ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศึกขัดแย้ง “คน-ช้างป่า” 12 ปียังไม่จบ ระยะทางอีกยาวไกล

สิ่งแวดล้อม
13 มี.ค. 67
06:04
2,092
Logo Thai PBS
ศึกขัดแย้ง “คน-ช้างป่า” 12 ปียังไม่จบ ระยะทางอีกยาวไกล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

13 มี.ค. "วันช้างไทย" ถูกตั้งขึ้นเพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญ และอนุรักษ์สัตว์คู่ชาติไทย อีกมุมหนึ่งประชากรช้างป่าที่เพิ่มขึ้นปีละ 8% บางส่วนออกนอกป่าอนุรักษ์เข้าไปยังชุมชน ทำลายพืชผลทางเกษตร หรือทำร้ายคนเสียชีวิต กลายเป็นความขัดแย้งคน-ช้าง

ความรุนแรงของปัญหากลุ่มป่าตะวันออกไม่ได้ลดลง ยังมีคนบาดเจ็บ-เสียชีวิต ช้างบาดเจ็บ-ตาย เราพยายามทุ่มสรรพกำลังลงไป

นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกเล่าสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาขัดแย้งคน-ช้างป่า ที่ลุกลามเรื้อรังนานนับ 12 ปี

การใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ชายขอบป่าถูกจับจองเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางการเกษตร บางส่วนทับซ้อนพื้นที่ที่เคยเป็นถิ่นอาศัยของช้างป่า และแนวโน้มช้างออกนอกป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้น ประกอบชาวบ้านออกมานอนเฝ้าทรัพย์สินที่ทำกิน เพราะปีนี้ราคาพืชผลทางการเกษตรสูงขึ้น ทั้งอ้อย ข้าว ยางพารา

เพียง 2 เดือนแรกของปี 2567 ชาวบ้านถูกช้างป่าทำร้ายเสียชีวิตถึง 13 คน ในจำนวนนี้เป็นการเสียชีวิตในป่า 4-5 คน เคสล่าสุดในพื้นที่บ้านนาน้อย ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ช้างลากหญิงอายุ 69 ปีจากหน้าบ้านมาทำร้ายจนเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจอย่างมาก

ทุกครั้งที่ได้ข่าวช้างทำร้ายคนเสียชีวิต ยอมรับว่าผมจิตตก เราก็ไม่ไหว รู้สึกว่าทำไม่ดีพอหรือ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ไม่ทุกข์ร้อน เราทำเต็มที่ในศักยภาพ ณ ปัจจุบันที่พึ่งกระทำได้

ปรับตัวใช้ชีวิตในพื้นที่ "ภัยช้างป่า"

ช้างเดี่ยวบางตัวอาจจะเข้าบ้านคน ทำลายพืชผลการเกษตร รุนแรงที่สุดคือทำร้ายคนเสียชีวิต ส่วนช้างฝูงเมื่อเข้าพื้นที่ทางการเกษตร กล้วย ขนุน มะม่วง ทุเรียน สร้างความเสียหายหนัก

ประชาชนทั่วไปรู้สึกว่าภาครัฐต้องการให้เขาอยู่กับช้าง แต่แนวทางปฏิบัติเพียงต้องการให้รู้พฤติกรรมช้าง และวิธีปฏิบัติตัวระหว่างทางสู่เป้าหมายการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ คือ กันช้างให้อยู่ในป่าอนุรักษ์ 100%

กรมอุทยานฯ หน่วยงานหลักที่ดูแลลดผลกระทบสัตว์ป่า ยอมรับว่าหนักใจ โดยเฉพาะกรณีช้างป่าสร้างความสูญเสียต่อชีวิต จึงอยากให้ชาวบ้านคิดเสมือนอยู่ในพื้นที่ "ภัยช้าง" 

ถ้างูเห่าเลื้อยเข้าบ้าน คนคงไม่กล้าเข้าไป หรือนอนไม่หลับ เป็นหลักการเดียวกัน เรายอมรับว่าช้างป่าอันตราย เพื่อลดความสูญเสีย คนที่ชอบออกมานอนรับลมช่วงเช้ามืด หรือเด็กขี่รถจักรยานเล่นตอนกลางคืน อาจทำไม่ได้แล้ว

ช้างป่าฉลาดปรับตัว สำรวจพื้นที่จุดแวะกินอาหาร พืชผลทางการเกษตร แหล่งน้ำ จุดพักอาศัยตามหย่อมป่า ก่อนขยับหากินในวันรุ่งขึ้น คนในพื้นที่จึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเจอช้างป่า เพราะช้างหูดี จมูกดี ต้องทำให้ช้างรับรู้การอยู่ของคน ด้วยการเปิดไฟส่องสว่าง ส่งเสียงลักษณะค่อย ๆ ดังขึ้น อย่าส่งเสียงดังทันที เพราะช้างจะตกใจ และพุ่งชาร์จทำร้ายได้

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ตอบข้อสงสัยที่มักพบเห็นภาพช้างป่าเข้าห้องครัว เพราะช้างได้กลิ่นเค็มจากเครื่องปรุงรส กะปิ น้ำปลา ปลาร้า ผงชูรส จึงขอให้ปิดผาภาชนะ หรือเก็บให้มิดชิด

ประชากรช้างป่าเพิ่มขึ้น 8% ต่อปี กระจายตัวใน 16 กลุ่มป่า 93 พื้นป่าอนุรักษ์ เป็นอุทยานแห่งชาติ 48 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 36 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 9 แห่ง จากการประเมินปี 2546 มีช้างป่าทั่วประเทศ 3,000-3,500 ตัว แต่ล่าสุดปี 2566 อยู่ที่ 4,013-4,422 ตัว

"ไข่แดง" ป่าตะวันออก ช้างออกทางไหนก็เจอหมู่บ้าน

สถิติช้างออกนอกป่าอนุรักษ์ 3 ปี รวม 37,135 ครั้ง เฉลี่ยปีละ 12,378 ครั้ง ปี 2566 พบว่า กลุ่มป่าตะวันออก มีช้างออกนอกพื้นที่มากสุด 5,217 ครั้ง รองลงมากลุ่มป่าแก่งกระจาน 3,685 ครั้ง กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 2,011 ครั้ง กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าตะวันตก 780 ครั้ง

ประชากร 396,883 คน 156,066 ครัวเรือน ในพื้นที่ 30 จังหวัด ได้รับผลกระทบช้างป่านอกพื้นที่อนุรักษ์ มากที่สุดในพื้นที่ฉะเชิงเทรา จันทบุรี กาญจนบุรี ปราจีนบุรี และตราด

ภาพความหนาแน่นประชากรช้างป่าตะวันออก

ภาพความหนาแน่นประชากรช้างป่าตะวันออก

ภาพความหนาแน่นประชากรช้างป่าตะวันออก

ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับความเสียหายของทรัพย์และพืชการเกษตร ในพื้นที่รอบป่าตะวันออก ทรัพย์สินเสียหาย 29 ครั้ง พืชผล 407 ครั้ง, แก่งกระจาน ทรัพย์สินเสียหาย 17 ครั้ง พืชผล 159 ครั้ง, ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ทรัพย์สินเสียหาย 52 ครั้ง พืชผล 521 ครั้ง, ตะวันตก ทรัพย์สินเสียหาย 34 ครั้ง พืชผล 298 ครั้ง, และภูเขียว-น้ำหนาว ทรัพย์สิน 120 ครั้ง พืชผล 358 ครั้ง

ตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน (8 มี.ค.2567) คนถูกช้างป่าทำร้ายเสียชีวิต 221 คน บาดเจ็บ 194 คน ในจำนวนนี้กลุ่มป่าตะวันออก มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 115 คน รองลงมาเป็นดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 27 คน ภูเขียวน้ำหนาว 22 คน ตะวันตก 21 คน และแก่งกระจาน 21 คน ส่วนช้างป่าตายรวม 190 ตัว

ตัวเลขความเสียหายสะท้อนความรุนแรงของปัญหา สส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ต่างออกมาส่งเสียงแทนชาวบ้านที่เดือดร้อน บางส่วนขอให้ผลักดันเป็นเรื่องนี้เป็น "วาระแห่งชาติ" เพื่อทุ่มสรรพกำลัง งบประมาณ เร่งแก้ขัดแย้งคน-ช้างอย่างจริงจัง

เปิด 6 มาตรการ ตรึงช้างอยู่ป่า

กังวลว่าถ้าไม่ได้งบฯ ปกติ จะขับเคลื่อนต่ออย่างไร นายเผด็จ ยอมรับว่า การแก้ปัญหาและลดผลกระทบช้างป่า ยังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ทั้งการก่อสร้างคูกันช้าง การจ้างเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังและผลักดัน รวมทั้งชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม

แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่าแห่งชาติ พ.ศ.2567-2571 ขับเคลื่อนเป้าหมาย 6 ด้าน เตรียมเสนอต่อคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง เร็ว ๆ นี้ ก่อนนำเข้า ครม.พิจารณาเห็นชอบ เพื่อให้ทุกหน่วยงานนำไปขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป

ฟื้นแหล่งอาหาร-ปรับใช้คูกันช้างดาดคอนกรีต

ปรับปรุงระบบนิเวศถิ่นอาศัยในพื้นที่ป่าให้ดึงดูดช้าง ฟื้นฟูแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร โป่ง และที่หลบนอนหลบภัย ทำให้ทุ่งหญ้าหลากหลายและอุดมสมบูรณ์

ปรับปรุงรูปแบบแนวป้องกันช้าง ยึดผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขปัญหาช้างป่า โดยพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมสถาน เห็นตรงกันว่าควรใช้ "คูกันช้างดาดคอนกรีต" สกัดกั้นช้างป่าเข้าชุมชน นำร่องระยะทางรวม 50 กิโลเมตร ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน หลังพบว่าการใช้คูดินแบบเดิม ไม่คงทน อยู่ได้เพียง 1-2 ปี ช้างก็สไลด์จนดินกลายเป็นทางลาด เช่นเดียวกับการใช้รั้วไฟฟ้า ช้างเรียนรู้ในการดันต้นไม้ล้มทับ หรือใช้ไม้ฟาดรั้ว ก่อนเดินเข้าชุมชน

คูแบบดาดคอนกรีต ช้างจะปีนขึ้นไม่ได้ เนื่องจากน้ำหนักตัวกับความชันคอนกรีต

สำหรับการก่อสร้างคูดังกล่าวได้รับสนับสนุนงบประมาณผ่านคณะอนุกรรมาธิการฯ ไปแล้วในปี 2567 อยู่ในขั้นตอนการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะลงนามจัดซื้อจัดจ้างเร็วสุด เดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ และเริ่มก่อสร้างในปีนี้

เจ้าหน้าที่ใช้โดรน Thermal เพิ่มประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในภารกิจผลักดันช้าง

เจ้าหน้าที่ใช้โดรน Thermal เพิ่มประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในภารกิจผลักดันช้าง

เจ้าหน้าที่ใช้โดรน Thermal เพิ่มประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในภารกิจผลักดันช้าง

ร้องขอ "โดรน Thermal" เสริมเขี้ยวเล็บชุดผลักดัน

อย่างไรก็ตาม การสร้างคูกันช้างรูปแบบใหม่ให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าต้องใช้เวลานาน ระหว่างนี้ได้จัดชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังผลักดันช้าง ทำหน้าที่เต็มเวลาในภารกิจช้างโดยเฉพาะ ทั้งกลางวัน-กลางคืน เพื่อให้รู้ถึงพฤติกรรมช้างแต่ละตัว เส้นทางเดิน รวมทั้งมีความสนิทสนมทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน และเครือข่ายอาสาฯ

ขณะนี้ทั่วประเทศมีชุดปฏิบัติการดังกล่าว 30 ชุด 150 คน ในจำนวนนี้ทำหน้าที่ในผืนป่าตะวันออก 9 ชุด แต่ยังประสบปัญหางบประมาณจัดจ้างที่ไม่มีความแน่นอน เพราะดึงงบรายได้อุทยานฯ และงบอนุรักษ์สัตว์ป่ามาใช้ชั่วคราว และอยู่ระหว่างเสนอสำนักงบประมาณ และสภาผู้แทนราษฎร ใช้งบปกติขับเคลื่อนงานส่วนนี้

ชุดผลักดันช้างทำงานหนัก ต้องเดินไกล และมีความเสี่ยงเสมอ ผมเคยเดินกับเขา 25 กิโลเมตรก็เหนื่อยแล้ว แต่บางครั้งเขาต้องเดินผลักดันช้างไกลกว่านั้น

การทำงานกับสัตว์ป่ามีความเสี่ยงสูง กรมอุทยานฯ พยายามผลักดันให้มีอุปกรณ์ทันสมัย โดยเฉพาะ "โดรนถ่ายภาพตรวจจับความร้อน" หรือโดรน Thermal ประจำทุกชุดปฏิบัติการ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำให้รู้ถึงทิศทางการเดินของช้าง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในเส้นทางผ่านได้อย่างทันท่วงที ลดความเสี่ยงต่อเจ้าหน้าที่ในเวลากลางคืน

บางครั้งการเดินแกะรอย สุุดท้ายเจ้าหน้าที่ไปตกอยู่ท่ามกลางฝูงช้าง เวลากลางคืนช้างได้เปรียบเรา หากมีโดรน Thermal จะรู้ทิศทางของช้างและเพิ่มความปลอดภัยเจ้าหน้าที่

ขอปรับเกณฑ์ใหม่ จ่ายชดเชยพืชผลเกษตร

กรมอุทยานฯ อยู่ในขั้นตอนทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง พิจารณาหลักเกณฑ์ที่ร่างขึ้นใหม่ในการชดเชยความเสียหายทางการเกษตร โดยอิงอัตราการชดเชยช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่จ่ายชดเชยพืชผลการเกษตรเมื่อต้องปักเสาพาดสายไฟฟ้า เช่น ความเสียหายต่อทุเรียน ชดเชยต้นละ 20,000 บาท แม้ไม่คุ้ม แต่ชาวบ้านยังพอรับได้

นายเผด็จ ยอมรับว่า ต้องใช้เวลาพอสมควรในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันใช้หลักเกณฑ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จ่ายชดเชยกรณีเดียวกับภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น น้ำท่วม ซึ่งเป็นอัตราค่อนข้างต่ำและประชาชนรู้สึกรับไม่ไหว เชื่อว่าหากหลักเกณฑ์นี้ผ่านการอนุมัติจะลดกระทบต่อประชาชนได้มาก และทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้น 

หลักเกณฑ์ใหม่พยายามตีความว่าหากเก็บผลผลิตไม่ได้เหมือนเดิม ก็ควรได้รับการเยียวยา จากเดิมที่ต้องเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง

เมื่อชาวบ้านได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม ก็จะไม่ใช้ความรุนแรงต่อช้าง ไม่ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ระหว่างผลักดันช้างมุ่งหน้าเข้าป่าอนุรักษ์ เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านบางส่วนกังวลเรื่องค่าชดเชยไม่คุ้มค่า จึงนำรถมาจอดขวาง จุดประทัดปิงปอง ใช้เสียงปืน สุดท้ายต้องเปลี่ยนเส้นทางผลักดันช้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย 

พลายไข่นุ้ย เตรียมเข้าโปรแกรมปรับพฤติกรรม

พลายไข่นุ้ย เตรียมเข้าโปรแกรมปรับพฤติกรรม

พลายไข่นุ้ย เตรียมเข้าโปรแกรมปรับพฤติกรรม

โมเดล "พลายไข่นุ้ย" สร้างศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างดุ

กรณีช้างช้างดุร้ายและมีโอกาสสร้างความสูญเสียต่อชีวิตประชาชน ลักษณะพฤติกรรมชอบเข้าบ้านคน รื้อค้นของ ทำลายทรัพย์สินนั้น กรมอุทยานฯ เตรียมสร้างศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างกลุ่มนี้ โดยยกโมเดล "พลายไข่นุ้ย" ที่ทำ MOU กับมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม สร้างคอกบริบาลที่สถานีเพราะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา ขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จ 100% และตั้งเป้าก่อสร้างสถานที่รองรับและปรับพฤติกรรมช้างอย่างน้อยภูมิภาคละ 1 แห่ง พื้นที่ 2 ไร่ ใช้งบประมาณแห่งละ 4 ล้านบาท

มาตรการสุดท้าย ควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด โดยกรมอุทยานฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการขอนำเข้าวัคซีนจากสหรัฐอเมริกา นำร่อง 10 โดส เพื่อทดสอบกับช้างบ้าน ในปางช้าง จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ก่อนขยายผลในช้างป่า ซึ่งวัคซีน 1 เข็ม คุมกำเนิดได้นาน 7 ปี

ยอมรับว่าการคุมกำเนิดช้าง คนไม่เห็นด้วยก็มี แต่เราจำเป็นต้องจากเริ่มศึกษากับช้างบ้านก่อน หากทำในช้างป่าเลยเมื่อเกิดพลาดพลั้งก็แก้ปัญหาไม่ได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

1 ปี "วัคซีนทำหมันช้าง" ไปไม่ถึงฝัน ติดขั้นตอนอนุญาตนำเข้า 

คืนสัญชาตญาณสัตว์ป่า “ทับเสลา” ช้างน้อยดอยผาเมือง 

ชันสูตร "ถั่วต้ม" ช้างป่าแก่งหางแมว พบกระสุนฝังตัว-ขา 

ปลอกคอจีพีเอส "ช้างป่า" ติดนาน 6 ปี "ไม่มีอะไร เร็วเท่าใจคน" 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง