- "อินทผลัม" ผลไม้มหัศจรรย์แห่ง "เดือนรอมฎอน"
- "วันคุ้มครองโลก" 10 ไอเดียน่าทำปกป้องสิ่งแวดล้อมในสวนหลังบ้าน
รอมฎอน 2567 สิ้นสุดแล้ว
เมื่อวันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ.2567 เวลา 19.30 น. นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี เป็นประธานในการประกาศผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนเซาวาล (วันอีฏิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1445
ตามที่ท่านจุฬาราชมนตรีได้ประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนเซาวาล (วันอีฎิ้ลฟิตริ) ฮ.ศ.1445 ในวันอังคารที่ 9 เมษายน 2567 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้านั้น ปรากฏว่า มีผู้เห็นดวงจันทร์ จุฬาราชมนตรีจึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า วันที่ 1 ของเดือนเซาวาล ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับวันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2567
"รอมฏอน" เดือนแห่งการถือศีลอด
"รอมฏอน" เป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม แต่ละปีชาวมุสลิมทั่วโลกจะ "ถือศีลอด" ตลอดทั้งเดือน โดยจะเริ่มถือศีลอดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งปีนี้ วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับ วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี และจะสิ้นสุดในวันที่ 29 หรือ 30 ของการถือ "ศีลอด" โดยขึ้นอยู่กับการมองเห็นดวงจันทร์ของเดือนใหม่
อ่านข่าว : "รอมฎอน 2567" เดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม
ดังนั้นในช่วงเย็นวันที่ 29 ของเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมก็จะพากันไปร่วมกันดูดวงจันทร์ หากมองเห็นก็ถือว่า วันต่อไปเป็นเดือนใหม่ และรอมฎอนก็สิ้นสุดลง เท่ากับว่ารอมฎอนของปีนั้นมี 29 วัน แต่หากมองไม่เห็นก็นับว่ารอมฎอนมี 30 วัน มุสลิมต้องถือศีลอดต่อไปอีก 1 วัน จึงถือว่าเดือนรอมฎอนของปีนั้นสิ้นสุดลง
และเมื่อรอมฎอนสิ้นสุดก็จะเข้าสู่การเฉลิมฉลอง ที่เรียกว่าวัน "วันอีฎิ้ลฟิตริ"
จุฬาราชมนตรี ประกาศวันดูดวงจันทร์
ในปี 2567 สำนักจุฬาราชมนตรี ประกาศเรื่อง การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนเซาวาล หรือ วันอีฎิ้ลฟิตริ ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ระบุว่า
เพื่อให้การกำหนดวันที่ 1 เดือนเซาวาล (วันอีฎิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1445 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ ใน วันอังคารที่ 9 เมษายน 2567 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า หากในวันและเวลาดังกล่าว "มีผู้เห็นดวงจันทร์" โปรดแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะได้ตรวจสอบ และรายงานผลการดูดวงจันทร์ดังกล่าวมายังจุฬาราชมนตรี เพื่อออกประกาศแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน
ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนเซาวาล (วันอีฎิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1445
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบายถึงการสังเกตจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) เพื่อกำหนดเดือนเชาวัล (Shawwal) ฮ.ศ.1445 ไว้ว่า
เนื่องจากวันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2567 ตรงกับวันที่ 1 เดือนรอมฎอน (Ramadan เดือนที่ 9 ในปฏิทินอิสลาม) ฮ.ศ.1445 และเป็นวันที่ชาวไทยมุสลิมเริ่มถือศีลอดเดือนรอมฎอน ดังนั้น วันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อไปคือ ช่วงเย็นวันที่ 29 เดือนรอมฎอน เวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567 เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนเชาวัล (Shawwal เดือนที่ 10 ในปฏิทินอิสลาม) ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1445 และเพื่อกำหนดวันอีดิ้ลฟิตรี วันเฉลิมฉลองของชาวมุสลิมหลังจากที่ได้ถือศีลอดตลอดทั้งเดือนรอมฎอน
หากการสังเกตดวงจันทร์ในวันเวลาดังกล่าว มีผู้สังเกตเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก ชาวไทยมุสลิมจะกำหนดให้วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2567 เป็นวันอีดิ้ลฟิตรี วันเฉลิมฉลองของชาวมุสลิมหลังจากถือศีลอดมาตลอดทั้งเดือนรอมฎอน หรือวันที่ 1 เดือนเชาวัล ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1445
แต่หากวันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567 หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ไม่มีผู้สังเกตเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก ชาวไทยมุสลิมจะนับให้วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2567 เป็นวันที่ 30 เดือนรอมฎอน (Ramadan) หรือเป็นวันสุดท้ายของการถือศีลอดเดือนรอมฎอน ในปีฮีจเราะห์ศักราชนี้ และเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าในวันดังกล่าว จะเป็นเวลาเริ่มต้นเดือนใหม่ทันที โดยจะนับให้วันที่ 1 เดือนเชาวัล หรือวันอีดิ้ลฟิตรี ฮ.ศ.1445 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2567
อ่านข่าว : ทาหรือฉีด ? แพทย์ผิวหนังเคลียร์ชัด! ตัวช่วยผิวอิ่มน้ำ "ไฮยาลูรอน"
แสดงตำแหน่งดวงจันทร์ วันอังคารที่ 9 เมษายน 2567
รู้จักที่มา ความสำคัญ การปฏิบัติ "วันอีฎิ้ลฟิตริ" เทศกาล "วันอีด-ฮารีรายอ"
เดือนรอมฎอน ชาวไทยมุสลิม จะต้องประพฤติตนตามหน้าที่ของชาวมุสลิม ดังหลักศาสนาได้บัญญัติเอาไว้
ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม อธิบายว่า เทศกาลวันอีด-ฮารีราย วันเฉลิมฉลองในศาสนาอิสลาม 1 ปี มี 2 ครั้ง เป็นวันที่ชาวมุสลิมรอคอยเพราะครอบครัวจะได้พบหน้ากัน คือ วันอีฎิ้ลฟิตริ และ อีดิลอัฏฮา
"วันตรุษอีด หรือ วันอีด" เป็นวันเฉลิมฉลองในศาสนา อิสลาม ภาษามลายูปัตตานีเรียกวันนี้ว่า "ฮารีรายอ หรือ ฮารีรายา" ภาษามลายูกลาง แปลว่า "วันใหญ่ หรือ วันอีด" ในอินโดนีเซียเรียกว่า "ฮารีเลอบาราน"
ฮารีรายอ เป็นวันสำคัญของชาวมุสลิมทั่วโลก ถือได้ว่าเป็นวันรื่นเริงประจำปี ซึ่งชาวมุสลิมได้เดินทางกลับภูมิลำเนา ร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ญาติ เพื่อขออภัยซึ่งกันและกัน ในรอบ 1 ปี จะมีวันฮารีรายอ 2 ครั้ง
1."อีดุลฟิฏริ" หรือ วันอีฎิ้ลฟิตริ
"อีฎิ้ลฟิตริ" ตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาวาล ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งเป็นวันออกบวชหลังจากได้ถือศีลอดตลอดระยะเวลา 1 เดือน นิยมเรียกวันนี้ว่า "วันออกบวช" หรือ "รายาปอซอ" หรือ "รายาฟิตเราะห์" ในวันวันอีฎิ้ลฟิตริ เป็นวันแรกของการออกจากเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม เป็นวันแห่งรางวัล และการตอบแทนสำหรับผู้ผ่านการทดสอบประจำปีในเดือนรอมมาฎอนด้วยการบังคับตัวเอง จากการลด ละ การกินดื่ม กิเลสตัณหา และได้ละหมาดตะรอวีหฺเป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงเต็มตลอดค่ำคืนของเดือนรอมมาฎอน
การปฎิบัติตนในวัน "อีฎิ้ลฟิตริ"
ในวันอีฎิ้ลฟิตริมุสลิมทุกคนต้องตื่นแต่เช้าเพื่อทำการอาบน้ำสุนัต และไปละหมาดอิดิลฟิตรีที่มัสยิดประจำหมู่บ้าน ชาวมุสลิมนิยมใส่เสื้อผ้าของใหม่ ๆ สวยงาม มีกลิ่นหอม ทุกคนต้องปฏิบัติบริจาคซากาตฟิตเราะห์
วันอีฎิ้ลฟิตริ ถือได้ว่ามุสลิมทุกคนมีความรื่นเริง สนุกสนาน เพราะในวันนี้ได้ไปเยี่ยมญาติพี่น้อง ไปเคารพผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และทำความสะอาดสุสาน นำขนมไปแจกจ่ายให้กับเด็ก ๆ เพื่อนบ้าน เลี้ยงอาหารคนในหมู่บ้าน สำหรับอาหารที่นิยมทำในวันฮารีรายอ คือ ตูปะ (ข้าวเหนียวต้ม)
อ่านข่าว : วันแรงงานแห่งชาติ การต่อสู้จากคนทำงาน 18 ชม. เหลือ 8 ชม./วัน
2.อีดิลอัฏฮา หรือ อีดุลอัฎหา
อีดิลอัฏฮา ตรงกับวันที่ 10 เดือน ซุลฮิจญะห หรือตรงกับเดือน 12 ของปฏิทินอิสลาม ซึ่งถัดจากวันอารอฟะฮ และเป็นวันส่งท้ายของสิบวันแรกในเดือนซูลฮิจญะ มีลักษณะคล้ายกับวันตรุษอีฎิ้ลฟิตริ แต่มีข้อแตกต่างตรงที่มีการทำกุรบาน เป็นวันเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมุสลิมทั่วโลกได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ อันเป็นวันริเริ่มประกอบพิธีฮัจญ์ ส่วนผู้ไม่ได้ไปก็ให้ไปประกอบพิธีละหมาดอิดิลอัฏฮายังมัสยิดประจำหมู่บ้าน
ในวันอิดิลอัฎฮาจะมีการทำกุรบาน โดยมีการเชือดสัตว์กุรบาน ได้แก่ อูฐ วัว แพะ แล้วนำเนื้อที่เชือดแล้วมาบริจาคให้กับผู้ยากจน หรือทำอาหารเลี้ยงคนในหมู่บ้านก็ได้ และในวันนี้ผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ออกฮัจญ์ และเตรียมตัวเดินทางกลับ
พิธีกรรมในวันฮารีรายอ
- ในตอนเช้าของวันฮารีรายอ ชาวมุสลิมต้องตื่นนอนแต่เช้าตรู ผู้หญิงจะเป็นผู้ตกแต่ง บ้านเรือนให้สะอาดสวยงามเป็นพิเศษ จัดเตรียมอาหาร ขนมต่าง ๆ ไว้ต้อนรับเพื่อน ญาติพี่น้อง และแขกที่มาเยี่ยมเยียน ทุกคนต้องปฏิบัติบริจาคซะกาตฟิตเราะห์ก่อนที่จะไปละหมาดในวันอีฎิ้ลฟิตริ สิ่งของที่ใช้ในการบริจาค โดยใช้สิ่งของที่บริโภคเป็นอาหารหลัก
- การอาบน้ำในวันฮารีรายอ เมื่อปฏิบัติภารกิจเสร็จ จะอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเรียกว่า อาบน้ำสุนัต กำหนดเวลาอาบตั้งแต่เที่ยงคืนเริ่มต้นวันฮารีรายอ จนถึงพระอาทิตย์ตก แต่เวลาที่ดีที่สุดและเป็นที่นิยมอาบน้ำสุนัต คือเมื่อแสงอรุณขึ้นขอบฟ้าในวันฮารีรายอ ในขณะอาบน้ำสุนัตทุกคนจะต้องกล่าว ดุอารี เป็นการ ขอพร
- การประกอบพิธีกรรม ชาวมุสลิมจะเดินทางไปประกอบพิธีกรรมที่มัสยิดวันอีฎิ้ลฟิตริจะไปมัสยิด เวลา 8.30 น. วันอีดิลอัฏฮา จะไปมัสยิด เวลา 7.30 น. การปฏิบัติตนเมื่อเดินทางถึงมัสยิด ทุกคนจะอาบน้ำละหมาด จากนั้นจึงเข้าไปในมัสยิด ทำการละหมาด ตะฮีญะดุลมัสยิด 2 รอกาอัต มีการแบ่งแยกหญิงชาย โดยใช้ม่านกั้นกลาง เสร็จแล้วจัดแถวนั่งรอฟังโต๊ะอิหม่าม ซึ่งเป็นผู้นำในการทำพิธีละหมาด
- การละหมาด จะมีโต๊ะอีหม่าม เป็นผู้นำละหมาดจำนวน 2 รอกาอัต ตามประเพณีโบราณซึ่งมีขั้นตอนที่ศักดิ์สิทธิ์ งดงาม และพร้อมเพรียงกัน
- การปฏิบัติตนเมื่อละหมาดเสร็จ หลังจากละหมาดเสร็จแล้ว มุสลิมทุกคนจะนั่งฟังอีหม่ามกล่าวคุฏบะ (คำอบรม) เพื่อแนะแนวทางชีวิตด้านความศรัทธาที่กระตุ้นเตือนให้ปฏิบัติแต่ความดีละเว้นความชั่ว และปฏิบัติตามแนวทางของอิสลาม เพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
จากนั้นอีหม่ามจะขอพรจากพระองค์อัลลอฮเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และบรรดามุสลิมที่มาร่วมประกอบพิธีกรรม
บรรยากาศ ฮารีรายอ ใน จ.ปัตตานี
หลังการประกอบศาสนกิจในฮารีรายอที่มัสยิด เเละสุสาน ช่วงสายชาวมุสลิมเริ่มทยอยเดินทางไปเยี่ยมญาติ เเละท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ อย่างที่มัสยิดกลางปัตตานี มีชาวมุสลิมเดินทางมาเป็นครอบครัว สวมเสื้อผ้าชุดใหม่ สีสันสดใสมาถ่ายรูปกับมัสยิดที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดเเห่งหนึ่งในไทย เเละบริจาคทานให้ผู้ยากไร้ เเละเด็กๆ หรือ ซากาต ในฮารีรายอนี้
มัสยิดกลางปัตตานี สถานที่ประกอบศาสนกิจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย
ในวันอีฎิ้ลฟิตริชาวมุสลิมนิยมใส่เสื้อผ้าของใหม่ ๆ สวยงาม
วันอีฎิ้ลฟิตริ เป็นวันแรกของการออกจากเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม
อ้างอิงข้อมูล : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
อ่านข่าว :
“นพดล ปัทมะ” จากข้อหาคนขายชาติ สู่ นักการทูตซอฟต์พาวเวอร์
วิกฤตภัยแล้งอิตาลี-อินเดียงดส่งออก โอกาสทอง“หอมมะลิไทย”
ทองดีดแรง คาดแตะ 40,000 บาท เช้านี้พุ่ง 350 บาท สูงสุดกว่าทุกปี