วันนี้ (8 มี.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายแรงงานหลายกลุ่ม นำโดยสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายแรงงาน เดินขบวนเรียกร้องสิทธิให้แรงงานสตรี เนื่องในวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มี.ค.ของทุกปี โดยเตรียมยื่นข้อเรียกร้องให้กับรัฐบาล 11 ข้อที่ทำเนียบรัฐบาล
โดยปีนี้ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 11 ข้อ ภายใต้คำขวัญ “ต่อต้านทุนนิยมเสรีกดขี่แรงงานหญิง” โดยเป็นข้อเรียกร้องเดิม 8 ข้อคือรัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับต่างๆ ดังนี้
ฉบับที่ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม
ประเด็นต่อมา รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามที่จ่ายจริง 100% ให้เร่งรัดการจ่ายค่าจ้างวันลาคลอด 98 วันตามมติ ครม.ที่เห็นชอบ ให้ครบถ้วน
นอกจากนี้ รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ รวมถึงหามาตรการ ปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมให้เป็นไปตามหลักการการดำเนินธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบัน
รวมทั้งรัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปีเดือนละ 3,000 บาท รัฐต้องกำหนดสัดส่วนหญิง ชาย และเพศสภาพ ในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ อย่างน้อย 1 ใน 3 เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม
รัฐต้องกำหนดให้วันที่ 8 มี.ค.ของทุกปี เป็นวันหยุดตามประเพณี รัฐต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เป็นไปตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์รัฐต้องให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33
ข้อเรียกร้องใหม่วันสตรีสากลปี 2567
- รัฐต้องรับร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) พ.ศ..…
- รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 155 ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524)
- ขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติ สามารถทำเอกสารขึ้นทะเบียนรอบใหม่ และให้มีการคุ้มครองกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง พร้อมให้มีการทบทวนการเรียกเก็บภาษีกับแรงงานข้ามชาติ
ขณะที่กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง เดินขบวนจากบริเวณหน้าบ้านพิษณุโลก มายังทำเนียบรัฐบาลเช่นกัน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องเพื่อแรงงานสตรี 6 ข้อ ประกอบด้วย
- รัฐบาลต้องรับประกันสิทธิลาคลอด 180 วันโดยได้รับค่าจ้างตลอดการลา และจัดวันหยุดให้คู่ชีวิตทุกเพศลาเพื่อเลี้ยงลูกได้อย่างน้อย 30 วัน รวมถึงจัดให้มีสวัสดิการแม่และเด็กอย่างเหมาะสมถ้วนหน้า
- รัฐบาลและกระทรวงแรงงานทำหน้าที่เป็นหลักประกัน สิทธิแรงงานของแรงงานหญิง และแรงงานทุกเพศด้วยการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากมีเหตุอันใดที่ทำให้แรงงานถูกละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น นายจ้างปิดกิจการ และไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยเมื่อเลิกจ้าง รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบสำรองจ่ายแทน แล้วให้รัฐบาลทำหน้าที่ติดตามนำเงินคืนมาจากนายจ้างเอง
- ยกเลิกนโยบาย กฎหมาย ธรรมเนียม ที่เลือกปฏิบัติต่อแรงงานสตรี และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การตรวจครรภ์ ก่อนเข้าทำงานการตีตราผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์ เป็นคนบาปหรืออาชญากรการตีตราผู้ขายบริการทางเพศ ดังนี้ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รับรองร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ
- รัฐบาลและนายจ้างต้องเพิ่มสิทธิ์ลา เมื่อมีประจำเดือน อย่างน้อยเดือนละ 2 วัน และเพิ่มวันลารับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ทุกประเภทเช่น การยุติการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด การตรวจครรภ์ การฝากครรภ์ และการข้ามเพศ
- รัฐบาลและนายจ้างต้องอุดหนุนงบประมาณการแจกจ่ายผ้าอนามัยฟรี ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และบริการอนามัยเจริญพันธุ์อื่นๆ และจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะสำหรับแรงงานสตรี และแรงงานทุกเพศที่ทำงานบนท้องถนน เช่น ผู้ค้าขาย และไรเดอร์ส่งอาหาร รวมถึงคนไร้บ้าน ผู้สัญจรผ่านไปมา และอื่นๆ
อ่านข่าว : คปท.เล็งยื่นอุทธรณ์พักโทษ "ทักษิณ" ปมบินไป จ.เชียงใหม่
มท.1 จ่อเพิ่มโทษฝรั่งเตะหมอ "พกพาอาวุธปืน"
อ่วม! "ฝุ่นเชียงใหม่" สีแดงเกินเกณฑ์ 4 เท่า 3 วันติดแจกแมสก์