ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไม่เกี่ยง “ก้าวไกล” ร่วมวงหรือไม่ ปชป.จองกฐินปม “ทักษิณวีไอพี”

การเมือง
12 มี.ค. 67
17:51
309
Logo Thai PBS
ไม่เกี่ยง “ก้าวไกล” ร่วมวงหรือไม่ ปชป.จองกฐินปม “ทักษิณวีไอพี”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ญัตติอภิปรายทั่วไปรัฐบาล โดยไม่ลงมติ ที่จะมีขึ้น 2 นัดซ้อน คือของวุฒิสภา ตามมาตรา 153 และ สส.พรรคฝ่ายค้าน ตามมาตรา 152 เท่ากับชัดเจนว่า การอภิปรายเรื่อง 2 มาตรฐานกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ผู้ที่จองกฐินไว้แล้วแน่ ๆ คือ สว.กับ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคก้าวไกล ยังไม่ยอมลงในรายละเอียด และยังไม่ยอมพูดให้ชัดถึงประเด็นนี้

สำหรับ สว. เชื่อว่าการอภิปรายเรื่องนี้ จะนำโดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมือง วุฒิสภา พร้อม สว.ในกรรมาธิการชุดนี้ น่าจะรวมทั้งนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ และสมทบด้วยนายสมชาย แสวงการ ประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ที่เคยร้องเตือนกรมราชทัณฑ์มาตลอดว่า การเอื้อประโยชน์ต่อนายทักษิณ ระวังอาจได้ติดคุกแทน ยังไม่นับ สว.คนอื่น ๆ ที่ยังค้างคาใจเรื่องนี้

ส่วนฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ที่ก่อนหน้านี้ มีท่าทีแปร่งๆ ไม่ต่างจากพรรคก้าวไกล แต่ล่าสุดในการประชุมพรรคร่วม 6 มีนาคม นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า

พรรคจะอภิปรายเรื่องกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน รวมถึงนายทักษิณด้วย เท่ากับการันตีได้ว่า คอการเมืองพันธุ์แท้ จะได้เห็นพรรคประชาธิปัตย์ สวมบทฝ่ายค้านเต็มตัว อภิปรายรัฐบาลอย่างเต็มที่

แม้ว่า สส.ส่วนใหญ่ในขณะนี้ของ ปชป.จะเป็น สส.หน้าใหม่ 1-2 สมัย แต่ยี่ห้อประชาธิปัตย์ย่อมไม่ธรรมดา มีเบ้าหลอมแบบเดียวกันเรื่องลีลาและการอภิปราย ยังไม่นับ 3 อดีตหัวหน้าพรรค

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ที่ตอนกลับมาสวมบทฝ่ายค้านเต็มตัว “ปล่อยของ” ให้เห็นบ่อยครั้ง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายชวน หลีกภัย ซึ่งฝังใจกับรัฐบาล ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยถึงพรรคเพื่อไทย กรณีไม่จัดสรรงบประมาณพัฒนาถนนหนทางในพื้นที่ภาคใต้

ต้องไม่ลืมว่า บทบาทและการทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต นอกจากโดนใจคอการเมืองแล้ว ยังสร้างภาพจำตั้งแต่สมัย “รัฐบาลทักษิณ 1” และเมื่อเป็น “รัฐบาลทักษิณ 2” รัฐบาลต้องชิงยุบสภาหนีการอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติเหมือนญัตติที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ เรื่องขายหุ้นชินคอร์ปให้กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ โดยไม่เสียภาษี

และในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่โดนคดีรับจำนำข้าว จนอดีตนายกฯ หญิงคนแรกของไทย ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ก็มาจากการเปิดประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจจาก สส.พรรคประชาธิปัตย์ เช่นกัน

ยังไม่นับเหตุการณ์ 30 พ.ค.2555 ขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย เดินหน้าผลักดันพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับในการประชุมสภาฯ เกิดเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวาย กระทั่ง น.ส.รังสิมา รอดรัศมี สส.หญิงของประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น ขึ้นไปยื้อแย่งเก้าอี้ประธานในการประชุมทีเดียว เป็นอีกหนึ่งในภาพจำที่เกิดขึ้น

การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติครั้งนี้ แม้พรรคก้าวไกลยังจะ “แทงกั๊ก” ไม่พูดชัดว่าจะร่วมอภิปรายประเด็น 2 มาตรการ กระบวนการยุติธรรม ที่มีนายทักษิณเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดหรือไม่ แต่ลำพังแค่พรรคประชาธิปัตย์ หากไม่โลเล หรือยังหวังจะเข้าร่วมรัฐบาล การซักฟอกจะเร้าใจแน่ ๆ

แม้จะมีเส้นแบ่งระหว่างอภิปรายทั่วไปกับอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ตามที เพราะมีบทเรียนให้เห็นประจักษ์มาแล้ว

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง