาย ข้ออ้างเรื่องระเบียบเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนนอกเวลาราชการตามกฎหมาย และตามประมวลระเบียบการตำรวจ ไม่เกี่ยวกับคดี ไม่อาจจะยกมาหักล้างความชอบด้วยกฎหมาย ในการจับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้า เมื่อพบเห็นการกระทำผิดย่อมสามารถจับกุมได้ในทันใด

ส่วนวิธีการปฏิบัติการตามคู่มือดังกล่าวก็เป็นไปให้เป็นไปตามกฎหมาย และเพื่อความปลอดภัยของเจ้าพนักงานตำรวจและบุคคลบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง หาใช่ว่าหากนอกเวลาราชการ ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ไม่ได้มีอุปกรณ์ดังที่อ้างแล้ว จะเป็นข้อยกเว้นที่เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นการปฎิบัติหน้าที่แต่อย่างใด ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 13 ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนจำเลยที่ 14 ขณะเกิดเหตุยืนพูดคุยโทรศัพท์อยู่ข้างสระน้ำ ไม่ได้พบเห็นเหตุการณ์ขณะที่มีการยิงผู้ตายและผู้บาดเจ็บ ขณะเกิดเหตุพบภาพของจำเลยที่ 14 เดินเข้าไปลักษณะแอบหลบ แต่ต่อมาภายหลัง 19 วินาที ก็เดินไปยังบริเวณโต๊ะจีนจุดที่เกิดเหตุอยู่ 2 นาที รับโทรศัพท์จาก จ.ส.ต.ทศพลให้เก็บสิ่งของของผู้ตาย ที่อยู่บนโต๊ะจุดเกิดเหตุ นำไปส่งที่โรงพยาบาล

จึงเก็บสิ่งของและขับรถติดตามไปในทันที เวลา 21.49.22 น. พบภาพรถยนต์เก๋งของจำเลยที่ 14 ขับเลี้ยวเข้ามาในโรงพยาบาล กล้องวงจรปิดโถงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลพบเข้ามาภายในห้องโถง

เมื่อพิเคราะห์เส้นทางสถานที่เกิดเหตุทางตรงที่สุด ไปยังโรงพยาบาลนครปฐม ตามแอปพลิเคชัน Google Maps อยู่ห่างกันประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาการเดินทางประมาณ 10 นาที พิเคราะห์ประกอบกับประวัติการสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์ข้างต้น แสดงให้เห็นว่าพยายามติดตามสถานการณ์จากบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ขับรถนำสิ่งของผู้ตายมาที่โรงพยาบาลในเวลาที่กระชั้นชิด และไปยืนเฝ้าบริเวณหน้าประตูห้องฉุกเฉิน เพื่อป้องกันเหตุซ้ำซ้อนในระหว่างการรักษาผู้ตายและผู้บาดเจ็บด้วย กรณีนี้จึงถือเป็นเหตุผลอันสมควร แม้มิได้อยู่ในที่เกิดเหตุก็ถือว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสภาวการณ์

พฤติการณ์เช่นนี้ยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่าไม่อยู่ปิดกั้นหรือป้องกันสถานที่เกิดเหตุเอาไว้ หรือรักษาสถานที่เกิดเหตุเอาไว้เพื่อรอส่งมอบพื้นที่ให้แก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบพื้นที่ อันจะเป็นละเว้นในการที่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตามที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใด ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 14 ฟังขึ้น

จำเลยที่ 15 เห็นนาย ธ เดินไปที่โต๊ะวีไอพี ยิงผู้ตายคือและผู้บาดเจ็บ หลังเกิดเหตุเสียงปืนนัดแรก 2.17 นาที พบภาพจำเลยที่ 15 เดินมาจากฝั่งเวทีมุ่งหน้าไปทางห้องน้ำ เดินเข้าห้องน้ำและออกจากห้องน้ำ เดินมุ่งหน้าไปทางด้านหน้าเวที ยืนพูดคุยกับเพื่อนตำรวจ หลังเกิดเหตุเสียงปืนนัดแรก 10.26 นาที พบภาพรถยนต์เก๋งของจำเลยที่ 15 ขับผ่านกล้องวงจรปิดจุดที่พักสายตรวจตาก้อง ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยที่ 15 ระหว่างช่วงเวลา

จากนั้นพบการใช้เสาสัญญาณใน อ.กำแพงแสน ลักษณะเดินทางกลับออกจากที่เกิดเหตุแล้ว เมื่อพบเห็นเหตุการณ์สด ๆ และเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า แต่ไม่กระทำการระงับยับยั้ง ไม่พยายามที่ทำการจับกุม การช่วยโบกรถยังไม่เพียงพอ ทั้งยังขับรถยนต์ออกจากที่เกิดเหตุไปในทันที

จำเลยที่ 16 ขณะเกิดเหตุยืนพูดคุยโทรศัพท์อยู่ข้างสระน้ำได้ยินเสียงอาวุธปืนดังขึ้น 4 นัด หันไปดูมีแสงไฟจากลำกล้องปืน พบเห็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าแล้วแต่ไม่ได้กระทำการเพื่อจับกุมหรือยับยั้งไม่ให้ นาย ธ หลบหนี แต่ลุกขึ้นเดินมุ่งหน้าไปทางในลักษณะรีบเร่งมุ่งไปทางลานจอดรถ

แม้จะเข้าช่วยเหลือด้วยการเปิดประตูรถยนต์ ฝั่งที่มีคนอุ้มผู้ตายเพื่อนำส่งโรงพยาบาล แล้วเดินกลับไปยังจุดที่ผู้บาดเจ็บล้มลง ตรวจดูบริเวณแขนขวาของผู้บาดเจ็บ เดินออกและขับรถออกไปจากที่เกิดเหตุ

แม้มีการรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยโทรศัพท์ ไปหาเจ้าพนักงานตำรวจและบุคคลอื่น ๆ ประมาณ 20 ครั้ง/คน และต่อมาได้เดินทางกลับมายังที่เกิดเหตุอีกครั้ง แต่ที่เกิดเหตุถูกเก็บกวาดปลอกกระสุนปืน เก็บโต๊ะอาหาร เก็บผ้าปูโต๊ะที่เปื้อนคราบเลือด จึงเป็นการไม่ได้จัดให้มีการปิดกั้นหรือป้องกันสถานที่เกิดเหตุ รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อรอส่งมอบพื้นที่ให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้รับผิดชอบพื้นที่

ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ที่ 15 และที่ 16 จึงเป็นความผิดเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 หรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 14 พยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่ามีความผิดฐานดังกล่าว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำเกี่ยวข้องกับอาวุธปืนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 17 และที่ 23 โดยมีการนำอาวุธปืนออกไปเสียจากที่เกิดเหตุแล้วนำไปฝัง เป็นความผิดตามของฟ้องโจทก์ หรือไม่

เห็นว่า จำเลยที่ 1 เมื่อได้รับห่ออาวุธปืนจากจำเลยที่ 2 แล้ว แต่ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 17 ที่เป็นประชาชน ที่ไม่ใช่เจ้าพนักงานตำรวจ ทั้งที่ขณะนั้นมีเจ้าพนักงานตำรวจอื่นอยู่ในที่เกิดเหตุเป็นจำนวนมาก ที่สามารถจะเก็บรักษาไว้ เพื่อดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายแล้วก็ไม่ได้ใส่ใจติดตาม ที่จะทวงถามเกี่ยวกับอาวุธปืนจากจำเลยที่ 17 ขณะนั้นไม่ปรากฏว่า ได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญเพียงพอ

อาวุธปืนเป็นวัตถุพยานและพยานหลักฐานอันสำคัญ ที่จะพิสูจน์ความผิดของผู้กระทำผิด มิใช่จะอาศัยแต่พยานบุคคลจำนวนมากที่ร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุการณ์ก็เพียงพอตามที่อ้าง จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มายาวนานกว่า 31 ปี ย่อมรู้ว่า อาวุธปืนจะต้องนำส่งแก่พนักงานสอบสวนเพื่อนำส่งตรวจพิสูจน์ภายหน้า มิใช่มอบให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่ใช่บุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง

โดยภายหลังก็ไม่ใส่ใจติดตามเอาคืน ผิดวิสัยของนายตำรวจในตำแหน่งสารวัตรสืบสวน ซึ่งเป็นผู้ได้รับการศึกษาอบรมเกี่ยวกับอาวุธปืนของกลาง จนมีการนำอาวุธปืนดังกล่าวไปฝังดินซุกซ่อน

ส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 17 และที่ 23 นั้นเห็นว่า หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 17 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 23 ได้ยินจำเลยที่ 2 บอกว่า “เอาออกจากแพล้นไปก่อน” จำเลยที่ 17 ถามว่า “ให้เอาปืนไปไว้ไหนจะเอาไปฝังหรือไปโยนทิ้งน้ำ” จำเลยที่ 23 ตอบว่า “ให้เอาไปฝังหรือเอาไปไว้ที่บ้านเองก่อนก็ได้ ถ้าจะเอาไปฝัง ให้จำไว้ด้วยว่าฝังไว้ตรงไหน”

ต่อมาโทรศัพท์ไปหาอีกครั้ง จำเลยที่ 23 ส่งโทรศัพท์ให้จำเลยที่ 2 พูดผ่านโทรศัพท์ว่า “ให้เก็บไว้ที่เองก่อน รอให้เรื่องเงียบ เดี๋ยวจะมีคนมาเอา” ต่อมาดูข่าวในโทรทัศน์ทราบเรื่องที่นาย ธ ก่อเหตุยิงผู้ตายและผู้บาดเจ็บและถูกวิสามัญฆาตกรรม เชื่อว่าอาวุธปืนที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 เป็นกระบอกเดียวกับที่ใช้ก่อเหตุ

หากไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิดย่อมแจ้งเรื่องราวเกี่ยวกับอาวุธปืนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่นำห่ออาวุธปืนลงในหลุมและฝังกลบ จำเลยที่ 17 พาเจ้าพนักงานตำรวจพาไปทำการตรวจยึดอาวุธปืนและเครื่องกระสุน

สอดคล้องกับคำรับสารภาพ จำเลยที่ 17 รู้เห็นและทราบเหตุการณ์ว่ามีการยิงผู้ตาย ทราบตั้งแต่รับฝากแล้วว่าในห่อผ้ามีอาวุธปืนกระบอกที่ใช้ยิงผู้ตาย โดยสภาพอาวุธปืนเป็นสิ่งที่ไม่อาจรับฝากหรือมีไว้ในครอบครอง มิฉะนั้นอาจมีความผิดตามกฎหมาย แต่ไม่นำส่งอาวุธปืนแก่เจ้าพนักงานตำรวจในโอกาสแรก แต่กลับนำไปขุดกลบฝังตามที่ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 2

โดยที่อาวุธปืนเป็นวัตถุพยานอันสำคัญ พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ทั้งมีข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์ของจำเลยที่ 17 ได้โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 23 พยานหลักฐานมีความสอดคล้องกัน ทั้งจำเลยที่ 17 และที่ 23 ต่างเป็นลูกจ้างหรือคนงานของจำเลยที่ 22 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองซึ่งกันและกัน

ขณะที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ให้การบิดเบือนผิดไปจากความจริง คำให้การชั้นสอบสวนมีความน่าเชื่อถือมากกว่าคำให้การในชั้นศาล เชื่อว่าจำเลยที่ 17 ให้การไปตามความสัตย์จริง พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ 17 และที่ 23 เป็นความผิดตามฟ้องฐานนี้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 18 และที่ 22 กระทำการเกี่ยวข้องกับการถอดเครื่องบันทึกข้อมูลภาพกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุแล้วให้นำไปทิ้งเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์ หรือไม่

เห็นว่า จำเลยที่ 18 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยมีเนื้อหาตรงกันทั้งสองครั้งว่า หลังจากจำเลยที่ 22 เดินออกจากห้องเรือนกระจก พบจำเลยที่ 2 และที่ 5 หนึ่งในสองคนนี้พูดขึ้นว่า “กล้อง” ซึ่งหมายถึงกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ หนึ่งในสองคนนั้นมีคนพูดเสริมขึ้นว่า “เออ ๆ มีกล้องวงจรปิด”

จำเลยที่ 18 ถามจำเลยที่ 22 ว่า “กล้องอยู่ที่ไหน” จำเลยที่ 22 พูดว่า “อยู่ในร้านกาแฟ” พร้อมกับชี้มือไปทางห้องซึ่งเป็นร้านกาแฟอยู่ในบริเวณดังกล่าว จำเลยที่ 18 วิ่งไปที่ห้องดังกล่าว ทำการถอดตัวเครื่องบันทึกข้อมูลภาพกล้องวงจรปิดออกแล้วเดินออกมา

จำเลยที่ 18 ยืนยันว่าเหตุที่ต้องถอดเครื่องบันทึกข้อมูลภาพกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ เนื่องจากจำเลยที่ 22 เป็นผู้มีบุญคุณกับตนมาก่อน จำเลยที่ 18 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปที่สถานที่ตรวจยึดจุดที่ 1 ในลำคลองบริเวณโค้งสะพานวัดตาก้อง นำชี้และยืนยันจุดทิ้งด้วยความสมัครใจ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ประดาน้ำตรงตามที่ให้การ

คำให้การที่ยืนยันใกล้ชิด ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าคำให้การในชั้นพิจารณาอ้างจำเลยที่ 22 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีลักษณะที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 22 พยานเป็นผู้ร่วมกระทำผิดและต่างถูกดำเนินคดี มิใช่พยานซัดทอดให้ตนเองพ้นผิด

หากจำเลยที่ 22 ไม่เป็นผู้บอกและชี้มือในขณะนั้น ไปทางห้องจุดติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลภาพกล้องวงจรปิดตามที่จำเลยที่ 5 เป็นผู้ถาม อันเป็นการยืนยัน ย่อมทำจำเลยที่ 18 ซึ่งตามสภาพวัยและวุฒิภาวะอาจเกิดความลังเลตัดสินใจว่าจะกระทำหรือไม่ ไม่อาจตัดสินใจ โดยฉับพลันเช่นนี้ ทั้งไม่กล้ากระทำการโดยลำพัง หากไม่ได้รับความเห็นชอบหรือยินยอมจากจำเลยที่ 22

จำเลยที่ 18 เป็นเจ้าหน้าที่เรือนจำกลาง จำเลยที่ 22 มีตำแหน่งหน้าที่ทางการปกครองท้องที่เป็นกำนัน ต่างทราบว่าเครื่องบันทึกข้อมูลภาพกล้องวงจรปิดเป็นวัตถุพยานหลักฐานอันสำคัญ ที่จะแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ขณะกระทำผิดได้เป็นอย่างดี และสามารถพิสูจน์ความผิดของนาย ธ และบุคคลบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้

ทั้งยังทราบว่า จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา มีหน้าที่รักษาสถานที่เกิดเหตุและพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 22 ทราบแห่งมูลคดีมาตั้งแต่แรก ถือเป็นราษฎรที่ให้การช่วยเหลือเจ้าพนักงานให้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นความผิดตามฟ้อง

แต่ตามทางไต่สวนจำเลยที่ 2 ที่ยืนอยู่ตรงนั้นไม่ได้พูดอะไร ไม่ได้ห้ามหรือเห็นแย้ง เพียงแต่มองเหตุการณ์ แม้จะมีภาพจำเลยที่ 2 เดินเข้าไปในห้องกระจก ไม่มีพยานหลักฐานใดนอกจากนี้ที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องให้ถอดเครื่องบันทึกข้อมูลภาพกล้องวงจรปิดจากสถานที่เกิดเหตุแต่อย่างใด พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอให้รับฟังจำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานนี้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำเกี่ยวข้องกับเกี่ยวกับการเก็บกวาดปลอกกระสุน การล้างคราบเลือด การเก็บโต๊ะวีไอพี จำเลยที่ 1 และที่ 19 ถึงที่ 21 กระทำผิดตามฟ้องโจทก์ หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 19 เป็นผู้ร่วมกระทำผิด คำให้การดังกล่าวมิใช่การซัดทอด รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ จำเลยที่ 19 รู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อน รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง ไม่มีสาเหตุที่จะให้การปรักปรำให้เป็นผลร้ายเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีสถานภาพทางสังคมที่สูงกว่า

ข้ออ้างว่า เจ้าพนักงานตำรวจทุกคน ไม่สามารถสั่งการให้ทำอะไรให้ได้ เพราะทุกคนฟังคำสั่งของจำเลยที่ 22 เท่านั้น เห็นว่า ในส่วนนี้คงเป็นเฉพาะในเรื่องหน้าที่การงานในทางการที่จ้างเฉพาะโดยตรง

แต่ในกรณีการสั่งให้เคลียร์พื้นที่ เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าอย่างฉับพลัน การทำให้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่เกี่ยวข้องทางคดีแก่จำเลยที่ 22 ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้และยอมทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ลูกจ้างหรือคนงานเกิดความยำเกรงพร้อมที่จะเชื่อถือและปฏิบัติตามคำสั่งโดยทันที

ทางไต่สวนไม่ปรากฏว่า เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ได้ทำร้ายร่างกาย ขู่บังคับ ให้สัญญา หลอกลวง หรือกระทำการใดอันมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้จำเลยที่ 19 ถึงที่ 21 เพื่อให้การอย่างใด

การสอบสวนทุกครั้ง จำเลยที่ 19 ถึงที่ 21 ก็มีบุคคลที่ไว้วางใจร่วมอยู่ในการสอบสวน โดยให้การไปตามรายละเอียดข้อเท็จจริง ในส่วนเฉพาะของตน มีข้อความที่สอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่ และไม่ตรงกันในบางส่วนที่เป็นรายละเอียดเล็กน้อย เชื่อว่าจำเลยที่ 19 ถึงที่ 21 ให้การตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

คำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าว น่าเชื่อถือกว่า คำให้การและทางนำสืบในชั้นศาล ซึ่งเป็นการเสริมแต่งข้อเท็จจริง เพิ่มเติมในภายหลัง ปลอกกระสุนปืนทองเหลืองจำนวน 4 ปลอก ที่ตกหล่นอยู่บนพื้นลานบริเวณที่เกิดเหตุ บุคคลธรรมดาทั่วไป โดยวิสัยวิญญูชน ย่อมทราบว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ใช้อาวุธปืนยิงจนมีผู้ตาย และได้รับบาดเจ็บ

ปลอกกระสุนปืนดังกล่าว ย่อมเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญ ในคดีอยู่แล้ว หาจำต้องใช้ความรู้พิเศษอื่น เมื่อพิเคราะห์ถึงอายุ อาชีพ ประสบการณ์ การตัดสินใจ ของจำเลยที่ 19 ถึงที่ 21 ประกอบสภาวะที่เกิดเหตุในขณะนั้น เป็นการยากที่จำเลยดังกล่าว จะตัดสินใจจัดการกับวัตถุพยานต่าง ๆ ข้างต้นเอง โดยไม่ได้รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจการตัดสินใจที่เหนือกว่า

การที่จำเลยที่ 19 ถึงที่ 21 ช่วยกัน เก็บปลอกกระสุนปืนไปทิ้ง ล้างคราบเลือดในที่เกิดเหตุ และเก็บโต๊ะจีนที่เกิดเหตุ อันเป็นการทำให้เสียหายทำลายซ่อนเร้น หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำผิด จำเลยดังกล่าวย่อมรู้ว่า เป็นพยานหลักฐานในการกระทำผิด ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เพื่อจะช่วยนาย ธ ผู้กระทำผิดผู้อื่น เป็นการทำลายพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามฟ้อง

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 23 กระทำอันเป็นการช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้ที่พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้นหรือช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ตามฟ้องหรือไม่

แต่ข้อเท็จจริงทางไต่สวน ยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 22 มีการกระทำหรือพฤติการณ์ใด ที่บ่งชี้ว่าเป็นผู้ใช้ หรือผู้สั่ง หรือมีส่วนในการที่นาย ธ ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้บาดเจ็บ

แม้จำเลยที่ 2 จะได้เข้าไปในห้องกระจกร่วมกัน แต่ไม่พยานหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการพากันหลบหนีไปที่แห่งอื่นหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์ตามทางไต่สวนยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 22 มีส่วนเป็นผู้สั่งหรือผู้ใช้ให้นายธนัญชัย กระทำผิด

การร่วมนั่งรถยนต์ไปยังบ้านพักอีกแห่งหนึ่ง จึงยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่ากระทำความผิดฐานนี้ จำเลยที่ 3 รู้เห็นเหตุการณ์ตลอด หากประมวลกริยาท่าทางอาการโกรธ พูดจาเสียงดัง ย่อมต้องรับทราบโดยวิสัยและอาชีพว่ามีสาเหตุความโกรธเคืองระหว่างจำเลยที่ 22 กับผู้ตาย ทั้งจำเลยที่ 22 ได้พยักหน้าให้แก่นาย ธ ในถ้อยคำซึ่งย่อมต้องรู้หรือควรจะรู้ว่าใช้คำพูดดังกล่าวเพื่อต้องการสื่อความหมายให้ทราบเพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

คำพูดดังกล่าวจึงน่าจะเป็นการที่จำเลยที่ 3 ควรจะรู้หรือเข้าใจได้ว่าอาจจะเป็นต้นเหตุหรืออาจจะเป็นใช้ในการที่นาย ธ ใช้อาวุธปืนยิง แต่จำเลยที่ 3 มิได้ทำการสืบสวนเบื้องต้นตามหน้าที่ แต่ขับขี่รถจักรยานยนต์ตำรวจสายตรวจติดตามรถของจำเลยที่ 22 ตามไปส่งถึงบ้านพักอีกแห่ง จึงเป็นความผิดฐานดังกล่าว

จำเลยที่ 5 แม้จะหันหลังให้กับโต๊ะวีไอพี เพียง 2 ถึง 3 เมตร ระหว่างที่มีการท้าทายดื่มสุราส่งเสียงเชียร์ย่อมได้ยินเสียงและทราบมูลเหตุ คำพูดว่า “เอามันเลยไหม” เป็นคำพูดที่นาย ธ ถามเพื่อต้องการยืนยันว่าให้ใช้อาวุธปืนยิง

เมื่อจำเลยที่ 5 ทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 22 น่าจะเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดในความผิดต่อชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดลหุโทษ และนั่งรถยนต์ไปพร้อมกันไปบ้านพักอีกแห่ง จึงเป็นความผิดฐานนี้

และส่วนจำเลยที่ 23 พยานหลักฐานของโจทก์ ตามทางไต่สวน ไม่ปรากฏว่าได้รู้เห็นในขณะที่จำเลยที่ 22 เข้าไปเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดของนาย ธ หรือไม่ เพียงใด มีแต่แต่เพียงภาพของจำเลยที่ 23 ที่เข้าไปในห้องกระจก และไปที่รถยนต์ขับไปรับจำเลยที่ 22 กลับไปบ้านแล้วขับรถจักรยานยนต์กลับบ้านของตน

จำเลยที่ 23 เป็นเพียงพนักงานขับรถ การขับรถยนต์พาไปส่งที่บ้านอีกแห่งหนึ่ง อาจเป็นเพียงการทำตามหน้าที่พลขับของตนตามปกติ ระยะเวลาใกล้ชิดการเกิดเหตุเท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอให้รับได้ว่าจำเลยที่ 23 มีความผิดฐานดังกล่าวนี้

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, มาตรา 184 ประกอบมาตรา 84, และมาตรา 200 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, มาตรา 189 ประกอบมาตรา 83, และมาตรา 200 จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, มาตรา 184 ประกอบมาตรา 84, มาตรา 189 ประกอบมาตรา 83,

และมาตรา 200 จำเลยที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 16 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ที่ 15 และที่ 16 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

จำเลยที่ 17 ถึงที่ 21 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86, มาตรา 184 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 22 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

จำเลยที่ 23 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86, มาตรา 184 ประกอบมาตรา 84 และจำเลยที่ 17 ถึงที่ 23 มีความผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ดังกล่าวจะเป็นการกระทำหลายอย่าง แต่ก็ด้วยเจตนาอันเดียว คือเพื่อช่วยเหลือมิให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษ และเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 จึงเป็นกรรมเดียว ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 13 ที่ 15 และที่ 16 ถึงที่ 23 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งมีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 และที่ 15 และที่ 16 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 172

และลงโทษจำเลยที่ 17 ถึงที่ 23 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

เมื่อพิเคราะห์ตามพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยแต่ละคนแล้ว เห็นสมควรกำหนดโทษรายบุคคลให้เหมาะสมแห่งการกระทำ คือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 23 จำคุกคนละ 2 ปี และเฉพาะจำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 23 ให้ปรับคนละ 60,000 บาท ด้วย

เพิ่มโทษจำเลยที่ 21 หนึ่งในสามตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 2 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 ที่ 15 และที่ 16 เข้าช่วยเหลือผู้ตาย และ/หรือผู้บาดเจ็บ ตามแต่กรณี และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 ปฏิบัติราชการมีผลงานและคุณความดีมาก่อน ทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา

ส่วนจำเลยที่ 17 ถึงที่ 21 และที่ 23 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน จึงมีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 จำเลยที่ 15 ถึงที่ 21 และที่ 23 คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78

ส่วนจำเลยที่ 22 ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีตลอดมาจึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 คนละ 2 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 13 ที่ 15 ถึงที่ 20 และที่ 23 คนละ 1 ปี 4 เดือน และเฉพาะส่วนจำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 23 คงให้ปรับคนละ 40,000 บาท ด้วย จำเลยที่ 21 คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน 10 วัน

ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 23 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อศาลคำนึงถึงอายุขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 9 อายุ 27 ปี จำเลยที่ 10 เพียงอายุ 21 ปี จำเลยที่ 11 อายุเพียง 23 ปี

จำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ประวัติเพิ่งเข้ารับราชการตำรวจ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565 ตำแหน่งพลสำรอง สังกัดศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 7 จังหวัดนครปฐม การเรียนฝึกอบรมศึกษาในช่วงสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ ไม่เต็มตามระบบ

หลังจากจบการอบรม ได้รับบรรจุแต่งตั้งมียศเป็นสิบตำรวจตรี ตำแหน่งผู้บังคับหมู่กองร้อยควบคุมฝูงชน กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2566 ก่อนเกิดเหตุประมาณสองเดือน ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าพนักงานตำรวจจราจร ไม่เคยทำงานด้านงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเลย

ส่วนจำเลยที่ 19 และที่ 20 เป็นเพียงคนงานหรือลูกจ้างทำความสะอาด และส่วนจำเลยที่ 23 เป็นเพียงคนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 22 กระทำผิดเป็นครั้งแรก เมื่อคำนึงถึงการศึกษาอบรม อาชีพ สิ่งแวดล้อมและสภาพการกระทำความผิดภายใต้สภาวการณ์

ทั้งไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษ ให้จำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 23 ไว้ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 23 ไว้ภายในกำหนด 2 ปี

ให้จำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 23 ทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร และจำเลยยินยอมเป็นเวลา 30 ชั่วโมง ภายในระยะเวลาคุมประพฤติดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 23 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และมาตรา 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 14 และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง