- ศธ.เตรียมเสนอ "ยูเนสโก" ขึ้นทะเบียน "พิธีไหว้ครู" มรดกโลก
- "ผู้ดูแลกาแห่งหอคอยลอนดอน" ผู้พิทักษ์แผ่นดินและราชวงศ์อังกฤษ
เว็บไซต์ Gofundme ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ระดมทุนหาเงินค่าใช้จ่ายและรักษา "พอล อเล็กซานเดอร์" ผู้ป่วยโปลิโอและต้องใช้ชีวิตในเครื่อง "ปอดเหล็ก" ซึ่งเป็นกระบอกโลหะขนาดใหญ่ที่เปลี่ยนความกดอากาศเพื่อกระตุ้นการหายใจ แถลงว่า พอลอันเป็นที่รักของพวกเราจะจากไปแล้วเมื่อช่วงวันจันทร์ที่ 11 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา ในข้อความไม่ได้กล่าวถึงสิ่งที่ได้พรากชีวิตชายปอดเหล็กคนนี้เอาไว้
แต่เมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พอล ติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เข้าใช้เวลาในการรักษา 2 สัปดาห์ เมื่อแพทย์พบว่าไม่มีเชื้อไวรัสในร่างกายเขา พอลก็ได้กลับบ้าน แต่ 1 สัปดาห์ต่อมา โลกก็สูญเสียชายผู้ไม่ย่อท้อต่อความพิการจากเชื้อโปลิโอ และใช้ชีวิตในเครื่องสร้างความดันให้ปอดมาเกือบตลอดชีวิต
พอล อเล็กซานเดอร์ ได้รับการยอมรับจากบันทึกสถิติโลกกินเนสส์
ว่าเป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่ในปอดเหล็กเป็นเวลานานที่สุด
"พอล" ผู้รอดชีวิตจากโปลิโอ
พอล เป็นชายคนสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่ในปอดเหล็ก เขาติดเชื้อโปลิโอตอน ปี 1952 ขณะอายุได้ 6 ขวบและเป็นอัมพาตตลอดชีวิต สามารถขยับศีรษะ คอ และปากได้เท่านั้น
ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 มีการระบาดของโรคโปลิโอครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ เด็กหลายร้อยคนทั่วดัลลัส รัฐเท็กซัส รวมถึงพอล ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ที่นั่นเด็กๆ ได้รับการรักษาในแผนกปอดเหล็ก พอลก็เป็น 1 ในนั้น เขาต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 18 เดือนก่อนจะกลับบ้าน เขาเป็นอัมพาตตั้งแต่คอลงมา พ่อแม่ของเขาเช่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบพกพาและรถบรรทุกเพื่อพาเขาและปอดเหล็กกลับบ้าน
แต่พอลไม่ย่อท้อต่อข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับชีวิต เขาเป็น 1 ในนักเรียนโฮมสกูล เรียนรู้ทุกอย่างด้วยการจดจำแทนที่จะจดบันทึก เขาได้รับปริญญาตรีในปี 1981 สาขานิติศาสตร์และ พอลสามารถทำงานเป็น "ทนายความ" ในห้องพิจารณาคดีเป็นเวลา 30 ปี
นอกจากนี้ เขายังตีพิมพ์อัตชีวประวัติของตัวเองชื่อ "Three Minutes for a Dog : My Life in an Iron Lung" พอลบอกกับ CNN ในปี 2022 ว่า เขากำลังทำหนังสือเล่มที่ 2 อยู่ โดยสาธิตกระบวนการเขียนโดยใช้ปากกาผูกติดกับแท่งพลาสติกและคาบไว้ในปาก เพื่อแตะแป้นพิมพ์คีย์บอร์ด
ฉันมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ ฉันไม่ยอมรับข้อจำกัดของร่างกาย ชีวิตของฉันช่างเหลือเชื่อ
"เครื่องปอดเหล็ก" (Iron Lung / Drinker Respirator)
ถูกคิดค้นขึ้นโดย ฟิลลิป ดริงเกอร์ (Phillip Drinker) และ หลุยส์ อกาสสิซ ชอว์ (Louis Agassiz Shaw) แห่งโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด เป็น "เครื่องช่วยหายใจชนิดใช้แรงขับดันลบ" (Negative pressure ventilation) นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงกลางของศตวรรษที่ 19 เมื่อโรคโปลิโอระบาดในสหรัฐอเมริกา
โดยผู้ติดเชื้อรายที่เชื้อเข้าสู่ไขสันหลัง จะมีอาการกล้ามเนื้อแขนหรือขาอ่อนแรง และอาการอันตรายที่สุด คือ อาการอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ ได้แก่ กล้ามเนื้อกระบังลม และกล้ามเนื้อระหว่างช่องซี่โครง ผู้ป่วย จึงไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้ ดังนั้นการรักษาชีวิตของผู้ป่วยโรคโปลิโอขั้นร้ายแรง จึงจำเป็นต้องใช้ "ปอดเหล็ก" ทำหน้าที่ช่วยหายใจ
โรคโปลิโอ
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า โรคโปลิโอ (Poliomyelitis) เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 1, 2 และ 3 ก่อให้เกิดอาการอักเสบของไขสันหลัง ส่งผลให้กล้ามเนื้อแขนและขาเป็นอัมพาต เป็นโรคติดต่อที่สร้างความทุกข์ทรมานแก่เด็กเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยบางส่วนมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนรายที่รอดชีวิตต้องประสบกับความพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
เชื้อไวรัสโปลิโอนี้จะพบในคนเท่านั้น เชื้อสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ในลำไส้ของคนที่ไม่มีภูมิต้านทานและอยู่ภายในลำไส้ 1 - 2 เดือน เมื่อเชื้อไวรัสถูกขับถ่ายออกมาภายนอกร่างกายจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ แต่เชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นสัปดาห์หรือเดือน
โรคโปลิโอมีระยะเวลาฟักตัวตั้งแต่ระยะสั้น 3-4 วัน หรืออาจนานเป็นเดือน เมื่อฟักตัวเสร็จสามารถแพร่เชื้อได้ 7 วันก่อนมีอาการ โดยเชื้อจะอยู่ในคอหอยประมาณ 1 สัปดาห์ และอยู่ในอุจจาระได้นานประมาณ 1 - 2 เดือน หรือนาน
เป็นปีในรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคโปลิโอ สามารถติดต่อจากคนสู่คน (person-to-person) โดยการรับเชื้อได้จากหลายทาง ดังนี้
- ติดต่อทางอุจจาระเข้าสู่อีกคนหนึ่งโดยผ่านเข้าทางปาก (fecal-oral route)
- ติดต่อทางการกลืนหรือสูดเอาเชื้อเข้าไปในร่างกาย จากสารคัดหลั่งบริเวณลำคอในขณะที่ผู้ป่วยไอหรือจาม (Respiratory route)
- การติดต่อทางน้ำลาย (oral - oral route)
อาการของโรค
- ร้อยละ 70 ไม่มีอาการแสดงใด ๆ
- ร้อยละ 24 มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีอัมพาต
- ร้อยละ 1-5 มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไม่มีอัมพาต
- ร้อยละ 1 มีอาการอัมพาตเกิดขึ้น ลักษณะของอัมพาตในโรคโปลิโอ มีดังนี้
- มักพบที่ขามากกว่าแขน และ เป็นข้างเดียวมากกว่า 2 ข้าง
- มักเป็นกล้ามเนื้อต้นขาหรือต้นแขน มากกว่าส่วนปลาย
- เป็นแบบอ่อนปวกเปียก (flaccid) โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบความรู้สึก (sensory) ที่พบบ่อยคือเป็นแบบ spinal form ที่มีอัมพาตของแขน ขา หรือกล้ามเนื้อลำตัว
- ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อส่วนลำตัวที่หน้าอกและหน้าท้อง ซึ่งมีความสำคัญในการหายใจ ทำให้หายใจเองลำบาก บางรายอาจเป็นแบบ bulbar form ซึ่งจะมีอัมพาตของศูนย์การควบคุมการหายใจและการไหลเวียน โลหิต และเส้นประสาทสมองที่ออกมาจากส่วนก้านสมองทำให้มีความลำบากในการกลืนการกินและการพูด ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจะสูงขึ้นในกลุ่มที่มีปัญหาด้านการหายใจ
ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โปลิโอ ป้องกันได้ด้วย "วัคซีน"
- วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน (Oral polio vaccine: OPV, Sabin) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์
ให้โดยการรับประทาน เป็นการเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เยื่อบุลำคอและลำไส้ของผู้รับวัคซีน และสามารถแพร่เชื้อวัคซีนไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ให้กับผู้สัมผัสใกล้ชิดได้อีกด้วย ชนิดที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent OPV) ซึ่งประกอบด้วยสายพันธุ์ 1 และ 3
ปัจจุบันวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการกวาดล้างโรคโปลิโออย่างยิ่ง เพราะสามารถป้องกันและกำจัดเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ก่อโรคได้เป็นอย่างดี มีราคาถูกและมีวิธีการให้วัคซีนง่าย แต่มีข้อเสีย คืออาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงคล้ายโรคโปลิโอ แต่โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก - วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (Inactivated polio vaccine: IPV, Salk) เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อตาย วัคซีนชนิดนี้ประกอบด้วยเชื้อโปลิโอ 3 สายพันธุ์ ให้วัคซีนโดยการฉีด ในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้วัคซีนโปลิโอในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยให้วัคซีน OPV 5 ครั้งเมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน 1 ปีครึ่ง และ 4 ปี และให้วัคซีน IPV 1 ครั้ง เมื่ออายุ 4 เดือน
วัคซีนโปลิโอ เป็น 1 ในวัคซีน 4 ชนิด ที่เด็กควรได้รับ โดยวัคซีนที่เด็กทุกคนควรได้รับมีทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ วัคซีนโปลิโอ วัคซีนคอตีบ วัคซีนไอกรน และวัคซีนบาดทะยัก เป็นวัคซีนที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เด็กไทยรับตามอายุ
ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค, ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
อ่านข่าวอื่น :
“โรม” ชี้ทักษิณมีอิทธิพลการเมือง ส่งผลเลือกตั้งท้องถิ่นแน่
ปิ๊กมาแล้ว! "ทักษิณ" รำลึกอดีตเช็กอินที่เที่ยว-ที่กินเชียงใหม่
เปิดภาพ "ทักษิณ ชินวัตร" ล่าสุด ถึงเชียงใหม่ ลงเครื่องบินแล้วไปไหนบ้าง