ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฝันค้างกลางฤดูร้อน "ดิจิทัลวอลเล็ต" ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก

การเมือง
3 เม.ย. 67
17:10
539
Logo Thai PBS
ฝันค้างกลางฤดูร้อน "ดิจิทัลวอลเล็ต" ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

รัฐบาลเพื่อไทย-เศรษฐา ตั้งท่านับหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.2566 นับจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยหว่านโปรยความฝันว่า คนไทยที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะได้ใช้เงินดังกล่าวได้ในช่วงปลายปี 2566

มีเงื่อนไข คือ สามารถใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร ภายใน 6 เดือน ด้วยบัตรประชาชน ผ่านแอปพลิ เคชัน จ่ายให้งวดเดียว ไม่สามารถเบิกถอนเป็นเงินสดได้ วงเงินของโครงการมีมูลค่ากว่า 5.6 แสนล้านบาท และมีการปรับเปลี่ยนมาโดยตลอด

แต่จนถึงวันนี้ (3 เม.ย.2577) ผ่านไป 7 เดือน ก็ยังไม่ได้ข้อยุติว่า หากไม่ออก พ.ร.บ.กู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ จะมาจากไหน

เบื้องต้น เมื่อเดือน พ.ย.2566 รัฐบาลได้ข้อสรุปว่า จะมีการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโครงการดิจิทัลวอลเลต 5 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลมีแผนตั้งงบประมาณเพื่อจ่ายคืนเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี และอีก 1 แสนล้านบาทจะใช้ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve)

ท่ามกลางข้อท้วงติงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผลการศึกษาจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ออกมาให้ข้อเสนอแนะรัฐบาล 8 ประเด็นเพื่อปิดจุดเสี่ยงต่อการทุจริต ทั้งการทุจริตเชิงนโยบายและอื่นๆเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2566

หากไล่เรียงไทม์ไลน์ ในแต่ละช่วงเวลา ที่รัฐบาลเพื่อไทยพยายามผลักดันโครงการดังกล่าว จะเห็นได้ว่า มีลักษณะ "ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก" กล่าวคือ ขัดข้องแทบทุกด้าน ตั้งแต่แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ เช่น การใช้เงินกู้เพื่อดำเนินการโครงการเดียว โดยออก พ.ร.บ.เงินกู้ ซึ่งแนวทางนี้เคยถูกท้วงติงอย่างหนักจากกลุ่มนักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้รัฐบาลต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ

ครั้งนั้น "จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" รมช.คลัง ยอมรับว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น เช่น การออก พ.ร.บ.กู้เงิน จะต้องเป็นไปตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

ต่อมาคณะกรรมการนโยบายฯ มีคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อป้องกันการผิดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของโครงการ และคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและความคิดเห็นด้านต่าง ๆ มีกำหนด 30 วัน เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2567

ผ่านไม่ถึงเดือน วันที่ 22 มี.ค.2567 สภาผ่านกฎหมายงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนน 298 ต่อ166 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่ออกเสียง 1 เสียง

วันที่ 25 มี.ค.2567 จุลพันธ์ ในฐานะ รมช.คลังออกมายืนยันว่า รัฐบาลพร้อมเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยไตรมาส 3 จะเปิดให้ลงทะเบียนร้านค้าและประชาชน และไตรมาส 4 เงินจะถึงมือประชาชน

ล่าสุด (2 เม.ย.2567) "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ออกมาเปิดเผยสั้น ๆ หลังประชุมครม.ว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ร่วมกันพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุป ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 10 เม.ย.2567 นี้

"...มอบหมายให้ กระทรวงพาณิชย์ สรุปหลักเกณฑ์ของร้านค้า และสินค้าที่จะเข้าร่วมในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และให้กระทรวงดีอี, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ สรุปรายละเอียดการพัฒนาระบบแบบเปิด เพื่อให้สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินดิจิทัล เข้าร่วมโครงการ และขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วางกรอบการตรวจสอบ วินิจฉัย ร้องทุกข์กล่าวโทษ และการเรียกเงินคืน ทุกหน่วยงานต้องสรุป และนำมาเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 10 เม.ย.นี้ เช่นกัน ขอให้เตรียมฟังข่าวดี" นายกรัฐมนตรี ระบุ

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดังกล่าว ก่อนหน้านี้ "ลวรณ แสงสนิท" ปลัดกระทรวงการคลัง ออกระบุว่า มี 3 แนวทางที่เป็นไปได้

แนวทางแรก คือ การใช้เงินกู้ดำเนินโครงการอย่างเดียว เป็นแนวทางเดิมที่ได้หารือกันมาก่อนหน้านี้

แนวทางที่ 2 คือ ใช้เงินงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบฯปี 2568 และหากรัฐบาลจำเป็นต้องใช้โครงการนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ ก็สามารถดำเนินการได้ โดยอาจปรับเปลี่ยนวงเงินจัดทำงบฯซึ่ง เงื่อนไขดังกล่าว ที่ผ่านมาไม่มีมาก่อน

และแนวทางที่ 3 คือ เป็นการใช้ผสมกันระหว่างเงินกู้กับเงินงบประมาณ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจทำได้หากเหมาะสม

ขณะที่ "ศิริกัญญา ตันสกุล" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตในการอภิปราย โครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ความคืบหน้าล่าสุด มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดเป็นครั้งที่ 5 แล้ว และสร้างความสับสน ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะมีครั้งที่ 6 หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นแหล่งที่มาของเงิน

"ตอนเลือกตั้งพูดว่า จะใช้งบปี 67 แต่ปรากฎว่า งบปี 67 ไม่พอ จึงจะไปกู้ธนาคารออมสิน แต่ขัดพ.ร.บ.ออมสินในเรื่องวัตถุประสงค์ การออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ที่ถูกท้วงติงจากป.ป.ช.จนกระทั่งครั้งที่มีการระบุ 3 แหล่งที่มา ทั้งการใช้งบปี 67 การแบ่งงบปี 68 จำนวน1.5แสนล้าน และการกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)"

โดย "ศิริกัญญา"มองว่า เป็นวิธีที่พิสดารและยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีการบังคับใช้เมื่อใด และจากเดือน พ.ค.วันนี้ขยับไปเป็นไตรมาส 4 ของปี 2567 และหากจะมีการกำหนดเกณฑ์ นับเฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการของรัฐราว 14 ล้านคน ต่อให้รัฐบาลกู้เงินจำนวน 1 แสนล้าน ก็ไม่เพียงพอในการดำเนินโครงการ เป็นเช่นนี้อาจต้องไปเอาจากงบกลางอีกราว 4 หมื่นล้านหรือไม่ และอยากให้อธิบายเพราะรอถึงวันที่ 10 เม.ย.ไม่ไหว

ขณะที่แหล่งเงินทุนที่จะมาจากการกู้ ธกส.ซึ่งจุดประสงค์การกู้ระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องเป็นการกู้เพื่อพัฒนาชนบท การทำธุรกรรมต้องเป็นไปเพื่อสร้างผลผลิตลดต้นทุนเกษตรกร ประเด็นนี้ต้องตีความว่าธกส.จะสามารถกู้เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อเกษตรกรได้หรือไม่ เพราะวันนี้ยังมีเกษตรกรที่รอคอยกว่า 8 ล้านคน

วันนี้เป็นความพยามที่เลือดเข้าตา จากเดิมที่เคยพายเรือในอ่างกลับไปเริ่มที่ศูนย์ใหม่เรื่อยๆโดยที่เรากำลังออกทะเลไปไกล เพราะมูลค่า 5 แสนล้าน ก็มาจากการกู้ กู้ กู้ และก็กู้อยู่ดี

หากจับหลาย ๆ สัญญาณที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า โครงการนี้ยังมีปัญหาอีกมาก แม้เสมือนจะมีการเปิดช่องให้ใช้งบในลักษณะที่เป็นลูกผสม ซึ่งมีแนวโน้มและความเป็นไปได้สูง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินกู้กับเงินงบประมาณ หรือใช้เงินงบประมาณประจำปี 2 งบประมาณ 

กล่าวคือ หลังจากงบฯ ปี 2567 ผ่านสภาแล้ว และงบฯ ปี 2568 ซึ่งจะใช้ได้ในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อลดความเสี่ยงหรือมีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส่วนรัฐบาลไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการใช้กฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านต่อไป

แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลจะมีความพยายามในการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเลตมาโดยตลอด แต่สำหรับการส่งสัญญาณสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ยังไม่ชัดเจนมากนัก หากจำเป็นต้องออกกฏหมายกู้เงิน ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้มีเสียงข้างมาก เกินครึ่งในสภา 

ดังนั้นเพื่อไม่ให้ทุกฝ่ายตกอยู่ในความเสี่ยงต่อความผิดตามกฎหมาย ทางออกที่ถูกนำเสนอมาจึงน่าจับตามอง และวันที่ 10 เม.ย.นี้ ก็จะได้รู้ว่า ไตรมาสที่ 4 เงินดิจิทัลวอลเล็ตจะถึงมือประชาชนหรือไม่ ฤาจะเป็นเพียงแค่ฝันค้างกลางฤดูร้อนต่อไป

 อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

"ศิริกัญญา" เปิด 3 แหล่งเงิน "ดิจิทัลวอลเล็ต" อัดรัฐบาลขายผ้าเอาหน้ารอด

เริ่มแล้ว ! อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ฝ่ายค้าน-รัฐบาล เต็มห้องประชุม

"จุลพันธ์" ยืนยันประเทศไทยมี "เศรษฐา" เป็นนายกฯ คนเดียว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง