เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติ 352 : 65 ผ่านร่างกฎหมายที่จะให้เวลาประมาณ 6 เดือน แก่ ByteDance บริษัทแม่ของแอปพลิเคชัน TikTok ในการขายหุ้นของ TikTok ในสหรัฐฯ มิฉะนั้นจะต้องเผชิญคำสั่งห้ามใช้งานในสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลครอบคลุมทั่วประเทศ การลงมติครั้งนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส. ทั้ง 2 พรรคการเมืองและลำดับถัดไปจะต้องผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภา ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจะถูกส่งต่อไปยังประธานาธิบดีเพื่อลงนามตราเป็นกฎหมาย และ ปธน.ไบเดน ก็ยืนยันว่า เมื่อร่างกฎหมายมาถึงมือ ก็พร้อมที่จะลงนามทันที
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากบรรดานักการเมืองในสหรัฐฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของรัฐบาลจีนต่อแอปพลิเคชันชื่อดัง เนื่องจากบริษัทแม่ ByteDance มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่ง และอยู่ภายใต้ขอบข่ายของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติจีน ซึ่งทำให้ทางการจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลของบริษัทนี้ได้ตามกฎหมาย
ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok
โดย สส. ที่ให้การสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ระบุว่า สหรัฐฯ ไม่สามารถยอมเสี่ยงให้แอปพลิเคชันที่เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในสหรัฐฯ ตกอยู่ในการควบคุมของบริษัทที่อยู่ในกำมือพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้
ที่ผ่านมา TikTok พยายามสร้างความมั่นใจให้แก่บรรดานักการเมืองและหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐฯ ว่าได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ซึ่งมีอยู่มากกว่า 150 ล้านคน โดยตัวเลขล่าสุดระบุว่าผู้ใช้งานในสหรัฐฯ น่าจะมีถึง 170 ล้านคน
สิ่งที่ TikTok ทำคือการปิดกั้นไม่ให้พนักงานจากบริษัทแม่ในจีนเข้าถึงรายละเอียดข้อมูลของผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ได้ แต่อย่างไรก็ดี การสอบสวนโดย Wall Street Journal เมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่าระบบดังกล่าวยังคงมีช่องโหว่ โดยยังมีข้อมูลบางส่วนที่สามารถเข้าถึงกันได้ระหว่าง TikTok ในสหรัฐฯ และบริษัทแม่ในจีน หนึ่งในกรณีที่โด่งดังคือการเข้าถึงข้อมูลของผู้สื่อข่าวคนนึงในสหรัฐฯ โดยฝีมือของพนักงานจาก ByteDance ในจีน เพื่อใช้ในการติดตามหาตัวแหล่งข่าว และนี่คือกรณีที่จุดกระแสกังวลในช่วงก่อนหน้านี้
ขณะที่ด้านนอกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ มีกลุ่มผู้ใช้งาน TikTok รวมตัวประท้วงพร้อมถือป้ายสนับสนุนการใช้งานแอปฯ ในสหรัฐฯ โดยระบุว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงผู้ติดตามจำนวนมาก สำหรับการทำธุรกิจในรูปแบบต่างๆ สื่อท้องถิ่นในสหรัฐฯ บางสำนักรายงานว่ากลุ่มผู้ประท้วงส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากการใช้งานแอปฯ ดังกล่าวจริง แต่ TikTok ร่วมจ่ายค่าเดินทางและค่าที่พักในกรุงวอชิงตันดีซีให้แก่คนที่มาเข้าร่วมการประท้วงด้วย
ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาตอบโต้ท่าทีของสหรัฐฯ โดยระบุว่า แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่เคยพบหลักฐานว่าแอปฯ ดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แต่ยังคงพยายามจำกัดการใช้งาน TikTok อย่างต่อเนื่อง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการกระทำดังกล่าวจะเป็นผลเสียต่อสหรัฐฯ เอง พร้อมเรียกการกระทำของสหรัฐฯ ว่าเป็นการกลั่นแกล้ง
อ่านข่าวอื่น :
สภาพอากาศวันนี้ อากาศร้อนทั่วไทย อีสานฝนฟ้าคะนอง 20% พื้นที่
"ทักษิณ" ใส่เฝือกคอสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพ ก่อนไปเชียงใหม่