- เรื่องต้องรู้ วิธีดูแล "รถยนต์" ช่วงหน้าร้อน สิ่งของที่ห้ามเก็บไว้ในรถ
- ร้อนระอุ สวนสัตว์จัดเมนู "หวานเย็น ขาหมูแช่แข็ง" ให้สัตว์คลายร้อน
วันนี้ (6 มี.ค.2567) นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส อดีตเลขาธิการ ส.ป.ก. ระบุว่า กรณีข้อพิพาทในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดนครราชสีมา นั้น
เท่าที่มีการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ และหลักฐานในการใช้ทำกินของเกษตรกร พบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการใช้เป็นพื้นที่ทำกินของเกษตรกรมาก่อน และพื้นที่ทั้งหมดเป็นป่าเสื่อมโทรม ที่กรมป่าไม้มอบให้ ส.ป.ก. และมีการจำแนก ก่อนมอบหมายพื้นที่ให้ ส.ป.ก. เพื่อจัดสรรให้เกษตรกร
หากย้อนไปเมื่อประมาณปี 2536-2537 กรมอุทยานแห่งชาติ ทำถนนตรวจการที่รุกล้ำมาในเขต ส.ป.ก กว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแนวเส้นใหม่ตามแนวถนน พร้อมทั้งห้ามให้เกษตรกรเข้าไปรุกล้ำพื้นที่โดยเด็ดขาด
กรมอุทยานฯ อ้างว่า พื้นที่แนวถนนที่ทำขึ้นมาใหม่ เป็นพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ โดยชอบ เนื่องจากเป็นป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ แต่ความเป็นจริง พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นป่าเสื่อมโทรมทั้งหมด สามารถตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศได้ในช่วงปี 2535-2536 ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นป่าสมบูรณ์ ที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นประเด็นทางสังคม ต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น
คือ 1.การกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ที่ออกโฉนดให้เกษตรกรที่ไม่มีคุณสมบัติซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 2.พื้นที่ทับซ้อนระหว่าง 2 หน่วยงาน ยืนยันว่ากรมอุทยานแห่งชาติ รุกล้ำพื้นที่ สปก. กว่า 1 กิโลเมตร ตามแนวถนนที่มีการสร้างใหม่
ส.ป.ก.ไม่เคยมีข้อขัดแย้งกับกรมป่าไม้มาก่อน แต่พอแยกกัน กลายมาเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ ก็ได้มีการสร้างถนนแนวตรวจการณ์ และขับไล่ชาวบ้านออกนอกเขต ส.ป.ก. โดยอ้างว่า เป็นที่อุทยานฯ พร้อมไล่จับชาวบ้าน จึงทำให้เกิดปัญหามาโดยตลอด ชาวบ้านไม่กล้าเข้าใกล้ ทำให้ปัจจุบันเกิดเป็นแนวป่าใหม่
จากนี้ไปพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์แล้ว เจ้าหน้าที่ก็ไม่ควรที่จะจัดพื้นที่ดังกล่าว ให้เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อให้เกษตรกรใช้ทำกิน แต่ควรมอบให้เป็นพื้นที่ป่า และทำเป็นป่าชุมชนเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ช่วยกันรักษา พร้อมย้ำว่า พื้นที่ป่าดังกล่าวที่เกิดข้อพิพาท สามารถพิสูจน์ได้ทั้งหมดจากภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2536
อ่านข่าว : ขีดเส้น 2 เดือนยุติพิพาทที่ดินใช้วันแมปนำร่อง "เขาใหญ่-เกาะเสม็ด"