นับตั้งแต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เริ่มติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม (GPS-collar) ให้ "ช้างป่า" ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2561 จนถึงต้นปี 2567 นานเกือบ 6 ปีแล้วที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงดำเนินการติดปลอกคอให้กับช้างป่าในพื้นที่อื่นๆ เพื่อหวังใช้อุปกรณ์ติดตามตัวเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน
49 ตัว คือจำนวนช้างป่าที่ถูกติดปลอกคอไปแล้ว และอาศัยอยู่ใน 31 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งพบว่าเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างอย่างรุนแรง
พลายสิบล้อ ช้างป่าตัวใหญ่ที่อาศัยอยู่ในป่าเขาอ่างฤาไน (ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ)
ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ในฐานะ ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า ต้นปี 2567 เจ้าหน้าที่ได้ติดปลอกคอให้กับช้างป่าอีก 5 ตัว ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ใช้งบประมาณและอุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.)
หนึ่งในนั้นคือ "เจ้าดื้อ 66" ช้างพลายแห่งเขาอ่างฤาไน ก่อวีรกรรมล่าสุด วิ่งเข้าหารถขนผักที่ขับผ่านถนน 3076 หรือ 3259 เดิม การเข้าหายานพาหนะและคนถือเป็นพฤติกรรมค่อนข้างก้าวร้าวและน่ากังวล จึงเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องติดอุปกรณ์ติดตามตัว เพราะช้างมีโอกาสที่จะสร้างปัญหาให้กับผู้สัญจรได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะรถที่ขนพืชผลการเกษตร
ข้อมูลจากนักวิจัยระบุว่า หลังติดปลอกคอไปแล้ว ช้างป่าตัวนี้ยังใช้พื้นที่เดิมคือ ถนน 3076 แล้วรอจังหวะตั้งด่านเก็บส่วยจากชาวบ้านในช่วงที่ต้องบรรทุกผลผลิตการเกษตร เช่น อ้อย พืชผัก ผ่านเส้นทางเดิม "เจ้าดื้อ 66" ไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหนไกล แต่มักจะหลบพักหาแหล่งอาหารบริเวณข้างทาง หรือเข้าไปในป่าแค่ไม่กี่ร้อยเมตร แล้วกลับออกมาใหม่บนถนน ทำให้เจ้าหน้าที่ทราบพิกัดการเคลื่อนไหวของช้างชัดเจน
เจ้าหน้าที่ติดปลอกคอให้ เจ้าดื้อ 66 ช้างป่าเขาอ่างฤาไน (ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ)
"ติดปลอกคอ" ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัย-วางแผนจัดการช้าง
ดร.ศุภกิจ ประเมินสถานการณ์ก่อนและหลังติดปลอกคอช้างป่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่า ประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการติดปลอกคอช้าง "ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ"
ตัวอุปกรณ์ยังมีข้อจำกัด เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้ตั้งแต่ปลายปี 2561 แต่ความคาดหวังค่อนข้างสูง คนคาดหวังว่าอุปกรณ์ชุดนี้จะทำให้การแก้ไขปัญหารวดเร็วและตรงจุด แต่จริงๆ แล้วการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมเป็นเรื่องการทำงานในระยะยาว
ไม่มีอะไรเร็วเท่าใจคน เขาอาจรู้สึกว่าใช้อุปกรณ์ไปแล้วทำไมช้างยังออกนอกพื้นที่ ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่สามารถป้องกันหรือผลักดันช้างได้ ตรงนี้เป็นจุดอ่อนและเป็นช่องว่างของการทำงาน
ดร.ศุภกิจ กล่าวเสริมว่า เจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด แต่ช้างออกนอกพื้นที่หลายจุด ดังนั้นการตอบสนองที่ไม่ทันเหตุการณ์หรือไม่ทันใจ ทำให้เรื่องความคาดหวังไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้
ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ
แต่ในเชิงการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ ข้อมูลที่ได้จากการติดปลอกคอช้างทั้งพฤติกรรมการเคลื่อนที่ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ เป็นข้อมูลใหม่ๆ ที่เห็นการเปลี่ยนแปลง และนำมาพัฒนาแผนการแก้ไขปัญหาช้างออกนอกพื้นที่รบกวนประชาชน สะท้อนให้เห็นนิเวศวิทยากับพฤติกรรมของช้าง การใช้ประโยชน์พื้นที่ใดที่มีความเข้มข้น ก็จะมีกิจกรรมที่เน้นย้ำป้องกันและเฝ้าระวังที่ตรงจุดมากขึ้น
พร้อมยกตัวอย่าง พื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ หรืออุทยานฯ แก่งกรุง ได้ผลสัมฤทธิ์ค่อนข้างสูง เพราะทัศนคติและการยอมรับของคนในชุมชนต่อการใช้อุปกรณ์ติดตามช้าง มีผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ การปรับตัว หรือแม้แต่การช่วยเจ้าหน้าที่ติดตามช้างที่ติดปลอกคอ จึงได้ผลค่อนข้างดีมาก
ส่วนภาพรวมของช้างตัวอื่นๆ ที่ติดปลอกคอ สัญญาณข้อมูลถูกส่งผ่านมาที่ส่วนกลาง ทำให้เรื่องการป้องกันและเฝ้าระวังอาจยังไม่ถึงกับได้ประโยชน์ฉับพลันทันที แต่อีกด้านการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยรุนแรงหรือพื้นที่ขัดแย้ง จะได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก เพราะเป็นการเตือนหรือการคาดการณ์พื้นที่ที่ช้างจะออกไปรบกวนประชาชน ให้กับเจ้าหน้าที่หรือเครือข่ายป้องกันช้างได้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับวางแผนจัดการ
พลายแหลม อาศัยในพื้นที่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เขตพื้นที่รับผิดชอบของ ขสป.เขาอ่างฤาไน (ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ)
"ปลอกคอ" สิ่งแปลกใหม่ช้าง ไร้ผลต่อพฤติกรรม
ดร.ศุภกิจ ย้ำหลักการติดปลอกคอช้าง ว่า เป็นการติดตามช้างที่ออกนอกพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหา เฝ้าระวัง ลดการสูญเสียและผลกระทบต่อชุมชน อีกด้านหนึ่งเป็นการวางแผนและมาตรการจัดการช้างในระยะยาว
แม้ปลอกคอจะเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับช้าง แต่ยืนยันว่าอุปกรณ์นี้ไม่มีผลต่อพฤติกรรม เพราะช้างที่ติดปลอกคอยังมีพฤติกรรมค่อนข้างคงที่ในเรื่องช่วงเวลาการเคลื่อนที่ การหากิน เช่น ช้างติดปลอกคอหากินอบู่บนนถนนช่วงเขาอ่างฤาไน มีช่วงเวลาขึ้น-ลงถนน หากินเสร็จแล้วและกลับไปพักผ่อน เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างแน่นอน
แต่มีบางจังหวะที่มีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เช่น ความเข้มแสง พระอาทิตย์ขึ้นและตกเร็วขึ้น ปริมาณน้ำฝนตามฤดูกาล ก็อาจทำให้พฤติกรรมของช้างเปลี่ยนแปลง หากปัจจัยแวดล้อมคงที่ ช้างจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตค่อนข้างนิ่ง มีพฤติกรรมการเคลื่อนที่ไปในทิศทางใดหรือเลือกใช้พื้นที่ใดๆ ค่อนข้างสม่ำเสมอ รวมถึงพฤติกรรมประจำวันด้วย
ช้างติดปลอกคอส่วนใหญ่เป็นกลุ่มช้างเป้าหมายที่อยู่นอกป่าอนุรักษ์ แต่ก็มีบางตัวที่กลับเข้าป่าในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กรมอุทยานฯ ยิ้มได้
ช้างป่าติดปลอกคอในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน (ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ)
แม้จะพบว่ามีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ช้างกลับเข้าป่า เพราะในพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด มีโครงการแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ โดยมีการจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ เติมน้ำ พัฒนาแหล่งอาหารและแปลงหญ้า รองรับการเข้ามาใช้ประโยชน์ของช้าง
ขณะเดียวกันช้างก็เข้ามาใช้พื้นที่ที่มีการพัฒนาบ่อยขึ้น ถี่ขึ้นและเริ่มมีระยะเวลานานขึ้น เพียงแต่การปรับเปลี่ยนระยะเวลาของช้างไม่ง่าย เพราะประสบการณ์ การเรียนรู้และการจดจำของช้าง ยังมีอยู่ในพื้นที่นอกป่าธรรมชาติ รวมถึงเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มช้าง ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ช้างออกนอกพื้นที่ป่า
"Case by case" สถานการณ์เปลี่ยน-ปรับเป้าหมาย
สำหรับอุปกรณ์ติดตามตัวช้างที่ยังเหลืออีกประมาณ 20 ปลอก เดิมกรมอุทยานแห่งชาติฯ วางแผนติดตามจัดการช้างในภาพใหญ่ทั่วประเทศ แต่ขณะนี้สถานการณ์หลายพื้นที่ไม่เหมือนเดิม จึงต้องเปลี่ยนแผนการดำเนินงานติดปลอกคอช้างเป็นรายกรณี
เจ้าหน้าที่ ขสป.ภูหลวง ติดปลอกคอช้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อติดตามและศึกษาพฤติกรรม (ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ)
ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานติดปลอกคอช้างเป็น Case by case คือ กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในพื้นที่ใดๆ จะมีการประสานงานในทางปฏิบัติ มีหนังสือกลับมาที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อขออนุมัติในหลักการในการจับและติดอุปกรณ์ให้กับช้างป่าที่มีความสุ่มเสี่ยงออกนอกพื้นที่รบกวนประชาชน
สำหรับกรณีความจำเป็นเร่งด่วนที่กล่าวถึงนั้น ต้องเป็นช้างที่ระบุตัวได้ มีพฤติกรรมหรือมีประวัติทำร้ายคน ซึ่งจัดอยู่ในลำดับแรกๆ ในการติดอุปกรณ์ติดตามตัว ส่วนกลุ่มรองลงมาเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหารบกวนประชาชนบ่อยครั้ง หรือมีปัญหาค่อนข้างมาก อาจเป็นช้างกลุ่มเล็ก 3-4 ตัวที่ออกนอกพื้นที่หรืออาศัยอยู่นอกป่าอนุรักษ์เป็นประจำ
(ภาพจาก กรมอุทยานแห่งชาติฯ)
ขณะเดียวกันมองว่า การใช้อุปกรณ์ติดตามตัวยังมีความจำเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เฉพาะช้าง แต่ยังรวมถึงสัตว์อื่นๆ ที่ออกนอกพื้นที่รบกวนประชาชน เพราะพบว่าทุกเคสที่มีการขออนุมัติจับและเคลื่อนย้าย ก็จะพ่วงขอให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวด้วย ไม่เช่นนั้นอาจเป็นการโยนปัญหาจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง หรือแค่ลดผลกระทบในช่วงเวลาสั้นๆ ดังนั้นการติดอุปกรณ์ติดตามตัว จึงเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของนักบริหารจัดการในปัจจุบัน
แผนการติดปลอกคอช้าง ไม่ถึงกับเรียกว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน แต่มันจะอยู่กับกรมอุทยานฯ ไปอีกระยะหนึ่ง
ดร.ศุภกิจ ทิ้งท้ายว่า ในปีนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังคงมีแผนการติดปลอกคอให้กับช้าง ซึ่งอุปกรณ์ติดตามตัวชนิดนี้มีความต่อเนื่องของระยะเวลาการใช้งานประมาณ 5-6 ปี นับตั้งแต่วันที่เปิดระบบ โดยรับข้อมูลทุกชั่วโมงและส่งข้อมูลมายังเจ้าหน้าที่ทุก 4 ชั่วโมง เชื่อว่าในระยะยาวจะเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาระหว่างสัตว์ป่ากับคนในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศึกขัดแย้ง “คน-ช้างป่า” 12 ปียังไม่จบ ระยะทางอีกยาวไกล