ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รียูเนียน "ทำหมันยุงลาย" ยิงรังสีคุมจุดเพาะพันธุ์ "ไข้เลือดออก"

สังคม
14 มี.ค. 67
09:00
795
Logo Thai PBS
รียูเนียน "ทำหมันยุงลาย" ยิงรังสีคุมจุดเพาะพันธุ์ "ไข้เลือดออก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"ไข้เลือดออก" โรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 30 ปีที่ผ่านมา ขณะที่องค์การอนามัยโลก เตือนว่า แนวโน้มผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2566 พบการแพร่ระบาดใน 80 ประเทศทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แตะ 5 ล้านคน และเสียชีวิต 5,000 คน

ที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลก ศึกษาวิจัย "ทำหมันยุงลาย" โดย 3 วิธีหลัก คือ การทำให้ยุงเป็นหมันโดยการตัดต่อพันธุกรรมยุง ซึ่งบริษัทเอกชนในอังกฤษ นำไปใช้ในบราซิล, การใส่เชื้อโวลบาเกียในช่วงที่ยุงเป็นไข่ ซึ่งยุงตัวผู้จะเป็นหมันทันที ส่วนตัวเมียจะเป็นพาหะเมื่อไปผสมพันธุ์อาจจะเป็นหมันในรุ่นต่อไป ซึ่งจีนและออสเตรเลียใช้เทคนิคนี้

และวิธีสุดท้าย คือ การฉายรังสีให้ยุงเป็นหมัน ใช้ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รวมถึงไทยที่กลับมาทดลองอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ ปี 2559 จีนประกาศความสำเร็จ ด้วยการตั้งโรงงานยุงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อเพาะพันธุ์ยุงตัวผู้ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้เป็นหมันจากเชื้อแบคทีเรีย "วอลแบเชีย" จำนวนหลายล้านตัวต่อสัปดาห์ จากนั้นปล่อยยุง 3 ล้านตัว เข้าไปในเขตที่พักอาศัยของประชาชน ย่านชานเมืองกวางเจา เพื่อให้ผสมพันธุ์กับยุงตัวเมีย ส่งผลให้ประชากรยุงลดลงถึง 90%

ส่วนในไทย ปี 2567 พบแนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เฉพาะ 2 เดือนแรกของปี ยอดป่วยทะลุค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี

ดร.ปิติ มงคลางกูร นักกีฏวิทยา กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค บอกเล่าสถานการณ์ของโรค เฉพาะเดือน ม.ค.-ก.พ.2567 ซึ่งไม่ใช่ช่วงหน้าฝน หรือฤดูุยุง กลับพบผู้ป่วยสะสม 17,783 คน มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ถึง 2.1 เท่า ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 25 คน จาก 16 จังหวัด

ยอดผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ประชาชนเคลื่อนย้าย เดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น อาจถูกยุงกัดและนำโรคกลับมายังที่พักอาศัย ก่อนแพร่โรคในชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามรณรงค์ป้องกันโรค ชวนคว่ำกะละมัง หรือจุดน้ำขัง ฉีดพ่นยา เททรายกำจัดยุง แต่หนึ่งในมาตรการที่ถูกถามถึง คือ "ทำหมันยุง" โครงการที่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2562

ช่วงโควิดทุกหมู่บ้านที่เล็งไว้ เขาไม่ให้เข้า ล็อกดาวน์ จึงเก็บข้อมูลพื้นฐานไม่ได้ ทั้งจำนวนยุง ประชากร ผู้ป่วย

ดร.ปิติ กล่าวว่า โครงการหยุดชะงักส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ COVID-19 ในช่วงแรกบางพื้นที่ล็อกดาวน์ ทีมวิจัยไม่สามารถเข้าพื้นที่ไปเก็บข้อมูลได้ จึงทำเรื่องคืนงบประมาณการวิจัย แม้ผลการประเมินในพื้นที่นำร่องวิจัย อ.แปลงยาง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2559 พบว่า ลดจำนวนยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคในธรรมชาติได้ถึง 97% หลังปล่อยยุงตัวผู้นาน 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม เป็นการทดลองในหมู่บ้าน อาจมีขนาดพื้นที่เล็กเกินไปที่เห็นประสิทธิภาพของการทำหมันยุงต่อการลดโรค

การกลับมาของโครงการ "ทำหมันยุง" คาดว่าจะเริ่มขึ้นช่วงกลางปีนี้ โดยมีหน่วยงานหลัก คือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ร่วมกับทีมนักวิจัยชุดเดิม ตั้งเป้านำร่องพื้นที่ กทม. เพราะมีผู้ป่วยซ้ำซากทุกปี ประชากรหนาแน่นสูง และมีการเคลื่อนย้ายเดินทางไปทำงานต่างแขวง ต่างเขต เช่น ติดเชื้อจากที่ทำงาน และไปแพร่ระบาดในหมู่บ้าน ซึ่งพฤติกรรมของยุงลาย เป็นยุงที่ค่อนข้างขี้เกียจ บินไม่ไกล ถ้าเจอที่อยู่ที่ชื่นชอบ หรือคนในบ้านมีกรุ๊ปเลือดที่ชอบกิน โดยเฉพาะกรุ๊ป O และกรุ๊ป B ก็จะไม่บินไปที่อื่น

ขณะที่ต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาวิจัยทำหมันยุงในไทยเช่นกัน แต่มีข้อจำกัดเรื่องสายพันธุ์ยุง จึงไม่ได้ตอบรับ เพราะต้องการใช้ "ยุงไทย" เพื่อความปลอดภัย

ขณะนี้ไทยพัฒนายุงให้มีเชื้อโวลบาเกียแล้ว ใช้วิธีทำหมันยุงสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกใช้วิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพ ฉีดเชื้อโวลบาเกีย ซึ่งสกัดจากยุงลายสวนเข้าไปในยุงลายบ้าน เพื่อพัฒนายุงลายบ้านสายพันธุ์ที่ทำให้ยุงในธรรมชาติเป็นหมันได้

ขั้นตอนที่สอง ใช้วิธีฉายรังสีปริมาณอ่อนเพื่อทำให้ยุงลายบ้านสายพันธุ์ที่พัฒนาใหม่นี้เป็นหมันด้วย ส่วนการปล่อยยุงมี 2 วิธี คือ ปล่อยทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยยุงตัวผู้จะไปผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติ ให้ไข่ฝ่อ เป็นหมัน และไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อได้ ส่วนยุงตัวเมียที่มีเชื้อโวลบาเกียจะออกลูกหลานที่มีเชื้อนี้ เท่ากับเพิ่มจำนวนตัวผู้ที่มีเชื้อดังกล่าวในธรรมชาติ หรือปล่อยเฉพาะยุงตัวผู้ที่มีเชื้อโวลบาเกีย

ผลการทดสอบเมื่อปี 2559 ที่บริเวณพื้นที่ทดลองโรงเรียนบ้านหนองสทิต ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โดยปล่อยยุง 10,000 ตัว พบว่า ยุงตัวเมียไข่ฝ่อ หลังจากตัวผู้ที่มีเชื้อโวลบาเกียไปผสมพันธุ์ และส่งผลให้จำนวนยุงลดลงเรื่อย ๆ

โวลบาเกีย มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสในตัวยุงที่ไปกินเลือดมา ทั้งไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ซิก้า ทำให้เพิ่มจำนวนได้ยากขึ้น ยุงบางตัวไปดูดเลือดคนไข้มาก็แพร่โรคไม่ได้
ไข่ยุงลายรอฟักตัว

ไข่ยุงลายรอฟักตัว

ไข่ยุงลายรอฟักตัว

ไข้เลือดออกไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยตรง ต้องอาศัยยุงลายเป็นพาหะนำโรค ระยะที่ผู้ป่วยแพร่เชื้อได้คือ 2 วันก่อนถึง 6 วันหลังวันที่เริ่มแสดงอาการ และเมื่อยุงได้รับเชื้อไวรัสเดงกีจากผู้ป่วย จะใช้เวลา 8-12 วันในการเพิ่มเชื้อไวรัสจนมากพอ และเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คนได้

ดร.ปิติ ตั้งข้อสังเกตถึงจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งที่อยู่ในช่วงหน้าแล้ง ว่า อาจเป็นสถานการณ์ของโรคต่อเนื่องจากปี 2566 และภาวะโลกร้อน สิ่งสำคัญของการลดจำนวนผู้ป่วย คือ รณรงค์ให้ความรู้ วางมาตรการทางการแพทย์ การสอบสวนโรค และใช้นวัตกรรม "ลดโรค-คุมแพร่เชื้อ"

NS1 ชุดตรวจหาเชื้อไข้เลือดออกแบบรวดเร็ว

NS1 ชุดตรวจหาเชื้อไข้เลือดออกแบบรวดเร็ว

NS1 ชุดตรวจหาเชื้อไข้เลือดออกแบบรวดเร็ว

เปิด 5 นวัตกรรม ความหวังคุมโรค "ไข้เลือดออก"

  • NS1 ชุดตรวจหาเชื้อไข้เลือดออกแบบรวดเร็ว ความแม่นยำ 95% ขึ้นไป แพทย์สามารถใช้คอนเฟิร์มเคสได้ โดยให้บริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้ง่าย ทราบผลอย่างรวดเร็ว ลดการแพร่เชื้อ และทำให้การควบคุมโรคเร็วขึ้น โดยทีมตอบโต้หรือควบคุมโรคสามารถทำงานได้ทันท่วงที ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรก ก่อนยุงจะบ่มเชื้อแล้วเสร็จ
  • มาตรการ 3 : 3 : 1 คือ รายงานผลภายใน 3 ชั่วโมงภายหลังโรงพยาบาลตรวจเชื้อได้แล้ว, สอบสวนโรคภายใน 3 ชั่วโมง และการพ่นกำจัดยุง ส่วนใหญ่ใช้สารไพรีทรอยด์ ควบคุมโรคในบ้านผู้ป่วยและเพื่อนบ้านรัศมีรอบ 100 เมตร แต่เดิมจะพ่นซ้ำทุก ๆ 7 วัน แต่เอาไม่อยู่ จึงเพิ่มการพ่นในวันที่ 3 เพราะสัปดาห์แรกเป็นเวลาทองของการควบคุมโรค อย่างไรก็ตาม การพ่นสารเคมีควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข คือ จับเวลาให้สารออกฤทธิ์เพียงพอ โดยคำนวณระยะเวลาจากขนาดพื้นที่ห้อง หรือสถานที่แต่ละจุด
  • โรงพยาบาล จ่าย "สารทากันยุง" ให้ผู้ป่วยนำไปใช้ต่อที่บ้านพักอย่างน้อย 5-7 วัน เพราะเชื้อไวรัสโรคไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ซิก้า ยังคงมีอยู่ในร่างกาย จนกระทั่งผู้ป่วยสามารถฟื้นภูมิต้านทานในร่างกายและกำจัดไวรัสต่าง ๆ ไป โดยเฉลี่ยเชื้อไวรัสจะอยู่ในร่างกาย 12 วัน
  • ระบบเตือนภัยการระบาดล่วงหน้าของโรคไข้เลือดออก เป็นงานวิจัยศึกษาวิจัยในระดับตำบล เพื่อให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลใช้ระบบนี้ป้องกันการแพร่ระบาด โดยใช้ปัจจัยกีฏวิทยา ระบาดวิทยา และอุตุนิยมวิทยา นำมาวิเคราะห์ด้วยสถิติขั้นสูงและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อเตือนภัยในพื้นที่ที่พบการระบาด และให้ควบคุมโรคภายใน 1 สัปดาห์
  • นวัตกรรมการทำหมันยุง เป็นมาตรการเสริม ที่จค่อย ๆ ลดปริมาณยุงในธรรมชาติ ส่วนมาตรการหลักยังคงต้องพ่นกำจัดยุง ป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ไข้เลือดออก" ม.ค.พุ่ง 1.9 เท่าป่วย 8,197 คนตาย 13 คน 

เปิด 3 กลไก แปลงร่างจาก ”ยุง” เป็น ”ซูเปอร์ยุง” 

เปิด 13 เรื่อง น่ารู้เกี่ยวกับ "ยุง" วายร้ายตัวจิ๋ว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง