“หนังสือ” คือ 1 ใน 11 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อเป็นโอกาส “สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจใหม่” ด้วยการเข้าไปสนับสนุนและพัฒนาทุกศักยภาพของคนไทยผ่านนโยบายต่าง ๆ โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม “ด้านหนังสือ”
นายจรัญ หอมเทียนทอง ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ เปิดเผยว่า รัฐบาลชุดนี้เห็นความสำคัญของหนังสือจนนำมาสู่ซอฟต์พาวเวอร์ ดังนั้นถือว่าเริ่มนับหนึ่งแล้ว
คณะอนุกรรมการ มองว่าสิ่งที่สำคัญ คือ ต้องการให้คนไทยได้อ่านหนังสือ จึงได้เสนอ 3 โครงการ คือ การตั้งสถาบันหนังสือ ให้รัฐบาลสนับสนุนการจัดงานหนังสือ วิธีการทำให้คนเข้าถึงหนังสือ คือ ห้องสมุด พัฒนาห้องสมุดให้ตอบโจทย์กับชุมชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เสนอโครงการไปยังรัฐบาล
จรัญ หอมเทียนทอง ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ
โชคดีที่คนในวงการหนังสือยอมรับและให้โอกาสคณะอนุกรรมการฯ ทำงาน
ทุกวันนี้สิ่งที่ขอร้องคนในวงการหนังสือ อย่าใจร้อน ค่อยๆ ทำ เพราะเริ่มต้นจากศูนย์ รัฐบาลเหลียวมามอง ต้องรักษา
- คนดัง "อัจฉรา-ถกลเกียรติ" แท็กทีมใหม่ซอฟต์พาวเวอร์
- "บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์" ทุ่ม 5,164 ล้านบาท ดัน "เฟสติวัล-อาหาร-ท่องเที่ยว"
สาขาหนังสือ กับงบประมาณ 69 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณ 69 ล้านบาทที่รัฐบาลจัดสรรให้ ดูเหมือนจะน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับซอฟต์พาวเวอร์สาขาอื่นๆ แต่คุณจรัญบอกว่า งบประมาณได้จากการเสนอโครงการต่างๆ เป็นงบประมาณต่อปี ไม่ได้มองว่ามากหรือน้อย แต่ 69 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่เยอะ เพราะที่ผ่านมา เริ่มต้นจากศูนย์ไม่เคยได้งบประมาณใดๆ
สถาบันหนังสือแห่งชาติ สำคัญอย่างไร
“70% ของความรู้มาจากการอ่าน”
สถาบันหนังสือแห่งชาติ ไม่ได้สอนให้เรียนหนังสือ แต่สอนให้อ่านหนังสือและจัดการด้านความรู้ ซึ่งความรู้นี้ก่อให้เกิดความคิด และความคิดนั้นจะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในที่สุด
คุณจรัญ กล่าวว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งมีกำหนดยื่น พ.ร.บ. เมษายนนี้ เป้าหมายที่วางไว้จะเสร็จเดือนตุลาคม และจะให้สถาบันหนังสือแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งในนั้น
ต้องเริ่มฝึกการอ่านให้เป็นความเคยชิน และการอ่านเกิดจากบุคคลสำคัญในประเทศพูดถึงเรื่องการอ่าน การจัดงานหนังสือ
และหวังว่าภายในปีนี้สถาบันหนังสือแห่งชาติเริ่มก่อร่างสร้างตัวได้ หลัง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวผ่าน ต้องมีการหารือกันในองค์กรหน่วยงานหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมนักแปลฯ และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อกำหนดรูปแบบร่วมกัน
จัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติเพื่อจัดการความรู้ ไม่ได้มีความซ้ำซ้อน เป็นการจัดการความรู้ทั้งระบบ
สถาบันหนังสือแห่งชาติ ถือเป็นเป้าหมายหลักหนึ่งของคณะอนุกรรมการ ซึ่งในอดีตเรื่องนี้เคยมีการศึกษาแล้ว แต่ติดปัญหา แต่ทั้งนี้ได้นำหลักการเดิมมาปรับแต่งใหม่
สถาบันหนังสือไม่ได้สอนให้ใครอ่านออกเขียนได้ แต่สอนให้คนอ่านหนังสือ การอ่านคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต การอ่านเป็นต้นต่อที่จะให้ตัวเอง ประเทศชาติ ลดค่าใช้จ่ายลง สิ่งที่ต้องทำด่วน คือการอ่านเพื่อชีวิต อ่านสลากยา แต่สลากยาทุกวันนี้พิมพ์เพื่อให้ถูกกฎหมายคนอ่านแทบมองไม่เห็น เป็นเรื่องใกล้ตัวอ่านเพื่อชีวิต ซึ่งส่วนนี้สถาบันหนังสือจะเข้ามาช่วยจัดการ จึงควรเป็นองค์กรอิสระใช้บริหารเงินเอง จัดทำเอง ไม่ใช่ไปเป็นองค์กรในหน่วยงานของรัฐ และถูกตัดงบประมาณเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนรัฐบาล
รัฐบาลเห็นความสำคัญ ก็อยากให้เห็นความสำคัญต่อ แต่คิดว่าเริ่มต้นมาถูกทางแล้ว
อ่านข่าว : จัดเต็ม 12 วัน! งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2567 เริ่ม 28 มี.ค.- 8 เม.ย.2567
สถาบันหนังสือ ช่วยห้องสมุดให้มีชีวิต
หัวใจของห้องสมุด คือ หนังสือ และในเมื่อหัวใจขอรับบริจาค จะเป็นหัวใจเทียม แล้วร่างกายจะเติบโตได้อย่างไร?
ประเทศไทยไม่มีงบประมาณในการซื้อหนังสือ ซึ่งหนังสือได้จากการบริจาค และถ้าหนังสือที่ไม่ใช้ก็ทิ้งไป อย่าเอาไปให้ห้องสมุด
ภายใน 1 ปี ตั้งเป้าพัฒนา หอสมุดเมือง กรุงเทพมหานคร แถวคอกวัว ให้เป็นบุ๊กส์แลนด์มาร์ค และจะเป็นโมเดลที่พัฒนาขยายไปทุกๆ จังหวัด โดยพัฒนาห้องสมุดที่มีอยู่เดิมแต่ละพื้นที่ 1 จังหวัด 1 ห้องสมุดแลนด์มาร์ก
ห้องสมุดลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้
ทุกวันนี้หนังสือราคาแพง เนื่องมาจากพิมพ์น้อยลง และถ้าทุกวันนี้ห้องสมุดซื้อหนังสือทุกแห่ง หนังสือจะราคาถูกลง 20% ทันที
สำหรับคนในเมืองมีอำนาจในการซื้อหนังสือ แต่สำหรับคนชนบทโอกาสการเข้าถึงหนังสือจะน้อยกว่า ความเหลื่อมล้ำทางความรู้จะห่างขึ้นเรื่อยๆ ห้องสมุดจะเป็นตัวปิดความเหลื่อมล้ำทางความรู้นี้ ซึ่งในหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญกับห้องสมุด
ห้องสมุดที่ดี ควรมุ่งเน้น 3 ดี บรรณารักษ์ดี บรรยากาศดี หนังสือดี ทั้งนี้ ประเทศไทยมีทีเคปาร์คเป็นหน่วยงานเดียวที่ซื้อหนังสือทุกครั้งที่มีการจัดงานหนังสือ
ต่างประเทศห้องสมุดคือผู้ซื้อหนังสือรายใหญ่ แต่ในบ้านเราคือผู้ขอรายใหญ่
facebook : THACCA-Thailand Creative Culture Agency
ผลตอบรับจากงานหนังสือไทเป
งานมหกรรมหนังสือนานาชาติ Taipei International Book Exhibition 2024 (TIBE 2024) ที่ กรุงไทเป ประเทศไทยนำหนังสือไปจัดแสดง 134 เล่ม เป็นหนังสือที่มีความหลากหลาย ทั้งที่ได้รับรางวัลในประเทศ นิยาย วรรณกรรม การ์ตูน รวมถึงนักเขียนที่เดินทางไปร่วมงานด้วย
จากเดิมหนังสือกราฟิก สายเส้นการ์ตูน ได้รับความนิยม ปัจจุบันหนังสือนิยายวายขายได้มากขึ้น
สำหรับงานหนังสือที่ไทเปได้ผลตอบรับที่ดี แต่ไทยมีขีดจำกัด เรื่องภาษาของหนังสือ นักเขียนหลายคน รวมถึงนักเขียนกลุ่มอิสระ ที่มีทุน จะแปลฉบับภาษาอังกฤษ ทำให้มีโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภค
ถ้ามีสถาบันหนังสือแห่งชาติ จะช่วยให้หนังสือเหล่านี้สร้างมูลค่าให้ประเทศ ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านท่องเที่ยว หรือด้านอาหาร
หนังสือไม่ใช่ซากปรักหักพัง ไม่ใช่สินค้า แต่คือวัฒนธรรม
ถ้าหนังสือเป็นสินค้ามูลค่าในหนังสือต้องเยอะ แต่ความเป็นจริงลิขสิทธิ์หนังสือ ราคาไม่ได้มากมาย แต่สิ่งที่ได้จากหนังสือคือวัฒนธรรม เช่น บุพเพสันนิวาส ที่นำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ สิ่งที่ได้คือ สถานที่ท่องเที่ยว เสื้อผ้าไทย และอาหารไทย ที่กลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวหลายคน
"หนังสือ" คือ ซอฟต์พาวเวอร์
นักเขียน คือส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ เพราะก่อนจะคิดทำอะไรก็ต้องเริ่มจากการเขียน หนังสือทำให้เกิดพล็อตเรื่อง นำไปต่อยอดเป็นภาพยนตร์ หนังเรื่องหนึ่งสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล
ภาพยนตร์เรื่อง อวตาร (Avatar) ที่มีอุทยานจางเจียเจี้ยเป็นฉากสำคัญของภาพยนตร์ ท้ายที่สุดผลความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องอวตาร และอุทยานจางเจียเจี้ย มีชื่อเสียงโด่งไปพร้อมๆ กัน และปัจจุบันยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมจำนวนมาก
ทั้งนี้ภาพยนตร์เรื่อง เจมส์บอนด์ ตอน เพชฌฆาตปืนทอง เคยถ่ายทำที่ เขาตะปู จ.พังงา แต่หลังจากภาพยนตร์ลาจอไป ก็ไม่ได้ต่อยอดสิ่งเหล่านั้น
ตัวหนังสือสำคัญมาก ถ้านำหนังสือไปทำเป็นภาพยนตร์ แม้แต่เศรษฐีหลายคนจ้างโค้ดไลท์เตอร์ เพื่อไปเขียนเรื่องราวของตัวเองเป็นหนังสือ
ซอฟต์พาวเวอร์ ส่งผลต่อวงการหนังสือ
สถาบันหนังสือ จะสามารถดูแลนักเขียน นักแปล ที่มีปัญหาต่างๆ ปัจจุบันนักเขียนหลายคนที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ที่ไม่เคยได้รับการดูแล
ปัจจัยความสำคัญ ที่ทำให้เกิดความสำเร็จ หรือความล้มเหลว ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ภาครัฐ ถ้าภาครัฐจริงจัง เข้ามาสนับสนุน และความต่อเนื่อง
ถ้าเห็นแก่เยาวชนในชาติ ถ้าเด็กได้เรียนรู้ อ่านมาก จะทำให้ลดการเกิดปัญหาหลายๆ อย่างได้
อดีต และ ปัจจุบัน กับความนิยมหนังสือ
ในขณะที่หลายคนพูดว่าหนังสือแย่ลง หนังสือขายได้น้อย ส่วนหนึ่งมาจากหนังสือเยอะและหลากหลายมากขึ้น
สมัยอดีตหนังสือน้อย เพราะรัฐบาลเผด็จการจำกัดการเข้าถึง ปัจจุบันหนังสือหายไปเพราะยุคดิจิทัลเข้ามาแทนที่ ที่สามารถเลือกอ่านได้จากหลากหลายแพลตฟอร์ม มีความรวดเร็วกว่า
หนังสือยังได้รับความนิยม หนังสือไม่ได้หายไปไหนแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรูปแบบในการเลือกอ่านให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน
เมื่อได้อ่านในมือถือ หรือ E-BOOK เกิดความชอบ ธรรมชาติต้องการความเป็นเจ้าของ ทำให้อยากได้หนังสือ ก็จะไปซื้อเป็นเล่มแทน
อีกทั้งในออนไลน์ช่วยสร้างนักเขียนหน้าใหม่มากมาย ที่ใช้โซเชียล บล็อก เพจต่างๆ เป็นพื้นที่ในการแสดงผลงานตัวเอง หลายคนที่สร้างตัวเองจากออนไลน์
คุณจรัญให้ความเห็นถึงการปิดตัวลงของร้านเหล่านั้น ว่าเพราะถนนไม่น่าเดิน คนหันไปเดินห้างสรรพสินค้า ที่มีความสะดวกสบาย ร้านเหล่านั้นก็ย้ายไปอยู่ในห้างฯ
หนังสือไม่มีวันตาย
คำนี้ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ หนังสือเป็นสื่อคลาสสิก ความคิดต่อหนังสือเล่มหนึ่งจะเปลี่ยนไปตามวันเวลาที่เติบโตขึ้น
เซเปียนส์ , เดล คาร์เนกี ขายมา 50 ปี ยังมีคนอ่าน แม้แต่เจ้าชายน้อยเปลี่ยนเวอร์ชัน ก็มีคนซื้อ
คนทำหนังสือปัจจุบัน มีคนทำหนังสือมากมาย บางคนทำเองขายเอง รวมไปถึงขายออนไลน์
สำหรับต้นทุนสำนักพิมพ์ สูงขึ้นเป็นธรรมดา หนังสือเป็นสินค้าฝากขาย ไม่ใช่ขายขาด คิดต้นทุนต้องคิดขาดทุนไว้ก่อน ถ้ามีการขายขาดหนังสือจะถูกลง 20%
หนังสือยังอยู่ได้ แต่การอยู่ได้คุณภาพต้องดีกว่าเดิม
ผลักดันเยาวชนให้หันมาอ่านหนังสือ
ต้องเริ่มที่โรงเรียนในการส่งเสริมให้อ่านหนังสือ ให้เข้าห้องสมุด ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เข้าห้องสมุด พาเด็กไปชมวัตถุโบราณ โรงเรียนคือตัวบ่มสอนเด็กให้อ่านหนังสือ แต่หนังสือในห้องสมุดจะถูกจัดการโดยสถาบันหนังสือ ว่าจะจัดสรรหนังสืออะไรให้
เริ่มต้นคือปัจจุบันนี้สำนักงบประมาณควรจะให้โรงเรียนทุกแห่งตั้งงบการอ่าน เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ท้ายที่สุด อยากให้รัฐบาลสนับสนุน ตั้งงบประมาณรายจ่ายจ่ายประจำปีเป็นงบประมาณหนังสือ ช่วยให้ทุกโรงเรียนมีงบประมาณหนังสือ สนุนสนุนการจัดงานหนังสือ รวมถึงให้กระตุ้นเศรษฐกิจด้านหนังสือด้วย
อ่านข่าวอื่นๆ :
ยูเนสโกมอบประกาศนียบัตร "สงกรานต์ไทย" - "ตรุษจีน" คาด นทท.เข้าไทย 8 ล้านคน
หน้าร้อน ทำไมค่าไฟแพงขึ้น ทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิม
ยลโฉมความหรูหรา "SRT Royal Blossom" เตรียมให้บริการกลางปี 67