ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ยามู พ.ศ.2552” ในวันที่ชายหาดเริ่มมีผู้เข้ามา “ครอบครอง”

สิ่งแวดล้อม
8 มี.ค. 67
12:59
389
Logo Thai PBS
“ยามู พ.ศ.2552” ในวันที่ชายหาดเริ่มมีผู้เข้ามา “ครอบครอง”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หาดยามู ก่อนวันที่ชายหาดจะเริ่มมีผู้เข้ามาครอบครอง

ประมาณปี พ.ศ.2549 – 2550 จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นเกาะอยู่ในทะเลอันดามันอันสวยงาม ถูกกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก” โดยพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเกาะ อย่าง หาดป่าตอง หาดสุรินทร์ ถูกวางให้เป็นโซนของโรงแรมที่พัก กิจกรรมทางทะเล ร้านค้าและศูนย์รวมความบันเทิง ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันออกจะกลายโซนสำหรับรองรับการพักผ่อนระยะยาว เป็นที่อยู่อาศัยสุดหรูหรา

หนึ่งในโซนที่ถูกกำหนดให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยสุดหรู ก็คือ แหลมยามู เพราะมีจุดชมวิวที่สวยงาม หากสร้างบ้านพักหรูมีระเบียงชมวิวติดทะเลจะเห็นผืนน้ำทะเลสีคราม ห่างออกไปไม่ไกล คือ เกาะยาวใหญ่ที่กำลังโด่งดังเช่นกัน

“ที่ดินเริ่มเปลี่ยนมือในช่วงนั้น มีนักลงทุนมากว้านซื้อที่ดินในช่วงปี 2549-2550 ที่ดินบริเวณนี้มีสถานะเป็น สค.1 และ นส.3 ก. เคยเป็นของชาวบ้านซึ่งได้มาจากการจับจองพื้นที่ทำการเกษตรในอดีต ส่วนที่เป็นของคนในเมืองภูเก็ต และส่วนที่เป็นของคนนอกพื้นที่อยู่แล้ว แต่ในเวลาต่อมา ที่ดินทั้งหมดที่สามารถพัฒนาเป็นจุดชมวิวได้ ก็กลายเป็นของบริษัทที่มีชื่อว่า เดอะยามู ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ”

อ่านข่าว ดีเอสไอ ลุยหาดยามู สอบออกเอกสารสิทธิมิชอบ 100 ไร่

ธนู แนบเนียร ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 18 ปีก่อน อธิบายความเป็นมาที่ทำให้ “หาดยามู” ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ดูเหมือนจะไม่ใช่หาดสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้เหมือนในอดีต จนเป็นที่มาของเหตุ “ฝรั่งเตะหมอ” ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงการเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนชายหาดสาธารณะอีกหลายแห่ง

ธนู เล่าว่า แหลมยามู ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ถูกออกแบบให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยระยะกลางไปถึงระยะยาวของคนมีอันจะกิน ดังนั้นจึงมีโครงการที่ตามมา คือ การโฆษณาขายวิลล่าหรูพร้อมที่จอดเรือยอร์ชส่วนตัว และความพยายามจะสร้างท่าเรือที่เรียกว่า “ท่าเรือมารีน่า” ลงไปในทะเลนี่เอง ทำให้ชาวบ้านดั้งเดิมต้องออกมารวมตัวคัดค้าน

สภาพพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเหมือนรองเท้าบูต

สภาพพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเหมือนรองเท้าบูต

สภาพพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเหมือนรองเท้าบูต

“ถ้าเรากางแผนที่แหลมยามูออกมาดู ก็จะเห็นว่า มีรูปร่างคล้ายรองเท้าบูต ซึ่งไปคล้ายกับประเทศอิตาลี ทางโครงการเดอะยามูในช่วงนั้น ก็ใช้วิธีประกาศโฆษณาว่า ที่นี่เป็น Italy in Thailand พร้อมทำแคมเปญขายบ้านหรูพร้อมที่จอดเรือส่วนตัว ซึ่งตั้งราคาบ้านหรูพร้อมที่จอดเรือยอร์ช 1 ลำ เฉลี่ยประมาณยูนิตละ 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 50 ล้านบาท เมื่อคิดจากค่าเงินในช่วงเวลานั้น”

หญ้าทะเล ปะการังน้ำตื้น ชายหาดดั้งเดิม เมื่อปี 2552

หญ้าทะเล ปะการังน้ำตื้น ชายหาดดั้งเดิม เมื่อปี 2552

หญ้าทะเล ปะการังน้ำตื้น ชายหาดดั้งเดิม เมื่อปี 2552

“จนปลายปี 2551 ไปถึงปี 2552 ชาวบ้านไม่มีปัญหากับการสร้างวิลล่า แต่มีปัญหากับการจะสร้างท่าเรือมารีน่า จึงเริ่มรวมตัวกันคัดค้าน เพราะท่าเรือจะไปทำลายทรัพยากรทางทะเลบริเวณชายฝั่งอย่างรุนแรงแน่ๆ เราก็ลงไปช่วยชาวบ้านทำข้อมูล” ธนู เล่าถึงแนวทางการต่อสู้ของชาวบ้านในช่วงเวลาดังกล่าว

และพบว่า ท้องทะเลบริเวณนั้นมีลักษณะเป็นดินโคลน จึงเป็นพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 150 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน, เป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ประมาณ 1,800 ไร่ ซึ่งมีหญ้าทะเลถึง 7 จาก 12 ชนิดที่พบในประเทศไทย และยังเป็นแหล่งปะการังน้ำตื่นที่มีความสำคัญอย่างมากกับสัตว์น้ำและระบบนิเวศ โดยเฉพาะกับอาชีพประมงของคนในพื้นที่ 

วิธีการที่องค์กรพัฒนาเอกชนของธนูร่วมมือกับชาวบ้านยามูในขณะนั้นก็คือ การทำรายงานการศึกษารูปแบบและกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน จากการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครง การท่าเรือมารีน่าที่บ้านยามู ซึ่งในที่สุดก็สามารถช่วยชาวบ้านยามู ล้มโครงการท่าเรือมารีน่าไปได้ในที่สุด จึงไม่มีที่จอดเรือยอร์ชส่วนตัวเกิดขึ้น

แปลนตัวอย่างท่าเรือมารีนา ที่จอดเรือส่วนตัวที่ถูกคัดค้าน

แปลนตัวอย่างท่าเรือมารีนา ที่จอดเรือส่วนตัวที่ถูกคัดค้าน

แปลนตัวอย่างท่าเรือมารีนา ที่จอดเรือส่วนตัวที่ถูกคัดค้าน

“เขาต้องทำโครงการไปเสนอกรมเจ้าท่า ซึ่งเรารู้มาว่า กรมเจ้าท่าในเวลานั้นเห็นชอบแล้ว แต่ชาวบ้านไม่ยอม เพราะอาชีพประมงของพวกเขาจะจบสิ้นไปเลย การสร้างท่าเรือตรงนั้น มันไม่ใช่แค่เพิ่มที่จอดเรือ แต่มันส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งมหาศาล ที่พักของสัตว์น้ำวัยอ่อนจะหายไป อาชีพที่สืบทอดกันมาของชาวยามูก็จะหายไปด้วย และในที่สุดโครงการท่าเรือก็ต้องล้มเลิกไป”

ถึงแม้ชาวบ้านจะหยุดยั้งท่าเรือมารีน่าได้สำเร็จ พวกเขาก็ต้องมาพบว่า อาณาเขตที่ดินของพื้นที่ที่กลายมาเป็นวิลล่าหรู ดูเหมือนจะงอกเงยขึ้นมาได้ อยู่ในแผ่นกระดาษที่เรียกว่า “เอกสารสิทธิ์” และอาณาเขตที่กว้างขวางขึ้นนี่เอง ที่ทำให้ “หาดยามู” กลายเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเกือบจะเข้าถึงไม่ได้

บันไดที่ชาวบ้านต่อรองเป็นสาธารณะลงหาด

บันไดที่ชาวบ้านต่อรองเป็นสาธารณะลงหาด

บันไดที่ชาวบ้านต่อรองเป็นสาธารณะลงหาด

ถ้าใครไปที่หาดยามู จะเห็นทางที่ถูกก่อสร้างเป็นบันไดปูนขนาดเล็ก มีราวจับให้ใช้เป็นเส้นทางลงสู่ชายหาด ดูคล้ายกับเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับคนทั่วไปให้สามารถเข้ามาเชยชมหาดสาธารณะได้อย่างทั่วถึง แต่ธนู เล่าว่า แท้จริงแล้วบันไดทุกขั้นต้องแลกมาด้วยการต่อสู้

“มีข้อสันนิษฐานกันว่า ที่ดินมันงอกแบบที่เราเรียกกันว่า สค.1 บวม หรือ นส.3 บวม หรือไม่ ... แต่ดูเหมือนมันขยายอาณาเขตออกไปกว้างกว่าที่ดินเดิมที่ชาวบ้านเคยครอบครอง”

“ข้อสันนิษฐานว่า ขนาดของที่ดินที่ถูกขายไปให้โครงการอาจจะเปลี่ยนแปลงไป มาจากหลักฐานที่ชาวบ้านสังเกตเปรียบเทียบกับที่ดินเดิมที่เขาขายให้โครงการ เคยมีอาณาเขตไปสุดแค่สวนยางพาราเท่านั้น แต่ที่ดินแปลงเดียวกัน พอไปอยู่ในมือเจ้าของรายใหม่ กลับมีอาณาเขตในเอกสารสิทธิ์เลยไปถึงป่าชายฝั่งและหัวแหลม ทั้งที่ป่าชายฝั่งเป็นพวกป่าสน ต้นโพธิ์ทะเล พลับพลึงทะเล หรือหัวแหลมก็มีสภาพเป็นหาดหิน ไม่ใช่ที่ทำกินที่เจ้าของเดิมเคยมีเอกสารสิทธิ์”

การคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือมารีนาในปี 2552

การคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือมารีนาในปี 2552

การคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือมารีนาในปี 2552

“กลายเป็นว่า การเข้าถึงชายหาดของชาวบ้านก็ลำบากแล้ว เพราะหาดยามูถูกโอบล้อมโดยที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ จะเดินผ่านไปก็มีป้อมยามดักไว้ด้านหน้า ไม่เหลือทางสาธารณะให้เดินลงไปที่หาดได้เลย พอเป็นเช่นนี้ ถึงแม้ที่ดินชายหาดจะยังคงเป็นที่สาธารณะ แต่ก็เหมือนกลายเป็นของเอกชนไปแล้วอยู่ดี เพราะถูกปิดทางเข้าไปทั้งหมด” ธนู อธิบายถึงสถานการณ์ นส.3 บวม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งทำให้หาดยามู มีสถานะคล้ายเป็นหาดส่วนบุคคล ทั้งที่จริงแล้วก็ยังเป็นหาดสาธารณะ

สถานการณ์นี้ ทำให้ชาวยามูทั้งชุมชน ไปเจรจากับทางโครงการเดอะยามู เพื่อขอให้ต้องทำบันไดเป็นทางสาธารณะลงไปที่ชายหาด โดยมีเงื่อนไขในการต่อรอง คือ ถ้าไม่ทำบันได ผู้ใหญ่บ้านก็จะไม่ช่วยรับรองเอกสารสิทธิของพื้นที่ที่จะก่อสร้างเป็นวิลล่าหรู ทางโครงการจึงยอมสร้างบันไดเป็นทางสาธารณะให้

แม้จะมีข้อมูลเช่นนี้ แต่ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน ยอมรับว่า ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีหน่วยงานมาตรวจสอบการได้มาหรือความถูกต้องของเอกสารสิทธิ์ที่แหลมยามูอย่างจริงจังเลย แม้ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จะเคยมีความพยายามเข้ามาช่วยตรวจสอบ แต่ถูกโต้แย้งว่า ที่ดินเดิมในบริเวณนี้มีมูลค่ารวมกันไม่ถึง 1,000 ล้านบาท จึงไม่เข้าเงื่อนไขให้เป็นคดีพิเศษ

อ่านข่าว ชาวภูเก็ตรวมตัวหน้าวิลลา-หาดยามู ทวงคืนชายหาดสาธารณะ

“หลังยกเลิกท่าเรือมารีน่าไป โครงการก็เป๋ไปสักพักหนึ่ง เพราะไม่มีที่จอดเรือส่วนตัวตามที่โฆษณาไว้ ก่อนที่เขาจะไปร่วมทุนกับนักลงทุนจากสิงคโปร์เพื่อเดินโครงการใหม่ ยกเลิกมารีน่า ยกเลิกโรงแรม เหลือแต่วิลล่าประมาณ 50 หลัง ซึ่งในส่วนนี้เราก็พบว่า เขาไม่ได้ทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แบบเต็มรูปแบบที่ต้องผ่านการพิจารณาในระดับชาติโดยสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แต่ใช้วิธีไปขอก่อสร้างแยกเป็นรอบละ 8-9 ยูนิต จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องทำ EIA และทำแค่เพียงรายงานผลกระทบทางแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ซึ่งแค่ให้ผ่านการอนุมัติภายในจังหวัดเท่านั้น” ธนู มีข้อสังเกตเพิ่มเติม

อ่านข่าว ตม.เพิกถอนวีซ่า “เดวิด” ฝรั่งเตะหมอแล้ว เตรียมคุมตัวส่งห้องกัก

จากเหตุ “ฝรั่งเตะหมอ” ที่หาดยามู เมื่อย้อนเวลาทบทวนกลับไปในอดีตไม่ถึง 20 ปี กลับทำให้เราสามารถค้นหาสาเหตุที่ทำให้ชายหาดสาธารณะที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ กลายสภาพไปเป็นชายหาดที่มีผู้อ้างแสดงความเป็นเจ้าของอย่างเกรี้ยวกราดได้อย่างไร

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากรูปแบบการถือครองเอกสารสิทธิ์ ที่ควรจะเป็นแค่การ “เปลี่ยนมือ” แต่กลับมีข้อสงสัยว่า เอกสารสิทธิ์ “มีขนาดเปลี่ยนไปจากเดิม” ด้วยหรือไม่

ธนู ย้ำว่า สิ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญจากหาดยามู ก็คือ เราสูญเสียการเข้าถึงชายหาดสาธารณะไปจำนวนมาก เพราะประเทศไทยไม่เคยเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้และตรวจสอบได้ และยังไม่สามารถทำระบบแผนที่เดียวได้อีกด้วย

“ประกาศว่าจะทำระบบ one map ได้ยินมา 7-8 รัฐบาลแล้ว แต่ไม่มีรัฐบาลไหนทำได้สำเร็จสักที ทำให้คิดว่า คงไม่มีทางทำได้สำเร็จหรอก เพราะอย่างไรก็ถูกเปิดเผยไม่ได้ ....ถ้าประเทศไทยทำระบบ one map เสร็จเมื่อไหร่ จะมีความจริงเรื่อง การถือครองที่ดินถูกเปิดเผยออกมาให้ฮือฮาอีกเยอะ” ธนู ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ

รายงานโดย: สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง