ร่มขนาดใหญ่หลากสีสดใส ตั้งเป็นจุด ๆ ในไร่มันสำปะหลังข้างทางถนน จ.เพชรบูรณ์ โดดเด่นสะดุดตา ท่ามกลางแดดร้อนจัด แรงงานเกือบ 20 ชีวิต พร้อม "เคียว"อุปกรณ์คู่ใจ กับเชือกฟางเส้นเล็ก ๆ ทุกคนสวมหมวกไอ้โม่งกันแดด ก้ม ๆ เงย ๆ ตัดท่อนพันธุ์ต้นมันสำปะหลัง มัดละ 25 ต้น ได้ค่าแรงมัดละ 5 บาท บางคนเหนื่อยก็หลบพักเข้าร่ม จิบน้ำเย็น ๆ ให้ชื่นใจ กินข้าวที่ห่อมาจากบ้าน ก่อนลุยงานใหม่

เจนจิรา อารัญโสต อาชีพนายหน้าจัดหาคนงานเก็บพืชผลทางการเกษตร ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ เล่าให้ฟังว่า ทุกเช้าตรู่ของทุกวัน จะรับคนงานในหมู่บ้านเดียวกันและละแวกใกล้เคียง ออกมาทำงานในไร่ ทั้งรับจ้างตัดอ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง

หากเป็นงานในไร่มันสำปะหลัง จะมาตัดท่อนพันธุ์ทิ้งไว้ก่อน โดยคนงานจะได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท และจะกลับมาปลูกต้นพันธุ์อีกครั้ง หลังจากเจ้าของไร่ขุดหัวมันสำปะหลังขึ้นหมดแล้ว ในกรณีที่ไม่ปลูกมัน เจ้าของไร่อาจจ้างรถไถกลบพื้นดิน เพื่อปลูกอ้อย หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อเสร็จภารกิจแล้ว จึงจะไปรับจ้างทำงานในพื้นที่อื่น ๆ
วันนี้เจนจิราเดินทางมาพร้อมกับแรงงาน 14 คน ในหมู่บ้าน ห่างจาก ต.บัววัฒนา อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ 10 กิโลเมตร รับค่าหัวคิวคนละ 30 บาทต่อวัน เป็นค่าน้ำมันรถ และกำไรเล็กน้อยจากการหา "แขก" หรือแรงงานที่มาทำงานในแต่ละวัน

เจนจิรา อารัญโสต
เจนจิรา อารัญโสต
ก่อนหน้านี้ เธอไปรับงานตัดอ้อยที่ ต.พุเตย อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ใครจ้างไปไหนก็ไปหมด รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงอย่าง ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และเคยเดินทางไปทำงานไกลที่สุดในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ แต่ในครั้งนั้นเรียกเก็บเงินค่าน้ำมันเที่ยวละ 1,500 บาท และเรียกเก็บค่าหัวคิวแรงงานเพิ่ม ตามระยะทางใกล้-ไกล

เจนจิรา กล่าวว่า อาชีพรับจ้างปลูกพืชผลทางการเกษตรยังมีความต้องการสูง และเจ้าของไร่จะไม่ใช้เครื่องมือการเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้ไถดิน หรือหยอดเมล็ดพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่จะจ้างคนงาน ตั้งแต่การลงมือปลูก คัดเลือกต้นพันธุ์ที่แข็งแรง เนื่องจากต้นพันธุ์บางต้นตัดไว้นานแล้ว เครื่องมือคัดแยกไม่ได้
คนงาน ถ้าตัดเก่ง ๆ ไม่หยุด ขยันก็ได้ค่าแรงตามกำลัง สูงถึงวันละ 1,000 บาท ถือว่าดีกว่าทำงานประจำ อยู่ที่กำลังของเรา บางคนมีรายได้ได้วันละ 700-800 บาท บางคนได้ 1,000 บาท
เจนจิรา บอกว่า อาชีพรับจ้างเป็นงานอิสระ มีงานทำตลอดทั้งปี แม้ปีนี้อากาศจะร้อนจัด ทำงานอยู่กลางไร่ทุกวัน ทนแดดได้ ก็มีลมพัดมาบ้าง ถ้าอากาศร้อนจัด ก็หลบเข้าร่ม ตั้งแต่ทำงานมาก็ยังไม่มีใครวูบ หรือเป็นลมแดด แต่ทุกคนเขาก็ระวัง ไม่ประมาท

ในหมู่บ้าน มีคนทำอาชีพนายหน้ารับจ้างหาคนงาน 4-5 ราย เราไม่ได้กินหัวคิวอย่างเดียว แต่เราก็เป็นคนงานด้วย ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท เหมือนกัน สามารถเลี้ยงครอบครัวได้สบาย ๆ เพียงแต่เราไม่ได้แต่งตัวสวย ๆ เท่านั้น
ขณะที่อำนวย หนูทิพย์ เจ้าของไร่มันสำปะหลัง กล่าวว่า มีอาชีพเกษตรกร ในปีนี้ทำไร่มันสำปะหลัง จำนวน 30 ไร่ ทุกครั้งเมื่อคนงานลงทำงานในไร่ ก็จะซื้อน้ำแข็ง น้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง ไปให้เป็นการแสดงน้ำใจ เพราะทุกคนต้องทำงานท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดมาก

อำนวย หนูทิพย์
อำนวย หนูทิพย์
ในปีนี้ราคาพืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรืออ้อย มีราคาสูงกว่าทุกปี โดยผลผลิตล็อตแรกจากการขายมันสำปะหลัง 16 ไร่ ได้เงินจำนวน 200,000 บาท และถ้าหักต้นทุน เช่น ค่าปุ๋ย ค่าจ้างแรงงาน ค่าต้นพันธุ์ แล้วจะเหลือกำไรไม่มากนัก แต่ถือได้เป็นนายของตัวเอง ไม่ต้องรับจ้างใคร

กว่าจะมาถึงวันนี้ อำนวย บอกว่า เคยล้มลุกคุกคลาน ขาดทุนหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงปีแรก ๆ ขายหัวมันได้กิโลกรัมละ 1.40 บาท และปี 2566 แทบไม่ได้กำไรเพราะฝนตกมาก ทำให้หัวมันเน่า แต่ปีนี้แนวโน้มน่าจะพอได้กำไร ราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 3 บาทกว่า ส่วนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีต้นทุนหลักแสนบาท ต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์และค่าปุ๋ยเพิ่มขึ้น
ในปีนี้ อากาศร้อนและแล้งจัดมาก จึงทำให้น้ำฝนกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร เพราะในพื้นที่ไม่มีระบบชลประทาน ไม่มีบ่อบาดาลเพื่อแปลงเกษตรกรรมในพื้นที่ ผลผลิตที่จะได้ต้องรอเทวดาปะพรมน้ำฝนบนฟ้ามาให้

เช่นเดียวกับพื้นที่เกษตรของ อำนวย ไม่ได้ขุดสระน้ำ หรือต่อท่อใช้น้ำบาดาลมาใช้ในพื้นที่ ถ้าฝนตกลงมามีปริมาณมากเกินไป จะทำให้หัวมันสำปะหลังเน่า แต่หากน้ำน้อยเกินไปจะยืนต้นตาย หลังตัดต้นมันสำปะหลังแล้ว จึงต้องรอลุ้นว่าฝนจะตกลงมาในช่วง 2-3 วันนี้หรือไม่ เพื่อจิ้มหัวมันลงดิน รอเก็บเกี่ยวในอีก 10-12 เดือนข้างหน้า
ดังนั้นจึงวางแผนว่า หลังจากเก็บเกี่ยวหัวมันล็อตนี้ เธอจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3-4 เดือน ต่อด้วยถั่วเขียว ก่อนปล่อยที่ดินเว้นว่างไว้จนถึงช่วงเดือน ม.ค. เพราะไม่มีฝน เพื่อเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกรอบใหม่ต่อไปตามวิถีเกษตรกรไทย หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ฝน
