ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ป.ป.ช.ยัน รร.ในขอนแก่น “เก็บแป๊ะเจี๊ยะ” จริง ชี้พิรุธตั้งแต่รับสมัคร-รายงานตัว

ภูมิภาค
3 เม.ย. 67
10:05
947
Logo Thai PBS
ป.ป.ช.ยัน รร.ในขอนแก่น “เก็บแป๊ะเจี๊ยะ” จริง ชี้พิรุธตั้งแต่รับสมัคร-รายงานตัว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรณีที่มีคลิปภาพจากผู้ปกครอง เปิดเผยว่า มีโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น เรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะจากนักเรียนที่สอบติดสำรองถึง 1 แสนบาท เพื่อแลกกับการได้เข้าเรียน

วันนี้ (3 เม.ย.2567) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน มีคำยืนยันจาก ป.ป.ช.ขอนแก่นว่า ข้อมูลนี้ตรงกับข้อมูลที่ ป.ป.ช.ตรวจสอบและเฝ้าระวังปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยม 8 แห่ง ใน จ.ขอนแก่น ที่มีอัตราการแข่งขันสูง

จากคลิปเหตุการณ์ในวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นบทสนทนาระหว่างผู้ปกครองที่พาบุตรหลาน ซึ่งสอบติดสำรอง ในการสมัครเข้าเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น

สิ่งที่พวกเขาพูดและปรับทุกข์กัน หลังจากที่ออกจากห้องรับรายงานตัวสำหรับเด็กที่สอบติดสำรอง
ผู้ปกครองคนที่ 1 : เขาเรียกเท่าไหร่ 1 แสนมั้ย
ผู้ปกครองคนที่ 2 : ใช่ 1 แสนบาท
ผู้ปกครองคนที่ 1 : เขาให้จ่ายภายใน 4 โมงเย็นเหมือนกันมั้ย
ผู้ปกครองคนที่ 2 : ใช่ เกิน 4 โมงเย็นไม่ได้ ต้องจ่ายเพิ่ม 2 แสน
ผู้ปกครองคนที่ 1 : เขาบอกว่าถ้าเราจ่าย 6 หมื่นบาทก่อนสอบจะได้เรียน
ผู้ปกครองคนที่ 2 : เขาบอก แต่เราอยากให้หลานสอบด้วยความสามารถ เด็กตั้งใจอ่านหนังสือ พอสอบติดสำรองเราก็รอเรียกตัว
ผู้ปกครองคนที่ 1 : เขาบอกเราไม่ต้องรอเรียกหรือ
ผู้ปกครองคนที่ 2 : เขาบอกว่า ตัวสำรองทุกคน กับคนสอบไม่ผ่าน ใครจ่าย 1 แสน ได้เข้าเรียนเลย เราจ่ายไม่ไหวหรอก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่ผู้ปกครองพูดคุยกัน เด็กนักเรียนหญิงที่สอบติดสำรองคนนี้ ร้องไห้และโผโอบกอดคนในครอบครัวด้วยความผิดหวัง เพราะเงิน 1 แสนบาท ที่ครอบครัวจ่ายไม่ได้ คือสิ่งตัดสินว่าเธอไม่ควรเรียนต่อในโรงเรียนแห่งนี้

หลังการเปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อมวลชน ป.ป.ช.จังหวัดขอนแก่น ออกมายืนยันว่า ข้อมูลนี้ตรงกับข้อมูลที่ ป.ป.ช.ได้จากการเฝ้าระวังและติดตามปัญหาตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินในสถานศึกษา โดยตลอด 1 เดือนที่ผ่านมามีการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการรับสมัครสอบเข้าเรียนต่อระดับ ม.1 และ ม.4 ของโรงเรียน 8 แห่ง ใน 6 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น ที่มีอัตราการสอบแข่งขันสูง

ข้อมูลสำคัญที่ ป.ป.ช.ลงไปพบ ไม่ใช่เพียงจากการรับฟังผู้ปกครอง แต่การตรวจสอบขั้นตอนการรับสมัคร เอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบ ประกาศรายชื่อนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือก และการประกาศรายชื่อนักเรียนให้เข้ามารายงานตัวในแต่ละรอบ ก็มีพิรุธที่ต้องตรวจสอบเชิงลึก

ยกตัวอย่างโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ มีจุดสังเกต คือ ประกาศรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนต่อ 2 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ประเภทนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ 144 คน มีผู้มาสมัครและมีสิทธิ์สอบ 76 คน และประกาศผลการคัดเลือกได้เข้าเรียนต่อ 76 คน เหลือที่นั่งว่าง 68 คน

กลุ่มที่ 2 ประเภทสอบคัดเลือก หรือ นอกเขต ประกาศรับสมัคร 240 คน ผู้มีสิทธิ์สอบ 756 คน พอตอนประกาศผู้สอบผ่าน มี 310 คน และสำรอง 20 คน

ตัวเลข 310 เพิ่มมาจาก 240 ที่ประกาศตอนแรก ทาง ป.ป.ช.ระบุว่า เป็นการเอาที่นั่งประเภทนักเรียนในเขตพื้นที่บริการที่เหลือมาเติม แต่อาจไม่ได้แจ้งกับทางผู้ปกครองและนักเรียน

นายธีรัตน์ บางเพ็ชร รักษาราชการแทน ผอ.ป.ป.ช.ขอนแก่น ระบุว่า ทางโรงเรียนต้องประกาศ ทั้งจำนวนเด็กที่ต้องการรับสมัคร หรือที่นั่งที่ว่างจริง ๆ จำนวนเด็กที่มีสิทธิ์สอบ และจำนวนเด็กที่สอบได้

ซึ่งหากไม่แจ้งให้ชัดเจน อาจจะไม่เห็นอัตราการแข่งขันที่แท้จริง เข้าข่ายส่อเจตนาที่ไม่สุจริต เพราะผู้ปกครองและเด็ก ๆ ไม่รู้เลยว่าที่นั่งว่างจริง ๆ มีเท่าไหร่ คะแนนที่เขาได้จริง ๆ แล้วอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ อาจมีการกันที่นั่งไว้ให้กับเด็กที่ผู้ปกครองพร้อมที่จ่ายเงินทั้งก่อนสอบและหลังประกาศผลสอบ

ผู้ปกครองจะรู้มั้ย เด็กก็ไม่รู้ว่า แล้วเขาสอบผ่านหรือติดสำรอง จริง ๆ เขาอาจจะสอบผ่านก็ได้ พอติดสำรองก็ถูกเรียกรับเงิน ทั้งที่จริง ๆ เขามีสิทธิ์ที่จะได้เรียนด้วยซ้ำไป

นายธีรัตน์กล่าว

ซึ่งล่าสุด ป.ป.ช.ได้เรียกดูเอกสาร ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่มีบางโรงเรียนที่ปฏิเสธจะส่งให้ อ้างว่าไม่พร้อม

จากข้อมูลของผู้ปกครอง และข้อมูลของ ป.ป.ช.พบว่า ช่องโหว่ของการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนต่อ ม.1 เริ่มตั้งแต่ การประกาศจำนวนเด็กที่จะรับ เด็กที่มีสิทธิ์สอบ และเด็กที่สอบผ่าน หากมีเด็กที่จ่ายเงินก่อนสอบและได้ที่นั่งส่วนหนึ่งไปครอง เด็กกลุ่มนี้คือเด็กที่เบียดที่นั่งที่ควรจะเป็นของเด็กที่สอบแข่งขันด้วยความสามารถ ทำให้ลำดับของพวกเขาตกมาอยู่อันดับสำรอง ซึ่งเด็กที่ติดอันดับสำรอง จะไม่มีโอกาสถูกเรียก

ในวันรายงานตัว เด็กที่ติดสำรองและเด็กที่สอบไม่ผ่านจะถูกเรียกให้ไปรอหน้าห้องผู้มีอำนาจตัดสินใจ มีเจ้าหน้าที่ คอยจัดคิวให้เข้าพบผู้มีอำนาจได้คำตอบว่า หากจะเข้าเรียนต้องจ่ายเงินสด 1 แสนบาท โดยต้องจ่ายภายในสี่โมงเย็น ของวันรายงานตัว หากจ่ายหลังจากสี่โมงเย็น จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนบาท

ผู้ปกครองบางคนที่ไม่จ่ายเงินได้ตัดสินใจไปติดต่อโรงเรียนอื่น ซึ่งมีชื่อเสียงน้อยกว่า จะเรียกเงินที่ 4-5 หมื่นบาท

โรงเรียนบางแห่ง หากจ่ายเงินก่อนสอบ 2-3 หมื่นบาท ก็ได้เข้าเรียนแน่นอน แต่หากรอประกาศผลสอบแล้วไม่ผ่าน จะต้องจ่ายเพิ่มเป็น 4-6 หมื่นบาท โดยให้ผู้ปกครองต้องเขียนชื่อนักเรียน พร้อมจำนวนเงิน เสนอให้ทางโรงเรียนพิจารณา ใครจ่ายมากกว่ามีสิทธิ์ได้รับเลือกเข้าเรียน ตอนนี้คะแนนสอบไม่มีผลต่อการพิจารณาแล้ว

สำหรับการเรียกรับเงิน และคัดเลือกเด็กที่ผู้ปกครองพร้อมจ่ายเงิน ทาง ป.ป.ช.จะตรวจสอบ ขั้นตอนการประกาศรายชื่อเด็กที่มีสิทธิ์มารายงานตัวและมอบตัว ซึ่งคาดว่าจะประกาศอีกหลายรอบ ไปจนถึงเดือนเมษายน ซึ่งมีข้อร้องเรียนว่า อาจมีเด็กที่ไม่ได้เข้าสอบเลย แต่กลับมีชื่อได้เข้าเรียน

การตรวจสอบหลังจากนี้ของ ป.ป.ช. จึงจะต้องรวบรวมพยานหลักฐาน หากพบว่าเรื่องมีมูล ก็จะเข้าสู่การทำคดี เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง

อ่านข่าว : ที่ 1 ของเอเชีย! คนไทยถูกมิจฉาชีพ โทร-SMS หลอกลวงมากสุด

เตือนสึนามิ! ไต้หวันแผ่นดินไหว 7.4 รุนแรงสุดรอบ 25 ปี

ปรับ 1 พัน นักท่องเที่ยวขับรถลงหาดกมลา อ้างลูกอยากถ่ายภาพทะเล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง