ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สอบเส้นทางเงินโรงงาน สกัด "ยางเถื่อน" ลักลอบนำเข้าจากชายแดน

เศรษฐกิจ
20 มี.ค. 67
14:13
945
Logo Thai PBS
สอบเส้นทางเงินโรงงาน สกัด "ยางเถื่อน" ลักลอบนำเข้าจากชายแดน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แม้ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางพาราจะปรับสูงสุดขึ้นในรอบ 7 ปี แตะเกือบ 100 บาท ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางต่างยิ้มแก้มปริไปตาม ๆ กัน โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงตลาด

อาจเคลมได้ว่าเป็นผลงานในรอบ 6 เดือนของรัฐบาลชุดนี้ก็ว่าได้ที่พยายามเดินหน้าผลักดันราคายางพาราให้ทะลุขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกิโลกรัมละ 63 บาท ขยับเป็น 70-80 และ 90 บาท เพียงช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือน

สถานการณ์ราคายางที่ซื้อขายผ่านสำนักงานตลาดกลางยางพารา ของ กยท. วันที่ 18 มี.ค.2567 ราคาซื้อขายยางแผ่นรมควัน อยู่ที่ 94.04 บาท/กก.และคาดว่าจะยังคงอยู่ในทิศทางแนวโน้มขาขึ้นต่อไป

แต่เหรียญย่อมต้องมี 2 ด้านเสมอ แม้ราคายางของไทยจะปรับตัวสูงขึ้นส่งผลดีต่อเกษตรกร แต่อีกด้านหนึ่งอาจกลายเป็นช่องโหว่ โดยมีการลักลอบนำยางพาราจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา

และใช้วิธีสวมสิทธิเป็นยางพาราของไทย ด้วยการกว้านซื้อยางราคาถูก มาขายให้รัฐในราคาที่แพงกว่า เพื่อแลกกับการได้รับเงินส่วนต่าง

จึงน่าจับตามองว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นซ้ำรอยกับในอดีตหรือไม่ นอกจากนี้ รัฐจะมีมาตรการป้องกันและปราบปรามปัญหาการลักลอบขนยาพาราเกษตรเถื่อนเข้ามาเอาเปรียบเกษตรกรได้อย่างไร

ฤดูแล้ง"ผลผลิตน้อย"ทำราคายางพาราพุ่ง  

“ไทยพีบีเอสออนไลน์”ได้รับการเปิดเผยจาก นางสมคิด เกษตรกรชาวสวนยาง ในพื้นที่ จ.ระนอง ว่า มีพื้นที่ปลูกยางพาราจำนวน 48 ไร่  เมื่อปี2566ได้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 18,000 กิโลกรัม ส่วนปีนี้ คาดว่า จะได้ผลผลิต 25,000 กิโลกรัม

เกษตรกรรายเดิม บอกว่า ราคายางพาราที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำยาง ออกน้อย และชาวสวนทางใต้เริ่มปิดหน้ายาง คือ หยุดกรีดยาง เพื่อให้ต้นยางปรับสภาพรอจนกว่าฝนจะตกถึงจะเริ่มกรีดยางอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบราคายางแผ่น ชั้น 3 ในช่วงเวลาเดียวกัน กล่าวคือ เดือนม.ค.2566 และม.ค. 2567 พบว่า ราคาช่วงปี 2566 จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 35-45 บาท แต่ปัจจุบันราคาปรับขึ้นมา 80-85 บาทต่อกิโลกรัม หรือร้อยละ 45-50 ถือว่า ราคาดี ทำให้ชาวสวนลืมตาอ้าปากได้

เกษตรกรสวนยางในพื้นที่ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วงนี้ปริมาณยางภายในประเทศน้อยลง น้ำยางดิบออกน้อยเพราะสภาพอากาศที่ร้อน ส่งผลให้ปริมาณยางในตลาดลดลง เดือนมี.ค.นี้จึงเริ่มหยุดกรีดยาง ประกอบกับที่ผ่านมารัฐบาล มีการกวดล้างยางเถื่อนที่ทะลักเข้ามาจากเมียนมาอย่างหนัก ซึ่งราคาระดับนี้เกษตรกรถือว่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับยางแผ่น ชั้น 3 ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนราคาถือว่าสูงขึ้นมาเกือบร้อยละ 80 โดยช่วงมี.ค.2566 ราคายางแผ่นชั้น จากเดิมราคา 35-40 บาท ขึ้นมาตอนนี้ 80-85 บาทต่อกิโลกรัมถือว่าสูงสุด

จี้รัฐแก้ปัญหาลักลอบนำเข้ายางเถื่อน

แม้ปัจจุบันราคายางพาราจะดีดขึ้นสูง แต่ในระยะยาวเกษตรยังมีความวิตกกังวลกับความผันผวนราคายาง และนโยบายรัฐบาลว่าจะช่วยให้การสนับสนุนอย่างไร

โดยเฉพาะเมื่อถึงช่วงฤดูกาลเปิดยางและผลผลิตออกเต็มที่ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวสวนยาง มักจะถูกนายทุน ลานรับซื้อกดราคารับซื้อ ยังไม่รวมถึงการลักลอบนำยางพาราจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายและกดราคายางในประเทศให้ต่ำลงไปอีก 

ด้านนายจำรัส ชาวสวนยางในพื้นที่จ.สุโขทัย กล่าวว่า มีพื้นที่ปลูกยางพารา 17 ไร่ ปีที่ผ่านมาให้ผลผลิตยังไม่มากเพราะ เพิ่งจะเปิดกรีดหน้ายางเพียง 2 ปีเท่านั้น โดยขายเป็นยางก้อนถ้วย รอบตัดช่วงก่อนได้ราคาเพียง 16 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น แต่ปัจจุบันราคาขยับขึ้นมาที่ 25 บาทต่อกิโลกรัมถือว่าราคาดีเกินคาด

ขณะที่แหล่งข่าวในวงการยางพารา ระบุว่า ปัญหาการลักลอบขนยางเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายในไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะลักลอบเข้ามาทางชายแดนจ.ระนอง แบบกองทัพมด เนื่องจากได้ส่วนต่างกำไรจากการลักลอบขนเข้ามา เพราะราคายางของเพื่อนบ้านจะราคาถูกกว่าของไทย 30- 40 บาทต่อกิโลกรัม

เช่น หากลักลอบขนเข้ามา 1ตัน จะได้กำไรประมาณ 30,000-40,000 บาท และหากนำเข้ามา 2 ตัน กำไรก็เพิ่มขึ้น 60,000-80,000 บาท

จึงอยากตั้งคำถามว่า ลานรับซื้อทราบหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่ารู้แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ และแม้มีการตรวจสอบจริงก็อาจจะเป็นการสำแดงเท็จที่เจ้าหน้าที่อาจจะตรวจสอบไม่พบ

อยากให้รัฐบาลเข้มงวดกวาดล้างขบวนการลักลอบขนยางเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขนเข้ามาทางด้านท่าน้ำ ซึ่งเป็นท่าเถื่อนต่างตามแนวชายแดน แม่น้ำกระบุรี ที่ บ้านนาน้อย บ้านหาดจิก บ้านจอมแห บ้านหวายแดง โดยใช้วิธีแบบกองทัพมด 

กยท.ลุยสอบเส้นเงินโรงงานลักลอบขนยางเถื่อน

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) กล่าวว่า ปัญหาลักลอบขนบยางเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีอย่างต่อเนื่องและมาแบบกองทัพมด เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด่านชายแดนที่จะต้องปราบปรามจับกุม 

กยท. จะไม่ลงไปตามจับ แต่จะปรับแผนเป็น ตรวจสอบเส้นทางการการเงินของโรงงาน ยีปั๊ว ลานรับซื้อแทน หากถูกจับ ก็ต้องชี้แจงมที่มาที่ไปของยางพาราและเส้นทางการเงินให้ได้ว่า เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับใคร ลักลอบนำเข้ามาจริงหรือไม่

โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด คณะทำงานชุดแรก บอร์ดกยท.ได้อนุมติเรียบร้อยแล้ว มีหน้าที่ในการตรวจเส้นทางการเงินโดยเฉพาะ

ส่วนอีกคณะฯจะเป็นชุดของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งต้องรอให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เซ็นอนุมัติ โดยมีตนเป็นประธานตรวจสอบโดยทั้งสองชุดจะมี ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และกยท.เพื่อตรวจเส้นทางการเงินอย่างเดียว

จากข้อมูลพบว่าในแต่ละปีจะมีขบวนการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนจากเพื่อนบ้าน ขนเข้ามาขายในไทยจำนวนถึง 300,000 ตัน และพื้นที่ที่ยังมีการลักลอบเข้ามามาก ยังอยู่พื้นที่ในจังหวัดใกล้ชายแดน เช่น จ. กาญจนบุรี และจ.ระนอง

และปัจจุบันเริ่มมีลักลอบนำเข้ามาทางชายแดนด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวจำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขและใช้กฎหมายที่เด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวสวนยางไทยเสียเปรียบอีกต่อไป

ประธานบอร์ดกยท. ทิ้งท้ายว่า สำหรับราคายางที่ปรับขึ้นมา 90 บาทต่อกิโลกรัม น่าจะสูงสุดในรอบ 7 ปี และเชื่อว่าชาวสวนยางน่าจะได้เห็นราคายางกลับไปทะลุ 100 บาทต่อกิโลกรัมแน่นอน

อ่านข่าวอื่นๆ:

ราคาทองผันผวน ปรับลด 100 บาท ลุ้นเฟดประชุมปรับลดดอกเบี้ย

 ชาวนาไทยวางแผนปลูกข้าวเพิ่ม ราคาพุ่งสูงในรอบ 16 ปี

แห่ลงทะเบียน รัฐช่วยลด "ค่าไฟ-น้ำ" ยืนยันตัวตนทะลุ 13.8 ล้านคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง