กลุ่มจิตอาสาดับไฟป่าบ้านหนองหอย มีจำนวนประมาณ 200 คน แบ่งออกเป็น 15 กลุ่ม กลุ่มละ 10-15 คน จะผลัดเปลี่ยนมาทำภารกิจป้องกันไฟป่าทุกวันโดยไม่มีค่าตอบแทน โดยเทศบาลตำบลแม่แรม อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม สนับสนุนงบประมาณเป็นค่าอาหาร 2 มื้อ และ น้ำมันเชื้อเพลิง รวมวันละ 800 บาท
สุรินทร์ นทีไพรวัลย์ ผู้ใหญ่บ้านหนองหอย
สุรินทร์ นทีไพรวัลย์ ผู้ใหญ่บ้านหนองหอยเล่าว่าชายหนุ่มที่แต่งงานแล้วทุกคนในหมู่บ้านหนองหอยมีหน้าที่ป้องกันไฟป่ามากว่าสิบปีแล้ว เพื่อรักษาป่าไม้ให้มีความสมบูรณ์ เพราะหากเกิดไฟป่าก็จะส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวดอยม่อนแจ่ม ซึ่งเป็นแหล่งรายได้จากธุรกิจบริการท่องเที่ยวของชาวบ้าน
การดูแลไฟป่าต้องมาจากสามัญสำนึก อันดับแรก คือ ไม่ถามเรื่องงบประมาณ แต่เราต้องลงมือทำก่อน งบประมาณมีเท่าไหร่ก็เท่านั้น ทุกคนที่มา ถือเป็นจิตอาสา
บ้านหนองหอยอยู่ในเขตเทศบาลตำบลแม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 1 ใน 19 อปท.นำร่อง ที่ คณะกรรมการการกระจายอำนาจองค์กรส่วนท้องถิ่น หรือ ก.ก.ถ. ออกประกาศเรื่อง การกำหนดกิจการอื่นใดที่เป็นผลของประชาชนในท้องถิ่นที่เป็นหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา
ในประกาศฉบับนี้ ให้ อปท.มีหน้าที่ในการช่วยเหลือ สนับสนุน ประสานงานและร่วมดำเนินการกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในกิจการด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
วิชิต เมธาอนันต์กุล นายกเทศมนตรีตำบลแม่แรม
วิชิต เมธาอนันต์กุล นายกเทศมนตรีตำบลแม่แรม ระบุว่า ในการแก้ปัญหาไฟป่าทางเทศบาลอุดหนุนงบประมาณแก่ทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละประมาณ 1 หมื่นบาท ถือเป็นจำนวนเงินที่น้อยนิด แต่สำหรับบ้านหนองหอย ชาวบ้านได้เรียนรู้ว่าทรัพยากรป่าไม้ให้ประโยชน์อะไรแก่พวกเขาบ้าง ชุมชนจึงหาวิธีการบริหารจัดการ และ มีความเข้มแข็งในการทำงาน สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าตัวเงิน หรือ งบประมาณอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ เท่ากับความตระหนักรู้ของชุมชนเอง
จึงมีความเห็นว่าการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีภารกิจในการป้องกัน และ ดับไฟป่า ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ คือ การสร้างจิตสำนึก และ ความหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งให้ชุมชนมีสิทธิ์ในการรักษาผืนป่ามากกว่าที่เป็นอยู่
แม้รัฐจะกระจายอำนาจ และ ทุ่มงบประมาณไปเท่าไหร่ แต่ก็อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้เท่ากับการสร้างจิตสำนึก และ ควรให้สิทธิ์ในการรักษาผืนป่า เพราะการแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่า ไม่ใช่การทำงานแค่เดือนมกราคม-เมษายน แต่ต้องทำทั้งปี
นอกจากเทศบาลตำบลแม่แรมแล้ว อบต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ก็เป็น อปท. 1 ใน 19 แห่ง ที่ ก.ก.ถ. ประกาศ ให้เป็น อปท.นำร่องสนับสนุนและช่วยป้องกันและดับไฟป่าร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุชายอายุ 39 ปี หายตัวไปหลังเข้าไปช่วยดับไฟป่า และ ทำแนวกันไฟ ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนขาน พื้นที่บ้านปงไคร้ ก่อนที่ชาวบ้านช่วยกันระดมค้นหาจนพบว่าเสียชีวิตอยู่บนเขา โดยคาดว่าเกิดจากการสำลักควันหมดสติ และ พลัดตกเขา
วัน ม่วงมา นายก อบต.โป่งแยง
วัน ม่วงมา นายก อบต.โป่งแยงเปิดเผยว่าในปีนี้ ได้ตั้งงบประมาณ 3 แสนบาท สำหรับอุดหนุนชุมชน 10 หมู่บ้านจัดเวรยามป้องกันไฟป่า และ ทำแนวกันไฟป่า แต่ในฤดูไฟป่างบประมาณเหล่านี้ ก็ยังไม่เพียงพอ และ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชน
โดยกรณีการกระจายอำนาจให้เป็น อปท.นำร่อง สนับสนุนการดับไฟป่า ก็เตรียมจัดทำแผนเพื่อของบประมาณเพิ่มเติม โดยเฉพาะการจัดจ้างชุดดับไฟป่าเคลื่อนที่เร็ว
เราจ้างเหมาเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังไฟป่าอยู่ที่ อบต.มีรถเคลื่อนที่เร็วไปช่วยชุมชน และ ชาวบ้านซึ่งทำหน้าที่เวรยามประจำวันละ 6 คน หากเกิดไฟป่าก็จะประกาศเสียงตามสาย ระดมคนมาช่วยดับไฟ
ส่วนสิ่งสำคัญในการดับไฟป่า นายก อบต.โป่งแยง เห็นว่า ควรมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และ พื้นที่ข้างเคียง เพราะไฟป่ามักเกิดขึ้น และ ลุกลามข้ามเขต
สำหรับประกาศ ให้ อปท.มีหน้าที่ในการช่วยเหลือ สนับสนุน ประสานงานและร่วมดำเนินการกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ อปท. จะต้องสอดคล้องกับแผนบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมาย
มีการจัดทำแผนงาน เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมไฟป่า จัดทำแผนการเยียวยาความเสียหาย มีระบบแจ้งเตือน และ ตรวจตรา มีการจัดตั้งหมู่และอาสาสมัคร จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ และ ให้กรมอุทยานฯ ให้คำแนะนำและการฝึกอบรม รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จำเป็น รวมถึงพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการ หรือ พนักงานส่วนท้องถิ่น เป็นเจ้าพนักงาน หรือ ผู้ช่วยพนักงานตามกฎหมาย
รายงาน : พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ