วันนี้ 22 มี.ค.2567 สำนักข่าว The Japan time รายงานว่า สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่น (NIID) ได้ยืนยันกรณีไข้รุนแรงที่แพร่กระจายจากคนสู่คนเป็นครั้งแรก ด้วยโรคภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (SFTS) ในญี่ปุ่น เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อโดยเห็บ จากผู้ป่วยไปยังแพทย์ที่เข้ารับการรักษา
จากข้อมูลของ NIID ระบุว่าแพทย์คนดังกล่าว ซึ่งเป็นชายอายุ 20 ปี กำลังดูแลผู้ป่วยในวัย 90 ปี ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค SFTS หลังจากเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินเมื่อเดือน เม.ย.2566 เนื่องจากสุขภาพย่ำแย่ แพทย์ได้ทำหัตถการหลายอย่างกับผู้ป่วยที่เสียชีวิตในเวลาต่อมา
รวมถึงการถอดสายสวนออกหลังการชันสูตรพลิกศพ ขณะที่แพทย์สวมหน้ากากอนามัยและถุงมือในระหว่างทำหัตถการ มีรายงานว่าเขาไม่สวมแว่นตา ประมาณ 9 วันหลังจากการเสียชีวิตของผู้ป่วย แพทย์เริ่มมีอาการเป็นไข้และปวดศีรษะ และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น SFTS จากการตรวจสุขภาพ
การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของไวรัสทั้งของแพทย์ และของผู้ป่วยเผยให้เห็นลำดับที่เหมือนกัน ซึ่งยืนยันการติดต่อจากคนสู่คน
แม้ว่ากรณีของการแพร่เชื้อ SFTS จากคนสู่คนจะได้รับการบันทึกไว้ก่อนหน้านี้ในประเทศจีน และเกาหลีใต้ แต่นี่ถือเป็นกรณีดังกล่าวครั้งแรกในญี่ปุ่น
เพื่อเป็นการตอบสนอง NIID ได้เตือนบุคลากรทางการแพทย์ถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการติดเชื้ออย่างละเอียด รวมถึงการใช้อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าเพื่อป้องกันเลือดกระเซ็นจากผู้ป่วย
เช็กอาการโรค SFTS จากเห็บ
ข้อมูลจากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ระบุว่า SFTS เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ severe fever with thrombocytopenia syndrome virus (SFTSV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสใหม่ชนิด RNA มีเห็บเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ พบได้มาก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น อุบัติการณ์การเกิดโรคสูงสุดในประเทศจีน (0.12 – 0.73 ต่อแสนประชากร) รองลงมาคือ เกาหลีใต้ (0.07 ต่อแสนประชากร) และญี่ปุ่น (0.05 ต่อแสนประชากร) มีอัตราการเสียชีวิต 5.3% ยังไม่มีรายงานโรคนี้ในประเทศไทย
อาการของโรคเกล็ดเลือดต่ำ-ไข้สูง
เชื้อ SFTSV ติดต่อโดยมีเห็บ (tick) เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีประวัติถูกเห็บกัดก่อนเกิดอาการ และสามารถตรวจพบเชื้อ SFTSV จากเห็บ และจากสัตว์ที่อยู่บริเวณที่อยู่อาศัยของผู้ป่วย เชื้อชนิดนี้มีวงจรการติดต่อแบบ enzootic tick-vertebrate -tick cycle มีการวนเวียนของเชื้อระหว่างเห็บและสัตว์ที่เป็นรังโรค
ชนิดของเห็บที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญคือ H.longicornis ส่วนสัตว์ที่เป็นรังโรค ได้แก่ แพะ แกะ หมู วัว ควาย สุนัข ไก่ นกบางชนิด หนู และสัตว์ป่าชนิดต่างๆ แต่ยังไม่มีหลักฐานการก่อโรคในสัตว์ การติดต่อจากคนสู่คนยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่มีการรายงานการเกิดโรคในครอบครัวเดียวกัน และมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยก่อนเกิดอาการของโรค
ลักษณะอาการทางคลินิก ระยะไข้ (fever stage) ลักษณะอาการ คือ มีไข้สูง (5-11 วัน) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะพบเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ และมีระดับไวรัส (viral load) สูง
เนื่องจาก การตรวจหาไวรัส โดยวิธี virus isolation และ reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT–PCR) ซึ่งวิธี RT-PCR มีค่าความไว และความจำเพาะสูง การตรวจหาไวรัส ควรตรวจในช่วงที่มีระดับไวรัสสูง (high-titer viremia) คือในวันที่ 1-6 ของโรค
ส่วนการตรวจหาแอนติบอดีชนิด IgM และ IgG โดยวิธี serum neutralization test, indirect immunofluorescence assay และ enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) ซึ่งระดับแอนติบอดี จะเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ของโรค โดยที่ IgM จะมีระดับสูงสุดในสัปดาห์ที่ 4 และจะลดลงจนไม่สามารถตรวจพบได้ 1 ปีหลังจากการติดเชื้อ และ IgG จะมีระดับสูงสุดในเดือนที่ 6 และสามารถตรวจพบได้ต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี