- ทรายกำจัด "ลูกน้ำยุงลาย" คุมกำเนิดเพชฌฆาตจิ๋ว
- รียูเนียน "ทำหมันยุงลาย" ยิงรังสีคุมจุดเพาะพันธุ์ "ไข้เลือดออก"
ยังไม่พ้นวิกฤต “วิรดา วงศ์เทวัญ” นักร้องและนางเอกลิเกชื่อดัง น้องสาวของกุ้ง “สุธิราช วงศ์เทวัญ” ยังคงนอนรักษาตัวอยู่ห้องไอซียู นานกว่า 2 เดือน หลังมีภาวะสมองบวมจากอาการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ธ.ค.2566 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ( 13 มี.ค.2567)
มีข้อมูลระบุว่าในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา คนไทยป่วยด้วยโรคดังกล่าวจำนวน 1,237,467 คน เพราะโรคไข้เลือดออกสามารถเกิดได้ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ในเขตเมือง หรือชนบท จากข้อมูลจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออก ระบบการเฝ้าระวังโรค 506 ปี 2564 พบ 5 จังหวัดที่มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุด 5 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ตาก นครปฐม ชลบุรี และร้อยเอ็ด
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า ยอดผู้ป่วยสะสมด้วยโรคไข้เลือดออกจนถึงปี 2567 มีจำนวน 14,840 คน ยอดสะสมผู้เสียชีวิต 14 คน โดยเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 8,197 คน มากกว่าปี 2566 ถึง 1.9 เท่า (4,286 คน)
และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยสูงสุดกลุ่มอายุ 5-14 ปี พบมากทางภาคใต้ และภาคกลาง รายงานผู้เสียชีวิตยืนยันแล้ว 13 คน กระจายใน 11 จังหวัด และเสียชีวิตมากสุดในกลุ่มที่อายุมากกว่า 65 ปี
วิรดา วงศ์เทวัญ นางเอกลิเกและนักร้องชื่อดัง น้องสาว กุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ ยังมีอาการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลายตัวเมีย บินไปกัดคนที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูง จะได้รับเชื้อไวรัสเดงกีเข้ามาอยู่ในตัวยุง หากยุงที่มีเชื้อไวรัสนี้ไปกัดคนอื่น ก็จะทำให้คนนั้นมีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกได้
โดยทั่วไปยุงลายมักออกหากินเวลากลางวัน อาศัยตามบริเวณอาคารบ้านเรือน ชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ใสสะอาด เช่น ยางรถยนต์ กะลา กระป๋อง จานรองขาตู้กับข้าว แต่ไม่ชอบวางไข่ในท่อน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ซึ่งไม่ว่าในเขตเมืองหรือชนบท ก็ป่วยจากโรคดังกล่าวนี้ได้เช่นกัน
แม้ที่ผ่านมารัฐจะพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวตามโครงการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุง และแจกสารเคมีกำจัดแมลงที่เรียกว่า “ทรายอะเบท” ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเคมี (organophosphate) มีค่าความเป็นพิษเพื่อใช้กำจัดลูกน้ำยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก ยุงรำคาญ ยุงก้นป่อง
โดยทรายอะเบท สามารถออกฤทธิ์ ภายใน 1 ชั่วโมง และมีฤทธิ์อยูได้นานกว่า 3 เดือน มีอินทรียวัตถุตกค้าง หรือปนเปื้อนอยู่น้อย
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ยุงลายบ้าน พาหะนำโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ มีการดื้อต่อสารเคมีกำจัดแมลง ไซเพอร์มิทริน (cypermethrin) ระดับต่ำจนถึงระดับสูง กระจายทั่วประเทศเช่นกัน และแนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ให้นำสารเคมีไซเพอร์มิทริน (cypermethrin)มาใช้อย่างต่อเนื่อง
แต่ให้ใช้สารเคมีไพรีทรอยด์ชนิดต่าง ๆ เช่น เดลต้ามิทริน (deltamethrin) ซีต้าไซเปอร์มิทริน (zetacypermethrin) แลมป์ดา-ไซฮาโลทริน (lambda-cyhalothrin) และ เพอร์เมทริน (permethrin) ในลักษณะสูตรผสม ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมยุงลาย
เช่นเดียวกับองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้สารเคมีกำจัดแมลง ในกลุ่มออร์กาโนฟอส เฟต เช่น 1% เฟนนิโตรไธออน (fenitrothion) และกลุ่มไพรีทรอยด์ เช่น 0.1% ทรานส์ฟลูทริน (transfluthrin) ในผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดยุง
ส่วนกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ได้ศึกษาประสิทธิภาพของสารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์ ที่ใช้ในการกำจัดยุงลายบ้าน ด้วยวิธีการพ่นหมอกควันและพ่น ULV ยังพบว่าสารเคมียังมีประสิทธิ ภาพในการควบคุมยุงลายบ้านได้ดี สามารถฆ่ายุงลายบ้านได้มากกว่า 90% ทั้งนี้ ประเทศไทยได้แนะนำให้ใช้สารเคมีกำจัดแมลงสูตรผสมและใช้ความเข้มข้นตามมาตรฐาน
ส่วนผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดยุงที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เช่น สเปรย์กำจัดยุง ยาจุดกันยุง ธูป ไล่ยุง และผลิตภัณฑ์กันยุงใช้กับเครื่องไฟฟ้า ชนิดของเหลว และชนิดแผ่น ฯลฯ ที่มีสารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ดังกล่าวข้างต้น จะไม่สามารถใช้ควบคุมยุงลายดื้อสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มไพรีทรอยด์และป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กทม.-อีสาน ใช้งบภาครัฐป้องกัน “โรคไข้เลือดออก” สูง
หากเปิดงบประมาณโครงการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558-2566 (ระหว่างเดือน ต.ค.65-ม.ค.66 ) พบว่า มีการใช้ไปจำนวนกว่า 3,553 ล้านบาท แบ่งตามภูมิภาค คือ พื้นที่ กทม., ภาคกลาง, ภาคตะวันออก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคเหนือ, ภาคตะวันตกและภาคใต้, โดยพื้นที่ กทม.ใช้งบ 178 ล้านบาท, ภาคกลาง 818 ล้านบาท, ภาคตะวันออก 507 ล้านบาท, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,159 ล้านบาท, ภาคเหนือจำนวน 344 ล้านบาท, ภาคตะวันตกจำนวน 293 ล้านบาท และภาคใต้ 251 ล้านบาท
โดยพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการจัดซื้อสูงสุด โดยในปี 2563 มีการจัดซื้อจำนวน 2,522 โครงการ หากเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2558 จำนวน 736 โครงการ, ปี 2559 จำนวน 438 โครงการ, ปี2560 จำนวน 550 โครงการ, ปี 2561 จำนวน 1,751 โครงการ, ปี 2562 จำนวน 2,201 โครงการ, ปี 2564 จำนวน 1,905 โครงการ, ปี 2565 จำนวน 2,048 โครงการ ปี 2566 จำนวน 257 โครงการ รวมทั้งสิ้น 12,414 โครงการ
สำหรับโครงการภาครัฐที่ป้องกันไข้เลือดออก แบ่งออกเป็นการใช้ 2 วิธีการ คือ จัดซื้อสารเคมีพ่นยุง ใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ Deltamethrin, S-bioallethrin ,piperony Butoxide เพื่อนำมาผสมน้ำผ่านเครื่องพ่นหมอกควัน
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าในช่วงปี 2565-2566 มีโครงการจ้างเหมาฉีดพ่นสารเคมี มีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ๆ โดยในปี 2566 มีโครงการจัดซื้อสารเคมีที่สูงเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีในการป้องกันควบคุมยุงพาหะนำโรค เช่น การพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัย มีความจำเป็นในการหยุดการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้กระจายเป็นวงกว้าง และเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมีเชื้อไปกัดและแพร่โรคให้คนอื่นต่อไป ซึ่งการพ่นสารเคมี ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ทันท่วงที และได้มาตรฐาน ในขอบเขตการระบาดของโรค
สำหรับเครื่องพ่นหมอกควันที่ใช้พ่นยุง มี 2 คือ แบบ 1 Thermal fog ใช้ความร้อนตีน้ำมันให้เป็นละอองแล้วพ่นออกมา 2 แบบULV เป็นแบบสร้างหมอกควันโดยไม่ใช้ความร้อน เครื่องฉีดพ่นเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ส่วนใหญ่จะมีราคาแพง การบำรุงรักษาดูแลยาก
ส่วนยาที่ใช้พ่น จะมีราคาขายปลีกอยู่ที่ขวดละ 1,000-2,000 บาท และในการฉีกพ่นแต่ละครั้งจะต้องใช้ยาประมาณ 3-6ขวด และค่าพ่นในแต่ครั้งที่ราคาอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท จำนวนนี้รวมค่าบำรุงและรักษาเครื่องฉีดพ่นด้วย
จัดซื้อสารฉีดพ่นยุงลาย ไม่พบชื่อ-ประเภทสารเคมี
แม้สารเคมีที่ใช้ในการฉีดพ่นยาเพื่อทำลายยุงลายจะมีไม่กี่ชนิด กล่าวเฉพาะที่พบในท้องตลาด เช่น สารเคมีผสมเตลต้ามิทรินชนิดน้ำมัน (Emulsitiable Concentrate) ประกอบด้วยสารออกฤทธิ์เดลต้าเมทริน และ S-bioallethrin และสารเสริมฤทธิ์ Piperony butoxide
แต่จากการตรวจสอบโครงการจัดซื้อเป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่ทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 70-80 จะไม่ระบุชื่อ ประเภทและชื่อสารเคมีที่เกี่ยวข้องทั้ง ในชื่อโครงการและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น เอกสารราคากลาง หรือเอกสารประกาศชื่อผู้ชนะการเสนอราคา
อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นประเภทและชนิดสารเคมีที่ใช้ในโครงการฯ แยกตามปีงบประมาณ ช่วงปีงบประมาณ 2554 คือ Pyrethroid และ Zetacypermethrin เป็นหลัก แต่ในช่วงปีงบประมาณ 2557-2558 พบว่า มีการใช้งบ Pyrethroid จัดซื้อ Cypermethrin ขณะในวงปีงบประมาณ 2559-ปัจจุบัน มีการจัดซื้อ Pyrethroid และ Deltamethrin
ส่วนแบบแผนและวิธีการตั้งชื่อโครงการของหน่วยงานจัดซื้อ พบว่า มีการตั้งชื่อโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ซ้ำ ๆ หรือเหมือนกันทุกปี แต่ชื่อโครงการตามแผนนโยบายเปลี่ยนไปทุกปี โดยมีการกำหนดเพดานวงเงินงบประมาณเท่ากันติดต่อกันเฉลี่ย 3 ปีงบประมาณ และไม่เปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณ โดยวงเงินงบประมาณ และราคาตามสัญญา
กล่าวคือ ราคาที่ชนะการเสนอราคา มีมูลค่าเท่ากันทั้งหมดเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้วงเงิน งบประมาณตั้งไว้เท่าใด ราคาที่ชนะการเสนอราคาก็มีมูลค่าเท่ากัน และผู้ชนะการเสนอราคาที่อยู่ครองความเหนือกว่าทางพื้นที่ธุรกิจในตลาดมานาน จะสามารถเสนอประเภทและชนิดสารเคมีได้มากกว่า 1 ชนิด ซึ่งทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสารเคมีชนิดใดที่จำหน่ายให้กับหน่วยงานรัฐที่จัดซื้อในแต่ละปีงบประมาณ
นอกจากนี้ เอกสารราคากลาง หากมีข้อมูลการตรวจสอบราคากลาง จะทำให้เราทราบว่าบริษัทใดจำหน่ายชื่อประเภทและชนิดสารเคมีบ้าง เป็นต้น เมื่อนำมาตรวจสอบคู่ขนานกับการ cleaning data ก็จะทำให้ประเมินข้อมูลประเภทและชนิดของสารเคมีได้เบื้องต้น ตามรายชื่อบริษัทผู้ชนะการเสนอราคาในโครงสร้างชุดข้อมูล
ทั้งนี้ ข้อมูลโครงการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก ย้อนหลังตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2567 พบมีจำนวน 78,160 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณ มูลค่า 43,76,264,225.40 บาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
เป็นโครงการฯ เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี นับแต่มีการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกที่เกิดจากยุงลายนาน 10 ปี เกือบ 80,000 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท แต่อัตราการป่วยและการเสียชีวิตของผู้คนก็ยังไม่ได้ลดลง หรือหมดสิ้นไป ไม่ต่างจากโครงการการถมทรายทิ้งลงแม่น้ำ
ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แก้ต้นเหตุ ไข้เลือดออก
ดร.ปิติ มงคลางกูร นักกีฏวิทยา กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำในพื้นที่ที่อยู่รอบบริเวณตัวบ้านยังไม่มีการควบคุมดีเท่าที่ควร หลายคนยังไม่รู้ปริมาณ และวิธีการใช้ทรายอะเบทอย่างถูกต้อง ทำให้การจำกัดลูกน้ำไม่มีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างทรายอะเบท 1 กรัม ควรใช้กับน้ำปริมาณ 10 ลิตร อีกปัญหาของการใช้ทรายอะเบท คือ ปริมาณความเข้มข้นของทรายไม่พอที่จะกำจัด หรือฆ่าลูกน้ำ จำนวนทราย 1 ซอง มี 50 กรัม ดังนั้นโอ่ง 1 ใบ ควรใช้ทราย 20 กรัม หรือ 20 ช้อน
ปัญหาของการใช้ทรายอะเบทในปริมาณไม่เข้มข้น ไม่ต่างจากกับการพ่นควันกำจัดยุง คือหากสารไม่พอก็จะฆ่าไม่ได้
การใช้ทรายอะเบทที่เข้มข้นน้อย อาจกระตุ้นให้ลูกน้ำยุงลายมีความทนทาน พัฒนาเป็นความดื้อสารเคมีได้ แต่ยืนยันว่าในปัจจุบัน ยังไม่มีปัญหาลูกน้ำดื้อทรายอะเบท
ส่วนการฉีดพ่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามหมู่บ้านจัดสรร หากมีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก หากอยู่ในชุมชนเมือง หรือเขตเทศบาลฯมักจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าว่า จะมีการพ่นหมอกควันเพื่อกำจัดยุงลายเต็มวัย และให้เก็บเสื้อผ้าที่ตากไว้
รวมทั้งปกปิดอาหารในภาชนะเพื่อป้องกันไม่ให้ควันหรือละอองตกใส่ เนื่องจากการพ่นควันเพื่อฆ่ายุง ต้องพ่นในบ้าน และบริเวณรอบบ้าน เนื่องจากยุงลายมักอาศัยในบ้านเป็นหลัก การไปพ่นลงท่อไม่มีประโยชน์ สิ้นเปลือง
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ยุงสามารถทนทานสารเคมีได้เพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าพ่นบ่อยเกินไปจะทำให้ยุงดื้อยา หรือบางครั้งเมื่อยุงโดนควันเข้าไปแล้วอาจเกิดอาการสลบ แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง สามารถบินต่อไปได้
ดร.ปิติ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการพ่นหมอกควัน ไม่ใช่เพื่อกำจัดยุง เพราะยุงมีวงจรชีวิต 120 วัน ส่วนลูกน้ำในน้ำ มีระยะจากไข่มาเป็นตัวยุง 7-14 วัน หากพ่นกำจัดยุงวันนี้ ก็จะกำจัดยุงได้หมดชุด แต่ภายใน 7 วัน ยุงชุดใหม่ปริมาณเท่าเดิมจะกลับมาใหม่
ทั้งนี้ ไข่ยุงสามารถอยู่ในระยะพักในที่ที่ไม่มีน้ำได้หลายเดือน ดังนั้นเมื่อพ่นกำจัดยุงแล้ว อีกไม่นานยุงก็จะฟักไข่ชุดใหม่ หรือยุงจากที่อื่นบินมาเพิ่มมากเท่าเดิม ซึ่งเป้าหมายของพ่นของเจ้าหน้าที่ คือ กำจัดยุงที่มีเชื้อไข้เลือดออก
ดร.ปิติ กล่าวว่า การพ่นยาจะทำเฉพาะเมื่อมีรายงานจากโรงพยาบาลว่ามีคนเป็นไข้เลือดออก นอกจากนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ เพราะอาการจะเหมือนเป็นหวัดทั่วไป ตรวจเลือดก็ไม่ทราบ ดังนั้น การตรวจพบว่าผู้ป่วย 1คน อาจหมายความว่า มีคนป่วยไข้เลือดออกชนิดไม่รุนแรงอีก 10 คนในละแวกใกล้เคียง
ทั้งนี้ หากตรวจเลือดพบผู้ป่วยไข้เลือดออก 1 คน หมายความว่ายุงในละแวกนั้นต้องมีเชื้อไข้เลือดออกแน่นอน ดังนั้นการพ่นหมอกควัน ในช่วง 2-3 วันแรกของการพบโรค จะช่วยกำจัดยุงที่มีเชื้อไข้เลือดออก ลักษณะเป็นการรีเซ็ทให้ระบาดช้าลง แต่ไม่สามารถป้องกันโรคได้ทั้งหมด
เชื้อไข้เลือดออกถ่ายทอดจากยุงตัวแม่ไปสู่ไข่ได้ และยุงที่เพิ่งขึ้นจากน้ำก็มีเชื้อได้ ดังนั้นการพ่นหมอกควัน เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ
ส่วนการแก้ที่ต้นเหตุ คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ ควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้โดนยุงกัด
อ่านข่าวอื่น
ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ "แบงก์ชาติ" เริ่มมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง ช่วยปิดจบเร็ว
"ผู้ดูแลกาแห่งหอคอยลอนดอน" ผู้พิทักษ์แผ่นดินและราชวงศ์อังกฤษ
พิษฝนหลงฤดู "ยุงลายเพิ่ม"ป่วยสูงไข้เลือดออก-ซิกา |
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- ยุงลายพาหะไวรัสซิกา
- ยุงลายไข้เลือดออก
- วิรดา วงศ์เทวัญ
- วิรดา วงศ์เทวัญ ป่วยไข้เลือดออก
- ไซเพอร์มิทริน
- เดลต้ามิทริน
- ซีต้าไซเปอร์มิทริน
- กองโรคติดต่อนำโดยแมลง
- ปิติ มงคลางกูร
- นักกีฎวิทยา
- ข่าววันนี้ล่าสุด
- ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุดวันนี้
- ยุงลาย
- ยุงลายกัดตอนไหน
- อาการ ไข้เลือดออก
- ยุงลายกัด
- ฉีดพ่นยุงลาย
- แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
- ไข้เลือดออก