- "อินทผลัม" ผลไม้มหัศจรรย์แห่ง "เดือนรอมฎอน"
- "อีฎิ้ลฟิตริ" วันสิ้นสุดช่วงเทศกาลถือศีลอด "เดือนรอมฎอน"
"รอมฏอน" เป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม แต่ละปีชาวมุสลิมทั่วโลกจะ "ถือศีลอด" ตลอดทั้งเดือน โดยจะเริ่มถือศีลอดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งปีนี้ วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับ วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี
ประกาศจุฬาราชมนตรี
รอมฎอน ถือเป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เชื่อกันว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานพระคัมภีร์อัลกุรอานลงมาให้แก่ นบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม เพื่อใช้สั่งสอน และเป็นเครื่องชี้ทางให้แก่อิสลามิกชนทั่วโลก
รอมฏอน เดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม ชาวมุสลิมทั่วโลกจะถือศีลอด
พระคัมภีร์ระบุว่า วันที่พระเจ้าประทานอัลกุรอานให้แก่ นบีมูฮัมหมัด คือ ช่วงวันที่ 26-27 ของเดือนรอมฎอน ซึ่งชาวมุสลิมถือว่า เป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด
ด้วยเหตุนี้ ในเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมทุกคนจึงต้องรักษาศีล อดอาหารเพื่อฝึกฝนการบังคับตนเองและเพื่อให้เข้าถึงคำสอนของนบีมูฮัมหมัด รวมถึงใช้เวลาในการศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอานอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการบูชาพระเป็นเจ้า เดือนนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "เดือนบวช"
ตลอดเดือนรอมฎอน 29-30 วัน หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ชาวมุสลิมจะปฏิบัติศาสนกิจเพื่ออัลเลาะห์ ด้วยการอดอาหาร งดเว้นเครื่องดื่ม พร้อมทั้งงดเว้นจากการร่วมประเวณี รวมทั้งเข้มงวดระมัดระวังตนเองไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามของศาสนา ไม่กระทำใดที่ขัดต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ดังนี้
- ทางมือ ด้วยการทำร้าย หรือหยิบฉวย ลักขโมย
- ทางเท้า ด้วยการก้าวย่างไปสถานที่ต้องห้าม
- ทางตา ด้วยการจ้องมอง ดูสิ่งลามก
- ทางหู ด้วยการฟังสิ่งไร้สาระ การฟังคำนินทาให้ร้าย และ
- ทางปาก ด้วยการโกหก โป้ปด ให้ร้าย พูดเรื่องไร้สาระ หยาบคาย
การปฏิบัติตนเพื่อละเว้นจากการกระทำดังกล่าวเริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน และแสดงให้เห็นว่าการถือศีลอดนั้นไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะการอดอาหารดังที่เข้าใจกัน หากยังรวมถึงการระมัดระวังตนมิให้ประพฤติผิดในเรื่องอื่น ๆ ด้วย
ความสำคัญของ "เดือนรอมฎอน"
ดังนั้นแก่นสาระของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน จึงมีจุดประสงค์ เพื่อให้อิสลามิกชนได้ตระหนักรู้ถึงความยากลำบาก ได้เรียนรู้อุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต การถือศีลอดจึงเป็นการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อให้รู้จักอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากต่าง ๆ ด้วยความเพียร และสติปัญญา
การถือศีลอด เป็นการขัดเกลาจิตใจให้อิสลามิกชนเป็นผู้มีสติหนักแน่น อดทนต่อความหิวโหย อดทนต่อความโกรธ ไม่ปล่อยจิตใจไหลไปตามสิ่งเย้ายวนอารมณ์
การถือศีลอด จึงเป็นกระบวนการฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมให้เป็นผู้มีสติ การถือศีลจึงมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต ต่อหน้าที่การงาน และกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม
การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เพื่อให้อิสลามิกชนได้ตระหนักรู้ถึงความยากลำบาก
หลักปฏิบัติในการถือศีลอด
การเริ่มต้นวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ในเดือนรอมฎอน จะมีขึ้นตั้งแต่วันแรกของเดือน โดยการประกาศการเริ่มต้นเดือนรอมฎอนจะทำโดยผู้นำทางศาสนาของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะกำหนดจากการสังเกตคืนที่ปรากฎดวงจันทร์เสี้ยวเป็นครั้งแรกหลังจากคืน เดือนมืดให้เป็นวันที่ 1 ของเดือน และนับไปจนครบ 29-30 วันตามแต่ปฏิทินฮิจเราะญ์ของแต่ละปี
อย่างไรก็ตาม ชุมชนมุสลิมหลักของโลก ในตะวันออกกลาง การเริ่มเดือนรอมฎอนจะยึดตามคำประกาศของผู้นำศาสนาอิสลามในอียิปต์เป็นสำคัญ
การอดอาหาร แม้จะเป็นส่วนสำคัญในวัตรปฏิบัติของเดือนรอมฎอน แต่อาหารก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน โดยก่อนและหลังพระอาทิตย์ตก ชาวมุสลิมจะรับประทานอาหารอย่างอิ่มหนำสำราญร่วมกับครอบครัว โดยมีข้อบังคับว่าอาหารชนิดแรกที่อิสลามิกชนต้องรับประทานหลังจากถือศีลอดมา ทั้งวัน คือ "อินทผลัม" ตามด้วยอาหารหวานต่าง ๆ เพื่อชดเชยกับพลังงานที่สูญเสียไปจากการอดอาหาร
แม้ว่าในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ชาวมุสลิมจะสามารถรับประทานอาหารได้ แต่ยังคงต้องสำรวมและถือศีลไม่ปล่อยให้ตนเองมีความสุขกับการรับประทานอาหารและผ่อนคลายจนเกินไป
โดยถือว่าหากศาสนิกชนดื่มด่ำในรสชาติของอาหารและความสุขจากการรับประทาน การฝึกฝนตนเองที่กระทำมาทั้งวันก็เท่ากับเป็นการสูญเปล่า
อาหารชนิดแรกที่อิสลามิกชนต้องรับประทานหลังจากถือศีลอดมา ทั้งวัน คือ อินทผลัม
สิ่งที่ควรปฏิบัติในการถือศีลอด
- รับประทานอาหารซุโฮร์ให้ใกล้หมดเวลา และรีบแก้ศีลอดเมื่อเข้าเวลา
- ไม่พูดนินทา ไม่คิดร้าย ทำใจให้สงบ อ่านอัลกุรอ่าน
- เคี้ยวอาหารช้า ๆ ห้าสิบครั้งต่อคำ ควรทานอาหารไม่อิ่มแน่นมาก
- ดื่มน้ำสะอาด หลังรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารเหมือนปกติ ไม่ควรเพิ่มอาหารมาก
- เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- ไปละหมาดตะรอเวียะฮ์ (การละหมาดในเดือนรอมฏอน) ทุกๆ วัน อย่างช้า ๆ ไม่รีบ
- แบ่งปันอาหารให้ผู้ที่ถือศีลอด
- พยายามเลิกสิ่งเสพติดต่าง ๆ เช่น บุหรี่ ชา กาแฟ
- ควรตรวจร่างกายก่อนเข้าเดือนรอมฎอน และหลังจากสิ้นเดือนรอมฎอน
ข้อห้ามขณะถือศีลอด
ข้อห้ามที่ไม่ควรปฏิบัติ ในช่วงเวลากลางวัน มีดังนี้
- ห้ามรับประทานหรือดื่ม รวมทั้งการสูบบุหรี่ด้วยโดยเจตนา
- ห้ามร่วมประเวณี หรือทำให้อสุจิออกมาโดยเจตนา
- ห้ามทำให้อาเจียนโดยเจตนา
- ห้ามเอาสิ่งใดเข้าไปจนลึกเกินบริเวณภายนอกในอวัยวะที่เป็นรู เช่น ปาก จมูก โดยเจตนา
ดุแลใส่ใจสุขภาพ "ช่วงถือศีลอด"
นพ.ปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา เคยให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมการรับประทานที่แตกต่างกันของแต่ละคน อาจทำให้ช่วงเวลาถือศีลอดยาวนานได้ตั้งแต่ 13 - 20 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไป 29-30 วัน จึงอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับบางคน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ในเดือนถือศีลอด ดูแลสุขภาพได้ดังนี้
- รับประทานอาหารสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะจะทำให้กระหายน้ำได้ระหว่างการถือศีลอดในตอนกลางวัน
- อาหารมื้อเย็นควรเริ่มด้วยอาหารเหลวย่อยง่าย เลี่ยงอาหารที่ย่อยยากเพราะจะทำให้กระเพราะอาหารทำงานหนักขึ้น
- อาหารมื้อเย็น ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารมากเกินไป เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวกระเพาะอาหารจะมีน้ำย่อยออกมามาก การรับประทานอาหารอย่างรวดเร็วจะทำให้กระเพาะอาหารปรับตัวไม่ทัน ระบบย่อยอาหารแปรปรวน เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
- หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ต้องอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง เพราะการนอนหลังรับประทานอาหารทันที อาจทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ ทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวนเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ก่อนรับประทานอาหารหรือปรุงอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง สำหรับน้ำดื่มควร เป็นน้ำที่สะอาด เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน
รู้หรือไม่ "รอมฎอน" ขยับเร็วขึ้นมาทุกปี
เดือนรอมฎอน นอกจากการกำหนดเดือนในปฏิทินอิสลามที่ต้องสังเกตการณ์ดวงจันทร์เสี้ยวแรกแล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับ ดาราศาสตร์ อย่างเรื่องการหมุนรอบตัวเองของโลก และการที่แกนโลกเอียง ดังนี้
“เดือนรอมฎอน” พิธีศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม
เดือนรอมฎอน ขยับเร็วขึ้นมาทุกปี เมื่อเทียบกับปฏิทินสากล
ในแต่ละปี เดือนรอมฎอนจะขยับเร็วขึ้นมา 10 หรือ 11 วัน เมื่อเทียบปฏิทินสากล (ปฏิทินเกรกอเรียน) ปฏิทินสากลนั้นใน 1 ปี มีจำนวณวัน 365 หรือ 366 วัน แตกต่างกับปฏิทินอิสลามแบบจันทรคติ (เดือนกอมารียะห์) ที่มีทั้งหมด 12 เดือน แต่หนึ่งเดือนกอมารียะห์นั้นจะมีจำนวณวัน 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวแรก
ดังนั้น 1 ปีของปฏิทินอิสลาม มีจํานวนวันประมาณ 354 หรือ 355 วัน น้อยกว่าปฏิทินสากลอยู่ประมาณ 10 หรือ 11 วัน ส่งผลให้แต่ละปี เดือนรอมฎอนจะขยับเร็วขึ้นมา และฤดูกาลที่ถือศีลอดจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เนื่องจากปฏิทินจันทรคติ เป็นปฏิทินไม่ตรงตามฤดูกาล
สำหรับปีนี้ วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1445 ตรงกับวันที่ 12 มีนาคม 2567 (ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี) เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1444 ตรงกับวันที่ 23 มีนาคม 2566
ใน 1 วันระยะเวลาถือศีลอด แต่ละพื้นที่บนโลกไม่เท่ากัน
ระยะเวลาการถือศีลอดของมุสลิมแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เพราะแกนหมุนรอบตัวเองของโลกที่เอียงทำมุม 23.5 องศากับเส้นตั้งฉากระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้พื้นที่ต่าง ๆ บนโลก ได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดฤดูกาลบนโลกและระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกัน เช่น ช่วงฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ กลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน
ในขณะที่ซีกโลกใต้จะเป็นฤดูหนาวที่มีกลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน นั่นแปลว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนของแต่ละปี มุสลิมแต่ละพื้นที่ทั่วโลกจะถือศีลอดใน "ฤดูกาล" ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีระยะเวลากลางวัน - กลางคืนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
เดือนรอมฎอนจะสิ้นสุด
1 เดือนในปฏิทินจันทรคติ อาจมี 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการมองเห็นดวงจันทร์ของเดือนใหม่ ดังนั้นในเย็นขอวันที่ 29 ของเดือนรอมฎอนมุสลิมก็จะพากันไปร่วมกันดูดวงจันทร์ หากเห็นก็ถือว่าวันต่อไปเป็นเดือนใหม่ และรอมฎอนก็สิ้นสุดลง เท่ากับว่ารอมฎอนของปีนั้นมี 29 วัน แต่หากไม่เห็นก็นับว่ารอมฎอนมี 30 วัน มุสลิมต้องถือศีลอดต่อไปอีก 1 วัน จึงถือว่าเดือนรอมฎอนของปีนั้นสิ้นสุดลง
เมื่อรอมฎอนสิ้นสุดก็จะเป็นการเฉลิมฉลอง ที่เรียกว่าวัน "วันอีฎิ้ลฟิตริ"
วันอีฎิ้ลฟิตริ หรือ อีดิลฟิตรี ตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาวาล ตามปฏิทินอิสลาม เป็นวันออกบวชหลังจากถือศีลอดตลอดระยะเวลา 1 เดือน นิยมเรียกวันนี้ว่า “วันออกบวช” หรือ “รายาปอซอ“ หรือ “รายาฟิตเราะห์” วันแรกของการออกจากเทศกาลถือศีลอด ถือเป็นวันแห่งรางวัล และการตอบแทนสำหรับผู้ผ่านการทดสอบประจำปีในเดือนรอมมาฎอนด้วยการบังคับตัวเอง จากการลด ละ การกินดื่ม กิเลสตัณหา และได้ละหมาดตะรอวีหฺเป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงเต็มตลอดค่ำคืนของเดือนรอมฎอน
สำหรับปี 2567 สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกประกาศ เรื่อง การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนเซาวาล (วันอีฎิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ระบุว่า
เพื่อให้การกำหนดวันที่ 1 เดือนเซาวาล (วันอีฎิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1445 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ ใน วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า หากในวันและเวลาดังกล่าว "มีผู้เห็นดวงจันทร์" โปรดแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะได้ตรวจสอบ และรายงานผลการดูดวงจันทร์ดังกล่าวมายังจุฬาราชมนตรี เพื่อออกประกาศแจ้งให้พี่น้องมุสลิมได้ทราบโดยทั่วกันต่อไป
เดือนรอมฏอน นับว่ามีความสำคัญ ตามบัญญัติของศาสนา 1 ใน 5 ของอิสลาม หรือเรียกว่า "การถือบวช" คล้ายกับการถือศีล 5 ของชาวพุทธ แต่ศีลอดของอิสลามนั้นไม่ปฏิบัติไม่ได้ มุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว จำเป็นต้องปฏิบัติศีลนี้อย่างเคร่งครัด ยกเว้นผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนชรา หญิงมีครรภ์ เด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
อ้างอิงข้อมูล : สำนักสารสนเทศ กอ.รมน.ภาค 4 สน., สสส., สำนักจุฬาราชมนตรี, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
อ่านข่าวอื่น ๆ
19 วันภารกิจ "กู้เรือหลวงสุโขทัย" ไม่พบ 5 ชีวิตผู้สูญหาย
“ภูมิธรรม” ชงฮ่องกงใช้ไทย ศูนย์กลางการค้า-ลงทุนอาเซียน
"เต่ามะเฟือง" วางไข่หาดไม้ขาว จุดชมเครื่องบินขึ้น-ลง
สำนักสารสนเทศ กอ.รมน.ภาค 4 สน.
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- เดือนแห่งการถือศีลอด
- ถือศีลอด
- เดือนรอมฎอน
- เดือนรอมฎอน คืออะไร
- ปฏิทินรอมฎอน 2567
- ความประเสริฐของเดือนรอมฎอน
- วันรอมฎอน คือ
- ประกาศ สำนักจุฬาราชมนตรี
- ปฏิทินอิสลาม
- ข่าวล่าสุด
- ข่าวล่าสุดวันนี้
- ข่าววันนี้ล่าสุด
- ชาวมุสลิม
- เดือนรอมฎอนคืออะไร
- เราะมะฎอน
- วันอีฎิ้ลฟิตริ
- ละหมาดวันอีฎิ้ลฟิตริ
- อีดิลฟิตรี
- วันฮารีรายอ
- ศีลอดสิ้นสุดเมื่อไหร่
- วันออกบวช