ความคืบหน้า กรณีการสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับฝ่ายทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) ที่บ้านปางกาน จ.เมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มีการสู้รบกันอย่างหนัก ตลอดระยะเวลา 3-4 วันที่ผ่านมา จนต่อมา ทหารกะเหรี่ยง KNU และ PDF สามารถบุกเข้ายึด กองบัญชาการยุทธวิธี และค่ายทหารเมียนมา 7 แห่ง ที่เมืองเมียวดีได้แล้ว

อ่านข่าว : “ทหารกะเหรี่ยง” ยึด "เมียวดี" แล้ว หลังรบยืดเยื้อ 4 วัน 7 ค่ายทหารเมียนมาแตก
ล่าสุด วันนี้ (8 เม.ย.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางข่าวลือต่าง ๆ ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จากสถานการณ์ชายแดนเมียวดี ยังไม่มีความชัดเจน และจาการตรวจสอบข้อมูล พบว่า รัฐบาลทหารเมียนมา จะไม่ส่งเครื่องบินมาลงจอดที่สนามบินแม่สอด เหมือนเมื่อวานนี้ (7 เม.ย.2567) ส่วนหนึ่งระบุว่า ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจาก KNU

ข้อมูลจาก KNU ระบุว่า พ.อ.ตุน ตุน หล่า ผู้บัญชาการปฏิบัติการของ SAC พร้อมด้วยทหาร 477 นาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูง ตำรวจหญิง 59 นาย และสมาชิกครอบครัวทหาร 81 คน ยอมมอบตัว ภายหลังการยึดฐาน ขณะนี้ทั้งหมดอยู่ในความควบคุมของ KNU โดยระบุว่า ได้จัดหาความต้องการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและการคุ้มครองตามอนุสัญญาเจนีวาและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
อ่านข่าว : "เมียนมา" ส่งเครื่องบินลงแม่สอดรับตัว "ทหารลี้ภัย" 7-9 เม.ย.
แม้มีการปะทะไม่ไกลจากด่านเมียวดี แต่ขณะนี้ สะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 1 และ 2 ยังเปิดให้ข้ามแดนตามปกติ

ขณะที่ สถานการณ์ในพื้นที่ จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญ ในขณะนี้ทหารเมียนมาอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากไม่สามารถนำกำลังพลกลับเนปิดอว์ได้เพราะพื้นที่โดยรอบถูกบล็อก และควบคุม ดังนั้นสนามบินแม่สอด เป็นทางออกที่จะนำกำลังพลกลับ
อีกตัวละครที่สำคัญ คือ พ.อ.หม่อง ชิ ตู่ ผู้ควบคุม KNA หรือ BGF เดิม ที่วางกำลังพื้นที่แนวชายแดนไทย - เมียนมา โดย KNA ขอแยกตัวออกมาจากกองทัพเมียนมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นมิตร 100% กับ KNU เพราะทหารที่พ่ายแพ้ ยอมมอบตัวครั้งนี้ ก็ยังคงกังวลว่า ถูกส่งกลับไปจะได้รับอันตราย หรือทำโทษ เหมือนที่กองทัพเคยทำช่วงปฏิบัติการ 1027 หรือไม่

อ่านข่าว : กต.แจง "เมียนมา" ขอยกเลิก "เที่ยวบินพิเศษ" 8-9 เม.ย.นี้
ด้าน รศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินว่า ที่ในสถานการณ์ที่กองทัพตกเป็นรอง ก็ยังเชื่อว่า จะมีการโต้กลับและยึดพื้นที่คืนแน่นอน เพราะเมียวดี ถือเป็นหัวหาดสำคัญเชิงเศรษฐกิจและรายได้ของรัฐบาลทหาร

แต่การเอาคืนแบบทันทีทันหมดคงยังไม่เกิดขึ้น เพราะต้องใช้ 3 องค์ประกอบควบคู่กันไป คือ การโจมตีทางอากาศ รวมไปถึงกำลังพล ที่อยู่ในช่วงการเกณฑ์ทหาร และการฝึกกำลังพลใหม่
เบื้องต้น มีเมืองใหญ่ทางทหาร ที่ยังไม่ถูกตีกลับจากกองกำลังชาติพันธุ์ เช่น ด้านเหนือ ขณะนี้แม้กองทัพคะฉิ่นอิสระ จะสามารถคุมพื้นที่จากคะฉิ่นไปมัณฑะเลย์ได้ แต่เมืองหลวงมิจจีน่า ที่มีกองบัญชาการกองทัพภาคเหนือ มีปริมาณกองพันทหารราบ 30 กว่ากองพันยังคงอยู่

กรณีทางแม่สอด เมียวดี ขณะนี้จะยึดได้เกือบเบ็ดเสร็จแล้ว แต่ถ้าขยายพื้นที่มะละแหม่ง ซึ่งเป็นกองบัญชาการกองทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะมีความเสี่ยง แต่ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้นต้องติดตามดูว่า กองทัพรัฐบาลทหารจะอุดรอยรั่วนี้อย่างไร
อ่านข่าวอื่น ๆ
นายกฯเผย "เมียนมา" นำเครื่องลงจอดสนามบินแม่สอด อนุญาตถูกต้อง -ไม่ได้ขนอาวุธ
“ปตท.สผ.” ถือหุ้นใหญ่ “ยาดานา” หลัง Unocal ถอนตัว