ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักรบจรยุทธ์ “พิชิต ไชยมงคล” เปิดใจ คปท.ไร้ท่อน้ำเลี้ยงการเมือง

การเมือง
21 มี.ค. 67
18:32
2,663
Logo Thai PBS
นักรบจรยุทธ์ “พิชิต ไชยมงคล” เปิดใจ คปท.ไร้ท่อน้ำเลี้ยงการเมือง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เป็นนักรบจรยุทธ์ ปักหลักเชิงสะพานชมัยมรุเชฐข้างทำเนียบรัฐบาล นานเกือบ 2 เดือน เป็นม็อบการเมืองกลุ่มเล็กๆ ในนาม เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย “ตั้ม” พิชิต ไชยมงคล และ “นัสเซอร์ ยีหมะ”ในฐานะแกนนำ คปท.และกลุ่มเพื่อนสหายกองทัพธรรมจากสันติอโศกร่วมสนับสนุนชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลนำ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี กลับไปรับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

หลังจากที่พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจมาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2566 และขอให้หน่วยราชการ ทั้งเจ้าหน้าที่ รพ.ตำรวจ และกรมราชทัณฑ์ต้องถูกลงโทษ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ยังขอให้บุคลากรด้านกฎหมาย แสดงจุดยืนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทำลายระบบยุติธรรม หรือไม่

อีกทั้งการขับเคลื่อนให้ประชาชนเข้าชื่อ 2 หมื่นรายชื่อเอาผิด ป.ป.ช.ที่ไม่ตรวจสอบผู้กระทำความผิดเรื่องช่วยเหลือ “ทักษิณ” ที่ขณะนี้ได้รับการพักโทษไปอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า และยังได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ จ.เชียงใหม่เมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ไม่ตั้งเป้าล้มรัฐบาล แค่กระตุกต่อมสังคม

“ม็อบ คปท.จุดไม่ติด ผมไม่ถือว่า เป็นการปรามาส แต่เป็นการมองที่แตกต่างกัน เพราะจุดประสงค์ของ คปท.ที่ออกมาเคลื่อนไหว มันไม่ใช่การชุมนุมใหญ่เพื่อโค่นล้มรัฐบาล เราแค่ต้องการส่งเสียงให้สังคมทราบว่า วันนี้ มีกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว จึงอยากเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปตามทางที่ควรจะเป็น” พิชิต กล่าว

แม้จะเป็นนักกิจกรรมและเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษาในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ตั้งแต่ปี 2546 ร่วมกับ “สุริยะใส กตะศิลา” และ “เอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือคนอื่นๆ ที่ปัจจุบันเลิกทำกิจกรรมทางการเมือง หันไปเอาดีทางด้านอื่นๆ หมดแล้ว

แต่ พิชิต ก็ยังคงขับเคลื่อนกิจกรรมการเมืองในวงเล็กๆ ต่อไป ประหนึ่งเป็นการเปิดหน้าท้ารบ จรยุทธ์ยืดเยื้อ ประหนึ่งไม่ได้หวังผลทางการเมือง เพราะหากดูข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้น เหมือนจะแพ้แต่ก็ไม่แพ้ และก็ไม่ได้มีวี่แววที่จะชนะ หากนับจากฐานมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรมการเมืองในแต่ละวัน

หากสังคมตั้งคำถามร่วมกัน เรื่องนายทักษิณ แม้จะไม่ได้เข้ามาชุมนุมกับเรา ผมมองว่า เบื้องต้นสิ่งที่ คปท.ทำสำเร็จแล้ว คือ สร้างความจริงให้ประชาชนในสังคมเห็นร่วมกันว่า เขามีอภิสิทธิ์เหนือกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องไล่รัฐบาลได้ หรือไม่ได้

เป้าหมายที่สำคัญที่ คปท.ต้องออกไปยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนจะกลับมาปักหลักเปิดเวทีชุมนุม เพราะแค่ต้องการพูดความจริงทิ้งไว้ให้สังคมรับทราบว่า วันนี้กระบวนการยุติธรรมถูกทำลายไปแล้ว ด้วยฝีมือของอดีตนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐ

หาก คปท.ทำได้ข้อใด ข้อหนึ่งถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แม้จุดมุ่งหมายสูงสุด คือต้องการให้ นายทักษิณ กลับเข้าสู่เรือนจำ และข้าราชการที่ให้ความช่วยเหลืออดีตนายกฯ จะต้องได้รับการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง แทบจะเป็นไปได้ยาก

แต่สำหรับ พิชิต ในฐานะแกนนำ กลับมองว่า การเคลื่อนไหวของ คปท.ประสบความสำเร็จเกินคาด  ไม่ได้วัดจากจำนวนของผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม แต่วัดจากกระแสสังคม เพราะทุกวันนี้ ทุกคนถามคำถามเดียวกันว่า การกระทำดังกล่าวของอดีตนายกฯ ที่โกงได้แม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศ

แม้เขาจะไม่ได้กลับเข้าเรือนจำอีกก็จริง แต่ในอนาคตข้างหน้าเรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐาน เพราะสังคมจะตั้งคำถามกับเขาเอง และหลังจากนี้ผู้ที่ต้องรับผลของการกระทำของนายทักษิณ คือ พรรคเพื่อไทย และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในระยะยาวสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนความจริงออกมา

พื้นที่ภาคประชาชน พิสูจน์ตัวเอง โจทย์ใหญ่ คปท.

สำหรับกลุ่มในส่วนของคนรุ่นใหม่ แม้ส่วนใหญ่จะไม่รู้จักอดีตนายกฯทักษิณ แต่ก็ใช่ว่าจะเทใจไปให้พรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับคนเสื้อแดงหรือเหลืองบางส่วน ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นแนวร่วมมุมกลับผลักให้ไปอยู่กับพรรคก้าวไกล และมีแนวโน้มว่า อาจส่งผลให้พรรคก้าวไกลมีคะแนนเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

พิชิต กล่าวว่า สำหรับ คปท.ไม่ได้คิดในมุมนั้น หากพรรคเพื่อไทย บริหารประเทศและทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ก็ต้องออกมาตั้งคำถาม เช่นเดียวกัน ถ้าพรรคก้าวไกลทำแบบนี้ ก็คงต้องออกมา เราจึงอยากสร้างพื้นที่การเมืองใหม่ของภาคประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ที่ไม่ใช่ 2 ขั้วคือ หันซ้ายก็เจอเพื่อไทย และหันขวาก็พบก้าวไกล 

แม้การสร้างพื้นที่ทางการเมืองใหม่จะเป็นเรื่องยากและท้าทายความสามารถมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ กระแสปฏิรูปการเมืองเคยถูกชูขึ้นมารอบหนึ่ง ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่ม กปปส.แต่กลับถูกทำลายเพราะคนของ กปปส.ที่ไปตั้งพรรคการเมือง และออกมาขับเคลื่อนทางการเมือง ไม่มีการสานต่อภารกิจเดิม จึงทำให้กระแสปฏิรูปการเมืองถูกปฏิเสธ ส่งผลต่อมวลชนส่วนหนึ่งและอาจจะเป็นส่วนใหญ่ โดดเข้าไปเข้าร่วมกับพรรคก้าวไกล

“การชูคำว่า ปฏิรูปในช่วงนี้จึงเป็นเรื่องยาก ต้องใช้กระบวนการทำความเข้าใจ และสร้างเชื่อมั่นดึงเพื่อมวลชนเดิมให้กลับมาให้ได้ ดังนั้น คปท.จึงต้องพิสูจน์ รักษาจุดยืนไว้ อย่างน้อยจะได้สร้างพื้นที่การเมืองภาคประชาชน ให้กลับขึ้นมาใหม่” แกนนำ คปท.ระบุ

ไร้ท่อน้ำเลี้ยงการเมือง “กองทัพธรรม-แม่ยก”  

ตามปกติการม็อบ หรือการทำมวลชน ส่วนใหญ่ จำเป็นต้องมีท่อน้ำเลี้ยงและได้รับการสนับสนุนจากนักการเมือง แต่สำหรับม็อบกลุ่มเล็กของ คปท. พิชิต บอกว่า มีเพียงสมาชิกจำนวนหนึ่งและกองธรรมทัพของสันติอโศกเป็นกองหนุน ส่วนผู้ที่เข้ามารับฟังการปราศรัยและร่วมกิจกรรม ส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย เดินทางมาในช่วงเย็น หลังฟังปราศรัยเสร็จ ช่วงดึกก็เดินทางกลับบ้าน

“ผู้ที่ให้การสนับสนุน คปท.และอยู่เบื้องหลัง คือ พ่อยก แม่ยก ทั่วไปที่ไม่ได้มีสายป่านยาว แบบนาย ทุนทางการเมือง ซึ่งการมีบุคคลทั่วไปแล้ว สนับสนุนให้เราอยู่มายาวได้ขนาดนี้ ในทุกๆ วัน แสดงว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังเห็นด้วยกับแนวทางของ คปท. เป็นสิ่งที่วัดผลสำเร็จได้อีกมุมหนึ่งเช่นกัน”

แกนนำ คปท.กล่าวว่า การไร้ท่อน้ำทำให้มีความสบายใจมากกว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเมืองภาคประชาชน เพราะไม่ได้โตจากท่อน้ำเลี้ยงสายใด สายหนึ่ง หรือพรรคใด พรรคหนึ่ง แต่เติบโตมาจากด้วยความบริสุทธิ์ และอุดมการณ์ที่ต้องการจะทำจริงๆ

สำหรับการชุมนุมของกองทัพธรรม และชาวบ้านที่มาร่วมทุกครั้ง ในฐานะแกนนำ คปท. มองว่า ไม่ได้เกินธงที่ตั้งไว้ และไม่ได้สร้างความเดือดร้อนอะไรมาก ถือเป็นแนวทางสันติวิธีที่คุมโทนได้ และยังอยู่ในกรอบการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่

อยากแจ้งให้หน่วยงานความมั่นคงรับทราบว่า ไม่ต้องไปสืบอะไร บอกก็ได้ว่า คปท.ไม่มีใครสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ไม่มีน้ำเลี้ยงจากนักการเมือง ยังใช้การขอรับบริจาคอยู่เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหว

“ไม่มีแหล่งทุนใหญ่ ไม่ใช่มาจากพรรคการเมือง เราก็ปฏิเสธอยู่แล้ว ก็ไม่มี และปฏิเสธที่จะมีด้วย  การเคลื่อนไหวของ คปท.ยังไงก็ไม่ชนะ และยังไงก็ไม่แพ้ เพราะถึงอย่างไร ทักษิณ ก็ได้ออกมา เราก็ไม่ชนะ แต่คนก็จะเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ เขาเห็นร่วม มีความรู้สึกร่วม เห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ แต่เขาจะไม่ออกมาชุมนุมกับพวกเรา ดังนั้นการต่อสู้ของเรา จึงยังไม่แพ้ และยังไม่ชนะ แต่คนจะเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ”

พักเวทีจรยุทธ์ เปิดสนามขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

นานเกือบ 2 เดือนที่ คปท.ใช้เวลาการจรยุทธ์และขับเคลื่อนทางการเมือง โดยในวันที่ 10 เม.ย.นี้จะพักเวทีชุมนุมชั่วคราว หลังได้รับคำตอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าจะตั้งคณะกรรมการไต่สวนชี้มูลความผิดกับข้าราชการ โดยการตั้งองค์คณะขึ้นมาเพื่อชี้มูลความผิดหรือไม่ หรือจะขยายเวลาสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม และเงื่อนไขที่ 2 คือ รอดูว่าอัยการจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องอดีตนายกฯทักษิณ กรณีมาตรา 112 หรือไม่ 

การเคลื่อนไหวของ คปท.พิชิต บอกว่า อาจถูกสังคมมองว่า ไม่มีน้ำหนัก แต่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยและ น.ส.แพทองธาร ลูกสาวทักษิณ ในระยะยาว และหากยังฝืนทำแบบนี้ต่อไป ในอนาคตก็จะมีคำถามสวิงกลับไปที่เขาว่า เคยบอกจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำการเมืองแบบใหม่ แต่กลายเป็นมาสานงานการเมืองต่อเพื่อช่วยพ่อ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวิตร อดีตนายกฯ เดินทางกลับมาแล้วไม่ต้องติดคุกอีกคน เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป จำนวน สส.ของพรรคเพื่อไทยอาจจะลดน้อยลง และสวิงกลับไปเพิ่มที่พรรคก้าวไกลแน่นอน ซึ่งสาเหตุไม่ได้เกิดจาก คปท.ออกมาตั้งคำถาม แต่เป็นเพราะพรรคเพื่อไทย และอดีตนายกฯทั้ง 2 คนที่ทำให้พรรคก้าวไกลเติบโต

“ไม่ว่าพรรคการเมืองไหน จะเติบโต หรือลดน้อยลง แต่หน้าที่ของการเมืองภาคประชาชน ก็ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบต่อไป เราไปยุ่งอย่างอื่นไม่ได้ และต้องไม่ไปเรียกทหาร ให้เข้าไปทำ รัฐประหาร ซึ่งพวกผมปฏิเสธมาโดยตลอด ไม่อยากเรียกและไม่เคยเรียก” พิชิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากปิดเวทีชุมนุมแล้ว สิ่งที่อยากทำ คือ การตรวจสอบและชูประเด็นเรื่องการปฏิรูปให้เดินหน้าต่อไปให้ได้ ซึ่ง คปท.อาจต้องขยับให้มากกว่าการชุมนุม และขับเคลื่อนในเชิงนโยบายมากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยรังสิต กับ คปท.จะเป็นเจ้าภาพร่วมกัน

“ผมยังมีไฟ ในการเคลื่อนไหว ที่จะออกมาชุมนุมอยู่ หากใช้คำว่าอุดมการณ์ มันจะดูเวอร์ไป ถือเป็นความชอบส่วนตัว ที่ต้องดำรงการเคลื่อนไหวอยู่ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา จนถึงปัจจุบัน มีความฝันและคาดหวังจะเห็นสังคมมีความเป็นธรรมให้มากที่สุด เหมือนภารกิจต่อเนื่อง ทำให้ทิ้งไม่ได้ ตราบใดที่การเมืองยังไม่มีการปฏิรูปที่แท้จริง ” พิชิต ทิ้งท้าย

อ่านข่าวอื่นๆ :

“ดาบเดียว” ฟันฉับ 2 บิ๊กตร. การันตีนายกฯ ของจริง

กก.สอบข้อเท็จจริงขัดแย้งใน ตร.ยันทำความจริงให้ปรากฏ ไม่มีมวยล้ม

นายกฯ สั่ง "บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก" ช่วยงาน 60 วัน รอผลสอบ ยันไม่ใช่ลงโทษ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง