สถานที่เกิดเหตุ เป็นโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นเหล็ก เหล็กรูปพรรณ และลวดเหล็ก ของบริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด ตั้งอยู่ใน ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ก่อตั้งโครงการตั้งแต่ปี 2563 มีกำหนดจะแล้วเสร็จ ปี 2569 โดยเป็นการก่อสร้างอาคาร 6 หลัง ในเนื้อที่ 1,000 ไร่
- เครนถล่มทับคนงานในโรงงานระยอง ตาย 7 - ปิดล้อมไม่ให้ จนท.นำศพออกนอกพื้นที่
- เครนถล่ม ตาย 7 คนงานยังปักหลักจี้เยียวยาศพละ 5 ล้าน
เวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 29 มี.ค.อุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างที่ช่าง กำลังรื้อถอนขาปั้นจั่นหอสูง เพื่อลดระดับความสูง ทำให้ปั้นจั่นหอสูง ถล่มลงมา ทับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่ด้านล่าง
คนงานชาวเมียนมา เล่าว่า ปั้นจั่นสูงกว่า 20 เมตร ถล่มลงมาทับนั่งร้าน ที่คนงานกำลังทำงาน จนนั่งร้านพังถล่ม ทำให้คนงานร่วงลงสู่พื้น บางคนถูกเหล็กปั้นจั่นทับ และบางคนตกลงไปในน้ำ แม่บ้านโรงงาน บอกว่า เสียงดังสนั่นคล้ายเสียงระเบิด
ตำรวจ แพทย์ และกู้ภัย เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ แต่แรงงานไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิต โดยต่อรองให้เจ้าของไซต์งาน จ่ายเงินชดเชย ศพละ 5,000,000 บาท จนเกิดการปิดล้อมรถกู้ภัย
เหตุการณ์ยืดเยื้อกว่า 7 ชั่วโมง ตั้งแต่ 16.00-23.30 น. ตำรวจระบุว่า แรงงานกว่า 400 คน ยังรวมตัวเจรจา กดดันเจ้าของโรงงานเรื่องเงินเยียวยา
จนเกือบเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เป็นคนกลาง นำญาติผู้เสียชีวิตร่วมเจรจา จนบริษัทตกลงจ่ายเงินชดเชย ศพละ 1,600,000 บาท คนงานจึงยอมยุติการชุมนุม และแยกย้ายกันกลับ
เช้าวันนี้ (30 มี.ค.) แรงงานกว่า 200 คน รวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันสังคม บางคน เล่าว่า ที่ผ่านมา เมื่อเกิดอุบัติเหตุและเจ็บป่วย ต้องออกค่ารักษาเองทุกครั้ง จึงต้องการทวงสิทธิ์จากนายจ้าง แต่การรวมตัวส่อเค้ารุนแรง มีการขว้างปาของใส่รถนักข่าว จนกระจกแตก
เจ้าหน้าที่ประกันสังคมจังหวัดระยอง ระบุว่า แรงงานอาจไม่เข้าใจสิทธิ์ด้านประกันสังคม จึงรวมตัวกัน แต่หลังเจรจา แรงงานมีท่าทีอ่อนลง
ด้านปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุ ผู้เสียชีวิตทุกคน ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ดังนั้น ลูกจ้างที่เสียชีวิต มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทน เป็นค่าทำศพ รายละ 50,000 บาท และค่าทดแทนกรณีเสียชีวิต รายละ 788,424 บาท
เวลา 15.00 น. การเจรจาได้ข้อ โดยผลการหารือได้ข้อสรุป 8 ข้อ
- ประกันสังคม สมทบกว่า 8 แสน เครนถล่มระยอง รมว.แรงงานย้ำเยียวยาใกล้ชิด
- ผลเจรจาสรุป 8 ข้อ เหตุเครนถล่ม ตร.เร่งสอบปมศพหลังโรงงาน
ทุนจีนเติบโตขยายโรงงานเหล็กในไทย
สำหรับสถานที่เกิดเหตุ เป็นโครงการก่อสร้างโรงงานเหล็กแห่งใหม่ ที่ อ.ปลวกแดง แต่ก็ไม่ใช่โรงงานแรกของบริษัท ซิน เคอ หยวน เพราะก่อนหน้านี้ ได้ตั้งโรงงานเหล็ก ในอีกพื้นที่หนึ่งมาตั้งแต่ 13 ปีก่อน
ซิน เคอ หยวน เปิดกิจการในไทยสองแห่ง คือ ซิน เคอ หยวน สตีล จดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2554 อยู่ที่ อ.บ้านค่าย ผลิตเหล็กเส้นเป็นหลัก ทุนจดทะเบียน 1,530 ล้านบาท ปัจจุบันมีสินทรัพย์รวมกว่า หมื่นล้านบาท กำไรปีล่าสุด 2565 อยู่ที่ 791 ล้านบาท
ส่วนโรงงานที่เกิดเหตุอยู่ใน อ.ปลวกแดง เป็นโรงงานแห่งที่สอง ในชื่อ ซิน เคอ หยวน ทุนจดทะเบียน 6,000 ล้านบาท ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นหลัก สินทรัพย์ของบริษัทนี้กว่า 11,000 ล้านบาท กำไรปีล่าสุด 2565 อยู่ที่ 522 ล้านบาท การก่อสร้างเป็นการขยายโรงงานเพิ่ม
แม้ไทยมีมาตรการไม่ตั้ง ไม่ขยายโรงงานเหล็ก หลังมีข้อเรียกร้องจากอุตสาหกรรมที่ต้องการปกป้องกิจการในประเทศตั้งแต่ปี 2563 แต่ซิน เคอ หยวน จดทะเบียนก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้ จึงสามารถขยายโรงงาน และกิจการเพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่อง จากเป็นโรงงานเหล็กรายใหญ่ที่สุดในไทย
ซิน เคอ หยวน สามารถเข้ามาครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด ด้วยโมเดลธุรกิจ ที่นำโดยทุนจีน นำเข้าเครื่องจักรโดยไม่เสียภาษีจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ และใช้แรงงานข้ามชาติเกือบทั้งหมด ต่างจากบริษัทเหล็กไทย ที่ใช้แรงงานส่วนใหญ่เป็นคนไทย และการนำเข้าเครื่องจักรระยะหลังต้องเสียภาษีเพราะหมดมาตรการบีโอไอมาแล้ว
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โรงงานเหล็กของไทย ขาดโอกาสที่จะพัฒนาประสิทธิภาพและต้นทุน เพราะต้องต่อสู้กับเหล็กที่ต้นทุนต่ำกว่าจากต่างประเทศที่นำเข้ามา รวมทั้งโรงงานเหล็กต่างชาติที่มีความได้เปรียบอยู่หลายประการ โรงงานเหล็กหลายแห่งต้องปิดตัวลง 10 เดือนแรก ของปี 2566
ข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้า พบว่ามีโรงงานเหล็ก 75 แห่ง ปิดตัว ส่วนใหญ่เป็นรายกลางและเล็ก ขณะที่โรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก ที่ดำเนินกิจการนานกว่า 50 ปี ก็ปิดตัวแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สวนทางกับการตั้งโรงงานเหล็กจากจีน ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ การรับโรงงานเหล็กจากทุนต่างประเทศ จึงถูกตั้งข้อสังเกตตลอดมา
อ่านข่าวอื่นๆ :