ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เงินสะพัด 4.2 หมื่นล้าน นักท่องเที่ยวแห่ใช้จ่าย

เศรษฐกิจ
4 เม.ย. 67
18:37
990
Logo Thai PBS
เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เงินสะพัด 4.2 หมื่นล้าน นักท่องเที่ยวแห่ใช้จ่าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี คาดเทศกาลสงกรานต์ เงินสะพัดกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท พุ่งสูงกว่า 55% แนะภาครัฐต่อยอดวางแผนกำหนดวันหยุดให้มีประสิทธิภาพ หวังสร้างเม็ดเงินให้ภาคท่องเที่ยวไทย

วันนี้ (4 เม.ย.2567) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ TTB analytics ทำการวิเคราะห์ เทศกาลสงกรานต์ปี2567ของไทย ว่า เป็นเทศกาลสำคัญของคนไทยในการกลับภูมิลำเนาเพื่อพักผ่อนใช้เวลากับครอบครัว เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวที่ตรงตามเทศกาลอย่างน้อย 3 วัน

และเมื่อรวมกับวันหยุดสุดสัปดาห์รวมถึงวันหยุดพิเศษตามประกาศของภาครัฐ ทำให้มีวันหยุดอย่างน้อย 5 วัน แต่ประชาชนบางกลุ่มที่สามารถลางานในช่วงวันที่ 9-11 เม.ย. ได้ นับว่าเทศกาลนี้จะลากยาวถึง 11 วัน เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ก่อนเทศกาลก่อนสงกรานต์ มีวันหยุดชดเชยวันจักรีในวันที่ 8 เม.ย. และ วันหยุดพิเศษตามประกาศของรัฐบาลในวันที่ 12 เม.ย.

แม้แต่ในส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถลางานในสัปดาห์ก่อนวันสงกรานต์ วันหยุดยาวก็ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ช่วงวันที่ 6-8 เม.ย. และวันที่ 12-16 เม.ย. นับเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและเม็ดเงินที่คาดว่าจะสะพัดเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์

สำหรับ นักท่องเที่ยวชาวไทย ส่วนใหญ่มักเดินทางกลับภูมิลำเนาจาก กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ EEC รายจ่ายในส่วนของการเดินทางกลับภูมิลำเนาไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากรายจ่ายปกติ แต่อาจเพิ่มขึ้นในส่วนของการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวของกลุ่มที่ไม่ได้กลับภูมิลำเนา หรือกลุ่มที่กลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยวไปในภูมิภาคที่ใกล้เคียงกับครอบครัว

ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลสงกรานต์

ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลสงกรานต์

ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลสงกรานต์

ดังนั้นส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในพื้นที่ภูมิภาคไม่นับกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีรายจ่ายในบางรายการสูงขึ้น เช่น รายจ่ายค่าเดินทางโดยเฉลี่ยต่อคนต่อวันปรับเพิ่มขึ้น 6.9% รายจ่ายเกี่ยวกับอาหารและซื้อสินค้าที่คาดว่าจะปรับตัวจากรูปแบบวิถีชีวิตของชาวไทยที่เมื่อมีการรวมกลุ่ม คาดปรับเพิ่มขึ้น 12.9%

ในขณะที่เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในภาคโรงแรมโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มเพียง 2.7% โดยได้อานิสงส์จากกลุ่มที่ตั้งใจเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภาคตะวันออก และจังหวัดติดทะเลใกล้กรุงเทพฯ โดยจากรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะมีเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยคาดอยู่ที่ 17,200 ล้านบาท

การเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์

การเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์

การเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์

ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รับแรงหนุนจากช่วงวันหยุดยาว Golden Week ของชาวจีน และ เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวยุโรปหนีความหนาวมาพักพิงในภูมิภาคที่มีความอบอุ่นส่งผลให้ในเดือนเม.ย.นี้ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ  3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อนหน้ากว่า 42% ซึ่งเป็นปัจจัยบวกสำหรับการท่องเที่ยวไทย โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินที่สะพัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดอยู่ที่ 24,300 ล้านบาท

เมื่อรวมเม็ดเงินจากทั้งกลุ่มคนไทยและต่างชาติ พบเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉพาะวันที่ 12-16 เม.ย. คาดว่าจะแตะ 41,500 ล้านบาท สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงปี 2566 ที่เม็ดเงินสะพัดช่วงสงกรานต์ราว 26,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 55%

นอกจากนี้ในปี 2567 ก่อนสงกรานต์ซึ่งนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเริ่มจับจ่ายตั้งแต่ช่วงวันที่ 6 เม.ย. ลากยาวจนเดินทางกลับมาทำงานหลังสงกรานต์ ก็คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินเพิ่มเติมอีก 25,800 – 37,400 ล้านบาท เมื่อรวม 2 ช่วงวันหยุดคิดเป็นเงินสะพัดถึง 67,300 – 78,900 ล้านบาท

“นับว่าเครื่องสะท้อนถึงการกำหนดวันหยุดพิเศษต่าง ๆ ที่ควรจะสอดคล้องและเอื้ออำนวยกับภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากแม้จำนวนวันหยุดที่เท่ากันแต่ช่วงเวลาที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อเม็ดเงินให้สะพัดเพิ่มมากขึ้นในภาคท่องเที่ยวไทย”

อย่างไรก็ตามศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี มองภาครัฐยังสามารถต่อยอดนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ได้เพิ่มเติม เช่น รายจ่ายค่าที่พัก และอาหาร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์สามารถนำมาลดหย่อนภาษี หรือขอความร่วมมือผู้ประกอบการทำโปรโมชันกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

เพื่อดึงดูดให้คนไทยที่มีความต้องการเดินทางไปต่างประเทศช่วงสงกรานต์รู้สึกคุ้มค่าเพียงพอในการเลื่อนการเดินทางต่างประเทศออกไปในช่วงเวลาอื่นที่มีวันหยุดยาว เช่น เดือนพ.ค.หรือ ก.ค. และใช้ช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์เพื่อสร้างเม็ดเงินให้สะพัดในภาคการท่องเที่ยวไทยให้มากขึ้นในปีถัด ๆ ไป

 อ่านข่าวอื่นๆ:

สงกรานต์นี้มีเงินใช้ แบงก์พาณิชย์แห่ สำรองเงินสดกว่าหนึ่งแสนล้านบาท

ธอส.ชวนคนไทยออมเงิน เปิดตัวสลาก “นาคราช” รับเทศกาลสงกรานต์

“ชาวจีน” มาแรง ลงทุนห้องชุด ขนเงินเข้าไทยกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง