ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรื่องต้องรู้ วิธีดูแล "รถยนต์" ช่วงหน้าร้อน สิ่งของที่ห้ามเก็บไว้ในรถ

ไลฟ์สไตล์
8 มี.ค. 67
10:23
1,847
Logo Thai PBS
เรื่องต้องรู้ วิธีดูแล "รถยนต์" ช่วงหน้าร้อน สิ่งของที่ห้ามเก็บไว้ในรถ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เรื่องต้องรู้ วิธีดูแล "รถยนต์" ช่วงหน้าร้อน ทำไมถึงไม่ควรจอดรถไว้กลางแดด แนะ 6 สิ่งที่ไม่ควรทิ้งไว้ในรถ
อากาศร้อน ไม่ไหววว... ขอฝนโปรยลงมา หน่อยได้ไหมม ... 

เพิ่งเข้าหน้าร้อน แต่หลายคนอาจอยากเจอฝนแล้ว อุณหภูมิความร้อนและแดดจ้า ที่ทุกคนต้องเผชิญทุกวันในช่วงนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อ "คน" เพียงเท่านั้น แต่ "รถยนต์" คู่กายก็อาจทนไม่ไหวเหมือนกัน ยิ่งความร้อนที่มาจากแสงแดด ส่งผลเสียกับรถที่รักได้ทั้งภายใน และภายนอก และหากจอดรถกลางแดดเป็นเวลานาน ความร้อนจะสะสมภายในรถและก่อให้เกิดปัญหามากมาย คนรักรถจึงต้องหาวิธีดูแลเป็นพิเศษในช่วงนี้ 

อ่าน : ร้อนฉ่า! กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนมี.ค.-เม.ย.ร้อนจัดเกิน 40 องศาฯ

จะเกิดอะไรขึ้น หากจอดรถกลางแดด 

อุปกรณ์ยางจะเสื่อมสภาพเร็ว

  • ชิ้นส่วนที่ทำจากยาง ทั้งที่ปัดน้ำฝน ขอบกระจกหน้ารถ อาจเสื่อมสภาพเร็วขึ้นหากทิ้งรถไว้กลางแดดเป็นเวลานาน เนื่องจากความร้อนจะทำให้ยางแข็งตัวและทำให้ยางเสื่อมสภาพ 

สีจะซีดจางเร็ว

  • รังสียูวีจากแสงแดด อาจส่งผลต่อสีรถได้ ยิ่งส่วนไหนเจอแดดหนัก ๆ เป็นเวลานาน สีบริเวณนั้นจะเปลี่ยนไป ตรวจสอบว่าสีดูออกเหลืองมากขึ้น ในรถสีอ่อน หรือสีจางลงหรือไม่ ในกรณีรถสีเข้ม

ฟิล์มสีเสื่อมสภาพ

  • ฟิล์มกรองแสง แม้จะช่วยปกป้องผู้ขับขี่จากแสงแดด แต่หากจอดรถกลางแดด เจอความร้อนเป็นเวลานาน ๆ ฟิล์มอาจเสื่อมสภาพได้ สังเกตได้ด้วยการตรวจสอบว่าสีของฟิล์มมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากฟิล์มมีอาการเปลี่ยนสี มีฟองอากาศ มีรอยยับย่น แสดงว่าฟิล์มเริ่มเสื่อมสภาพแล้ว

ชิ้นส่วนภายในห้องโดยสาร

  • ความร้อนที่สะสมอาจทำให้ชิ้นส่วนภายในห้องโดยสารเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และจะเร็วยิ่งขึ้นสำหรับชิ้นส่วนที่มีหนังเป็นส่วนประกอบ เช่น คอนโซล พวงมาลัย เบาะรถยนต์ โดยชิ้นส่วนเหล่านี้จะเริ่มแห้งและแตกร้าว ส่วนชิ้นส่วนที่มีผ้าเป็นส่วนประกอบ จะซีดจางเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

แบตเตอรี่เสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

  • มักเกิดขึ้นกับแบตเตอรี่ที่เติมน้ำกลั่น หากจอดรถในบริเวณที่ร้อนและระบายความร้อนไม่ดีแบตเตอรี่จะต้องทำงานหนักและเสื่อมสภาพเร็ว สังเกตได้หากแบตเตอรี่เริ่มบวมและรถสตาร์ทติดยาก

แอร์ทำงานหนัก

  • เครื่องปรับอากาศภายในรถแม้ จะติดตั้งเพื่อช่วยไล่อุณหภูมิที่ร้อนจัด แต่หากจอดรถทิ้งไว้กลางแดดจ้าเป็นเวลานาน ความร้อนจะสะสมภายในห้องโดยสารทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักกว่าปกติ เสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร

วิธีป้องกันรถยนต์จากแสงแดด 

มีหลายวิธีในการปกป้องรถจากแสงแดด วิธีหนึ่งคือ พยายามจอดรถ ไว้ในที่ร่ม เช่น ใต้ต้นไม้หรือในโรงรถ แต่หากหาพื้นที่ร่มเงาไม่เจอ ให้ใช้ผ้าคลุมรถเพื่อปกป้องภายนอกตัวรถ และใช้ม่านบังแดดเพื่อให้ภายในรถเย็นและปกป้องแผงหน้าปัดและที่นั่งได้ 

การปกป้องยาง ด้วยการทาสารปกป้องยางที่มีสารยับยั้งรังสียูวีบนยาง เพื่อป้องกันการแตกร้าวและซีดจาง จากการสัมผัสแสงแดด

เทคนิคไล่ความร้อน ในรถเมื่อจอดไว้กลางแดดจ้า

แสงแดดแรงจัด ส่งผลต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ในรถยนต์ ได้ หากการดูแลด้วยความใส่ใจ ฉะนั้นมีข้อแนะนำ "เทคนิคไล่ความร้อน ในรถเมื่อจอดไว้กลางแดดจ้า" มีวิธีการอย่างไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลย 

  • ก่อนที่จะขับรถ ที่จอดไว้กลางแแดดจ้า เมื่อขึ้นรถควรลดความร้อน โดยเปิดกระจกรถด้านหน้าฝั่งผู้โดยสาร
  • จากนั้นเปิดปิดประตูรถด้านหน้า และด้านหลังติดต่อกัน 4-5 ครั้ง ให้อากาศภายนอกไหลผ่านช่องหน้าต่างที่เปิดไว้
  • ความร้อนในห้องโดยสารไหลเวียนออกสู่ภายนอก ช่วยให้อุณหภูมิในห้องโดยสารลดลง 4-5 องศาเซลเซียส

ขณะที่ การขับรถในช่วงกลางวันท่ามกลางแสงแดดแรงจัดจะเกิดปรากฎการณ์ "มิราจ" คือ เกิดการหักเหของแสง ทำให้เห็นภาพลวงตาได้ระยะไกล เช่น เห็นเป็นแอ่งน้ำบนพื้นถนน หากผู้ขับขี่ขับด้วยความเร็วสูงและหยุดรถกะทันหัน จากความสับสนในภาพลวงตานั้น อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ จึงควรขับรถด้วยความระมัดระวังไม่เร็วเกินกำหนดและมีสติตลอดเวลา

อ่าน : ร้อน ร้อน แบบนี้ แนะ 6 วิธีคลายร้อน ช่วงอุณหภูมิสูงแตะ 40 องศาฯ

จอดกลางแดด อย่าทิ้ง 6 สิ่งไว้ในรถ 

สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ยิ่งใชช่วงนี้ที่แดดแรงมาก ร้อนไม่ไหว หากจำเป็นต้อง จอดรถทิ้งไว้กลางแดดเป็นเวลานาน ทำให้ภายในตัวรถร้อนระอุ และเพื่อความปลอดภัย ป้องกันไม่ให้รถเกิดความเสียหาย เนื่องจากวัสดุบางชนิดไวต่อความร้อน ดังนี้ 

  • แบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) : ความร้อนอาจทำให้แบตเตอรี่สำรองเสื่อมประสิทธิภาพได้ มีอายุการใช้งานสั้นลง เช่น ชาร์จเข้าโทรศัพท์ได้ช้าลง หรือชาร์จได้จำนวนรอบไม่เท่าเดิม
  • แผ่นยางกันลื่นหน้ารถ : หากโดนแดดเผาจนละลาย จะกลายเป็นคราบเหนียวติดคอนโซลหน้ารถ
  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ : โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค หรืออุปกรณ์ที่มีแบตเตอรี่ทุกชนิด ความร้อนอาจทำให้วงจรภายในได้รับความเสียหาย เสี่ยงต่อการช็อตและระเบิดได้
  • สเปรย์แอลกอฮอล์ สเปรย์กระป๋อง : ความร้อนทำให้แก๊สในกระป๋องขยายตัว มีแรงดันสูงขึ้นจนเกิดการระเบิดได้
  • ไฟแช็ก : เป็นสารเคมีอันตราย ที่ไม่ควรโดนความร้อน
  • ยา : แสงแดด ทำให้ตัวยาเสื่อมสภาพ คุณสมบัติในการรักษาลดลงหรือเสียไป และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้

องค์ประกอบการเกิดไฟไหม้ในรถยนต์

อาจารย์อ๊อด หรือ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า องค์ประกอบของการเกิดไฟไหม้มี 3 อย่างคือ 1. ความร้อน 2. เชื้อเพลิง 3. อากาศ หากมี 3 สิ่งรวมตัวกันอย่างเหมาะสมก็เกิดปฏิกิริยาไฟไหม้ได้

1. การเกิดอุบัติเหตุจากแสงแดดที่ผ่านกระจกโค้งเว้าในรถยนต์ทำให้เกิดการรวมแสง เมื่อไปเจอกับเชื้อเพลิงอ่อนเช่นกระดาษทิชชูไม้จิ้มฟัน ฟองน้ำ ผ้า PVC เกิดไฟไหม้เกิดความเสียหายภายในรถยนต์ได้

2. ความร้อนจากแสงแดดที่มายังกระป๋องสเปรย์บรรจุแก๊ส เผลอวางในรถยนต์ก็จะเกิดการขยายตัวเกิดการระเบิดทำให้สิ่งของเครื่องใช้ในรถยนต์เกิดความเสียหายได้

3. ความร้อนจากแสงแดดที่ผ่านกระจกโค้งเว้าเกิดการรวมแสงอาจทำให้พาวเวอร์แบงค์โทรศัพท์ที่มีแบตเตอรี่ กล้องที่มีแบตเตอรี่ เกิดการลัดวงจรภายในทำให้เกิดไฟปะทุจากแบตเตอรี่และลุกลามเป็นเพลิงไหม้ในรถยนต์ เกิดความเสียหายได้

4. ภายนอกรถยนต์ในห้องเครื่องความร้อนอาจทำให้สายน้ำมันที่เข้าท่อไอดีเกิดการเสื่อมสภาพและหลุด ทำให้น้ำมันรั่วซึมเมื่อเจอกับความร้อนในห้องเครื่องก็เกิดการจุดปะทุไฟไหม้รถยนต์ได้ รวมถึงรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรีหรือรถไฟฟ้าหากแบตเตอรีเกิดการชำรุดเสียหายเนื่องจากอากาศร้อนก็ทำให้เกิดเพลิงไหม้ และเกิดความเสียหายได้

5. ในช่วงอากาศร้อนควรจอดรถในที่ร่มหรือหลีกเลี่ยงการจอดรถกลางแดด เพราะเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้เกิดเพลิงไหม้ในรถยนต์ ให้ผู้ใช้รถยนต์หมั่นซ่อมบำรุง ดูแลรักษาสภาพของห้องเครื่อง หรือแบตเตอรี่กรณีรถไฟฟ้า อย่าวางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือกระป๋องสเปรย์ที่เสี่ยงทำให้เกิดเพลิงไหม้ในรถยนต์ รวมถึงเชื้อเพลิงอ่อน กระดาษทิชชู เศษไม้ต่างๆ ควรเก็บทำความสะอาดรถยนต์ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ 

 

อากาศร้อน ขับรถอย่า หัวร้อน

ทั้งนี้ฝากไว้กับทุกคนที่ขับรถบนท้องถนน นอกจากจะต้องเคราพกฎจราจรแล้ว สิ่งที่ควรปฎิบัติให้ขับขี่ปลอดภัย สามารถนำไปปฎิบัติตามได้ ดังนี้

  • เริ่มต้นด้วยต้อง "มีสติ" ให้มากที่สุด เจอคนใจร้อน อย่าหัวร้อนตาม ใครขับรถปาดหน้า เปลี่ยนเลนแซงกะทันหัน ขับช้าแช่ขวา หายใจเข้าลึก ๆ มีสติ ยับยั้งความโกรธ นั้นเพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์เลวร้าย บานปลาย นำไปสู้การเผชิญหน้า และไม่ต้องจบด้วยความรุนแรง 
  • "ยิ้มเข้าไว้" บางครั้งอาจเผชิญเหตุการณ์ที่ไม่ได้ดังใจ เช่น มีคนปาดหน้า ขับเบียดแทรก ดึงสติมาอีกครั้ง เผชิญสถานการณ์ด้วยความใจเย็น สุภาพและเป็นมิตร บวกรอยยิ้ม จะช่วยให้สถานการณ์ไม่เลวร้าย      
  • "ขอโทษ" และ "ให้อภัย" กับเรื่องเล็กน้อย ที่พอจะทำให้เราขจัดอารมณ์ที่ไม่ดีออกไป
  • "มีน้ำใจ" ต่อผู้อื่น ใครรีบให้เขาไปก่อน หรือใครมีน้ำใจต่อเราก็ขอบคุณ เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเราเองและเพื่อนร่วมทาง
  • "ตรวจสอบตัวเอง" ว่าการขับขี่ของเราเป็นอย่างไร เราขับรถถูกกฎจราจร เปิดสัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้า ไม่ปาดหน้าเปลี่ยนเลนกะทันหัน รักษาระยะห่างจากรถคันหน้า ตัวเราเองขับขี่อย่างปลอดภัยหรือไม่

สุดท้าย ขอให้ทุกคนเดินทางปลอดภัย ไม่หัวร้อน ตามสภาพอากาศ 

ทั้งหมดนี้ เป็นผลจากแสงแดดที่อาจสร้างความเสียหายให้กับรถยนต์ที่ทุกคนรัก ยังมีอีกหลายหลายเรื่องที่คนใช้รถ และรักรถควรใส่ใจเสมอ นั้นคือการหมั่นตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ อย่างสม่ำเสมอ 

อ้างอิงข้อมูล : กรมการขนส่งทางบก, พีทีทีsplitcityparking

อ่านข่าวอื่น ๆ

วิจัยชี้ "อาร์กติก" อาจไร้น้ำแข็ง นานถึง 1 เดือนต่อปี กลางศตวรรษนี้

เปิดสถิติ "หญิงไทย" ถูกกระทำรุนแรง-ล่วงละเมิด 7 คนต่อวัน

“ทวงคืนชายหาด” ทั่วประเทศ ต้องเปิดเผย “ข้อมูลระวางที่ดิน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง