ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส่งความสุขให้ "ผู้สูงวัย" อิ่มใจ 13 เมษายน "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ"

ไลฟ์สไตล์
12 เม.ย. 67
09:00
3,465
Logo Thai PBS
ส่งความสุขให้ "ผู้สูงวัย" อิ่มใจ  13 เมษายน "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" 13 เมษายน ตรงกับ วันสงกรานต์ หรือ วันขึ้นปีใหม่ไทย วันสำคัญในช่วงสงกรานต์ของทุกปี โดย "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" เกิดขึ้นเพื่อให้ทุกคนให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ เห็นถึงคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญกับ "ผู้สูงอายุ" ให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ตามศักยภาพอย่างมีคุณค่า

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

"วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" มีที่มาอย่างไร

ในอดีตสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายดูแล ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้ จึงจัดตั้ง "สถานสงเคราะห์คนชราขึ้น" ให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ที่เดือดร้อน ประสบปัญหา ให้ได้มีที่พักพิง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลผู้สูงอายุ โดยกรมประชาสงเคราะห์เป็นหน่วยงานที่ดูแล และได้จัดตั้ง "สถานสงเคราะห์คนชราบางแค" เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2496

ต่อมาปี 2525 องค์การสหประชาชาติ จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ที่ออสเตรเลีย และได้ให้ความหมายของคำว่า "ผู้สูงอายุ" ไว้ว่าคือ บุคคลเพศชาย หรือ เพศหญิง ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และพิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม, ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา

ในปีเดียวกัน องค์การอนามัยโลก ยังได้กำหนด คำขวัญส่งเสริมผู้สูงอายุไว้ว่า "Add Life to Years" เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพ ผู้สูงอายุ และคณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลก ของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้ คำขวัญเป็นภาษาไทย ว่า "ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน"

14 ธันวาคม 2525 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน เป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ"

ดอกไม้สัญลักษณ์ "วันผู้สูงอายุ"

ครั้งนั้นรัฐบาลสมัย พล.อ.เปรม ยังได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นดอกไม้ประจำวันผู้สูงอายุแห่งชาติด้วย สำหรับสาเหตุที่เลือกดอกลำดวน เนื่องจาก เป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มาก ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดี และดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เปรียบเสมือน "ผู้ทรงวัยวุฒิ" ที่คงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานตลอดไป

ไม่เพียงเท่านั้น ทางด้านพฤกษศาสตร์ ต้นไม้นี้ยังใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้อีกด้วย ประการสำคัญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงดำริให้จัดสวนนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ

ต้นลำดวนเป็นไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคอินโดจีน ลำต้นตรง เรือนยอดรูปกรวยต่ำทึบ เปลือกแตกเป็นสะเก็ด ใบมน รี ใบดอกออกเดี่ยวๆ มีสีเขียวเข้ม หลังใบมีสีนวล ดอกสีนวล มีกลิ่นหอมเย็นเริ่มส่งกลิ่นหอมตั้งแต่เย็น จนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น ดอกออกตลอดปี

รดน้ำดำหัว สิ่งดี ๆ ที่สานต่อกันมา 

เริ่มต้นวันสงกรานต์ 13 เม.ย. ตอนเช้ามักเริ่มต้นด้วยการทำบุญตักบาตรตามวิถีชาวพุทธ กิจกรรมที่ทำให้ลูกหลานมารวมตัวกัน คือ "การรดน้ำดำหัว" เป็นสิ่งที่ปฎิบัติสืบทอดกันมา เพื่อความเป็นสิริมงคล ยังเป็นการแสดงความเคารพต่อบิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่ ขอโทษต่อสิ่งที่เคยล่วงเกิน แสดงถึงความความเคารพ

การรดน้ำดำหัวในปัจจุบัน มีสิ่งของที่จะนำไปทำการขอขมาลาโทษ และขอพรจากผู้สูงอายุ ประกอบด้วย น้ำอบน้ำหอม น้ำส้มปล่อย เทียน ดอกไม้ หรือบางคนอาจมี ของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปมอบให้ด้วย ผู้ไปดำหัวจะกล่าวคำขอขมาลาโทษ ขอให้อโหสิกรรมให้ และอวยพรให้ท่านประสบแต่ความสุข สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

จากนั้นจะเอาขันเล็ก ๆ ตักน้ำหอม น้ำปรุงที่นำมารดลงบนฝ่ามือผู้ใหญ่ ก่อนที่ญาติผู้ใหญ่นำน้ำหอม น้ำส้มป่อย ขึ้นลูบศรีษะเป็นการยอมรับการขอขมาและอโหสิกรรม แล้วกล่าวให้ศีลให้พร จากนั้นบางครอบครัวจะมีการกินเลี้ยงสังสรรค์ พูดคุยกันหลังจากไม่ได้พบปะบ่อย ทำให้เกิดความรักสามัคคีระหว่างกันมากขึ้น

ปีงูใหญ่ ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ

ในวัยสูงอายุ นั้นหมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งทางอารมณ์ ที่อาจอ่อนไหวง่าย นั้นอาจขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย, การเปลี่ยนแปลงทางด้านสมอง เช่น ความจำไม่ดี หลงลืมง่าย และที่สำคัญคือ ร่างกาย ที่เริ่มอ่อนแอลง การเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ช้าลง เจ็บป่วยได้ง่าย

ในปีงูใหญ่ 2567 เป็นปีที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบผู้สูงอายุ โดยปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,057,967 คน หรือกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูล : กรมการปกครอง)

ในจำนวนผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคนนี้ กลุ่มที่มากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 60-69 ปี หากสำรวจข้อมูลที่ลึกลงไปอีก ยังพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นด้วย

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ "เคล็ดลับ การมีอายุยืน" จากการสอบถาม ผู้สูงอายุ 100 ปี ขึ้นไป ที่ได้รับคัดเลือกเป็นสุดยอดผู้สูงอายุสุขภาพดีจำนวน 60 คน โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ ว่า

ส่วนใหญ่เป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม ไม่เครียด ใจเย็น อารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี ชอบพูดคุย อยู่ร่วมกับครอบครัว บางคนชอบร้องเพลง ทำสมาธิ นอนแต่หัวค่ำ และตื่นแต่เช้ามืด

เห็นได้พฤติกรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หลายคนอายุยืน แต่ก็ยังคงมีปัจจัยอื่น ๆ อีก มีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกัน

สูงวัย อายุยืน

การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้สมดุลกัน เป็นสิ่งสำคัญช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยป้องกันโรค หรืออาการเจ็บป่วย ได้โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ มีข้อแนะนำ ดังนี้

  • อาหาร กินให้ครบ 5 หมู่ เน้นย่อยง่ายและสะอาด หลีกเลี่ยง อาหารที่มีไขมันสูง เค็มจัด หวานจัด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กินพืชผักให้หลากหลาย ทั้งผักสีเขียว สีเหลืองสลับกันไป ไม่ควรบริโภคผักดิบเพราะย่อยยาก
  • ออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับครทุกเพศทุกวัย และหากเป็นการออกกำลังกายอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับกลุ่มวัย ย่อมเกิดประโยชน์แน่นอน สำหรับผู้สูงอายุ มีอยู่หลากหลายวิธี เช่น รำไม้พลอง ยืดเส้น ยืดสาย ยืดเหยียด ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เดิน วิ่งช้า ๆ ฝึกโยคะ ขี่จักรยาน ปลูกผักทำสวนครัว ทำงานบ้าน การเดิน

** หากมีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุควรเลือกออกกำลังกายที่อยู่ในคำแนะนำของแพทย์ก่อนเสมอ

  • อารมณ์ มองโลกในแง่บวก ไม่เครียด จะช่วยให้มีจิตใจแจ่มใส มองโลกในแง่ดี ทำสมาธิประจำ มีครอบครัวที่อบอุ่น และนอนหลับอย่างมีคุณภาพ
  • อดิเรก สร้างสรรค์งานอดิเรก หากิจกรรมงานอดิเรกที่ชอบทำกับครอบครัว เพื่อน ทำแล้วเพลิดเพลิน เช่น อ่านหนังสือ ฟังธรรมมะ พบปะสังสรรค์ ร้องเพลง ปลูกต้นไม้
  • อนามัย อนามัยดี ชีวีมีสุข พาอายุยืนยาว หมั่นตรวจและรักษาสุขภาพ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค งดสุรา ดูแลช่องปากอย่างดี การขับถ่าย
วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

ดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพดีทั้งกายและใจ

ไม่เพียงเท่านี้ ผู้สูงอายุควรระมัดระวัง อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เท่านี้อาจเป็นส่วนช่วยเรามีอายุยืนมากขึ้น เนื่องจากร่างกายที่เสื่อมสภาพตามอายุ จึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด ลูกหลานก็เป็นส่วนที่จะช่วยได้ ดังนี้

  • ดูแลผู้สูงอายุอย่าให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะหากเกิดเหตุอาจถึงเป็นเรื่องใหญ่ตามมาได้ เพราะการกลับมาฟื้นฟูร่างกายอาจทำได้ช้าลง
  • ควรให้ผู้สูงอายุในบ้าน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในเรื่องต่าง ๆ เพราะพอเข้าสู่ช่วงวัย บทบาทของผู้สูงอายุอาจถูกลดทอนลง จนบางครั้งกลายเป็นถูกละเลยความสำคัญ
  • ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม พอเหมาะ ไม่ควรหักโหมเกินไป และหากมีโรคประจำตัวต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • หากิจกรรมสร้างสรรค์ให้ผู้สูงอายุทำ ช่วยชะลดความเสื่อมถอยของระบบประสาทและสมอง ลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคซึมเสร้าในผู้สูงอายุ
วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

บ้านปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ

ในช่วงวันหยุดยาวแบบนี้บ้านใครมีเด็ก หรือ "ผู้สูงอายุ" มาลองหาโอกาสให้จัดบ้าน ที่ใช้ร่วมกัน นั้นเพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ ทั้ง การสะดุด ลื่นล้ม วันนี้มาแชร์ข้อมูลให้บ้านเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้าน

  • พื้นอย่าปล่อยให้ลื่น เพราะเสี่ยงอุบัติเหตุ : การหกล้มเป็นอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุในระยะยาว
  • แสงสว่าง ที่เพียงพอ : การมองเห็นของผู้สูงอายุอาจมีประสิทธิภาพลดลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย ดังนั้นจึงควรมีการติดตั้งให้มีแสงสว่างที่เพียงพอ ลดเสี่ยงเดินสะดุด ระหว่างทางเดินไปห้องน้ำกลางดึก
  • บ้านที่มีพื้นต่างระดับ : บ้านที่มีพื้นที่เสมอกัน เป็นการช่วยลดอุบัติเหตุ ที่อาจเกิดขึ้น ยิ่งผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็น จะทำให้การเคลื่อนย้ายตัวเองทำได้สะดวกขึ้น
วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

  • อุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินในบ้าน : กล่องยา กล่องปฐมพยาบาล โทรศัพท์ ที่บันทึกเบอร์โทรฉุกเฉินไว้ ควรอยู่ในจุดที่ผู้สูงอายุใช้งานได้ง่าย เพราะหากมีเหตุไม่คาดคิดจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที
  • ใช้เทคโนโลยี สมาร์ทโอม : สำหรับบ้านไหนที่คนในบ้าน ออกไปทำงานกันหมด หลายคนกังวลเป็นห่วงผู้สูงอายุในบ้าน จึงอาจติดตั้งกล้องวงจรปิด ที่สามารถเช็กผ่านสมาร์ทโฟน สนทนากันได้ หรือระบบเชื่อมต่อกับวงจรไฟฟ้า ช่วยเปิด ปิดไฟ ภายในบ้าน ป้องกันการลืม ช่วยให้ลูกหลานอุ่นใจได้

"ต่างวัย หัวใจไม่ห่าง"

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผู้ที่เดินทางมาทำงาน หรือ เข้ามาศึกษา ตามจังหวัดต่าง ๆ ได้ใช้โอกาสนี้กลับไปยังบ้านเกิดเพื่อเยี่ยมเยือนครอบครัว พบปะญาติผู้ใหญ่ด้วย ครอบครัวมีสมาชิกที่มีความต่างวัยอยู่ร่วมกัน ทำอย่างไร ให้การอยู่ร่วมกัน อย่างความเข้าใจ และลดช่องว่างระหว่างวัย กรมกิจการผู้สูงอายุ แนะนำไว้ดังนี้

  • ยอมรับและเข้าใจในความต่าง ยอมรับในความเห็นต่าง ให้อภัยและไม่โต้เถียงจนรู้สึกไม่ดีต่อกัน
  • เห็นคุณค่าและให้ความสำคัญ แสดงออกต่อกันด้วยความเคารพ รับฟังความเห็น มีส่วนร่วมตัดสินใจ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับครอบครัว
วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

  • ทำกิจกรรมสร้างสัมพันธ์คนต่างวัย เช่น กินอาหารร่วมกัน ท่องเที่ยวด้วยกัน ไปทำบุญร่วมกันทำให้รู้และเข้าใจความคิดคนต่างวัยได้มากขึ้น
  • แสดงความรักต่อกัน พูดคุยบอกรัก สัมผัส โอบกอด ดูแลเอาใจใส่กันและกัน สอบถามสุขทุกข์ จะช่วยเพิ่มความรู้สึกผูกพันกันมากขึ้น
  • ถามรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย พูดคุย ซักถาม ทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น

ถามเป็น ชมเป็น แนะเป็น

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการสื่อสารกับผู้สูงอายุ ให้ไปปรับใชกันด้วย หลัก 3 ข้อ คือ "ถามเป็น ชมเป็น แนะเป็น"

  • ถามเป็น : ถามถึงผลกระทบของปัญหาสุขภาพจิตต่อชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดความตระหนักและความตั้งใจในการปฎิบัติตัว

ยกตัวอย่างเช่น "ที่ยายบอกว่าไม่สบายใจ เล่าให้ฟันหน่อยได้ไหมค่ะ"

  • ชมเป็น : ชื่นชมเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดี และให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา

ยกตัวอย่างเช่น "ยายเก่งจัง ขยันมาออกกำลังกายทุกเช้าเลย"

  • แนะเป็น : นำเสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต และให้ผู้สูงอายุเลือกวิธีที่เหมาะกับตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น "ยายรู้ไหมว่า มีหลายวิธีที่ช่วยคลายเศร้าได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสาย ยายลองดูสิจะดีขึ้นไหมคะ"

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ

วันผู้สูงอายุแห่งชาติ


สุดท้าย ลูกหลานที่มี "ผู้สูงอายุ" มีส่วนสำคัญยิ่งในการช่วยให้ผู้สูงอายุปรับตัวให้มีความสุข แม้อาจมีช่องว่างระหว่างวัยเกิดขึ้นได้บ้าง แต่อาจไม่ใช้ปัญหาใหญ่ ฉะนั้นการยอมรับ ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พยายามเข้าหาผู้สูงอายุในบ้านให้มากขึ้น

รวมถึงหาโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน เข้าใจธรรมชาติของ ผู้สูงวัย ที่หลายครั้ง มักจะชอบเล่าเรื่องราวเก่า ๆ สมัยที่ท่านยังเป็นหนุ่มสาว บ้างครั้งก็มีมุมน้อยใจลูกหลาน จึงควรเอาใจใส่ดูแลท่านด้วยความเข้าใจ ทั้งร่างกาย และจิตใจ เติมเต็มความสุขให้กันในทุกวัน ไม่ใช่เพียงเฉพาะในวันสงกรานต์ปีนี้เท่านั้น

สุขสันต์ วันสงกรานต์ 2567 

อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ

อ่านข่าวอื่น ๆ

แพทย์เตือนควรเปลี่ยน "กางเกงใน" ทุกครึ่งปี เพื่อสุขอนามัยที่ดีในร่มผ้า

"แกงไตปลา" อันดับ 1 เมนูยอดแย่ TasteAtlas แต่คนใต้หรอยแรง

"ปิดฝาชักโครก ก่อนกดน้ำ" ลดเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อโรค จริงหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง