ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

How To ฮุบ “ชายหาด” เป็นของตัวเอง มายากลที่ “ยามู” ภูเก็ต

สิ่งแวดล้อม
4 มี.ค. 67
16:51
4,910
Logo Thai PBS
How To ฮุบ “ชายหาด”  เป็นของตัวเอง มายากลที่ “ยามู” ภูเก็ต
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

มีมายากล เกิดขึ้นที่หาดยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

เมื่อมีคนถูกทำร้ายและถูกขับไล่ออกจาก “บันไดหน้าชายหาด” เพราะชายหาดแห่งนี้ “มีเจ้าของ” ... ถูกเล่นแร่แปรธาตุให้เปลี่ยนสถานะจากที่สาธารณะ ไปเป็น สมบัติส่วนบุคคล

การแสดงความเป็นเจ้าของชายหาด เกิดขึ้นในค่ำวันพระจันทร์เต็มดวง 24 กุมภาพันธ์ 2567 .... ชายชาวต่างชาติ เดินเข้าไปทำร้ายร่างกายและตะโกนขับไล่แพทย์หญิงที่กำลังนั่งดูพระจันทร์ริมหาดยามู เพราะไปนั่งตรงจุดที่เป็นบันไดของวิลลาราคาแพงแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกระบุว่าเป็นที่ดินส่วนบุคคล

ข้อเท็จจริงปรากฏเด่นชัดขึ้นในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเจ้าพนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ต ลงพื้นที่ตรวจสอบสิทธิการถือครองที่ดินของวิลลาหรูแห่งนี้พบว่า มีเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดินเป็น นส.3 ก. และเจ้าของเคยมานำชี้เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน โดยแนวที่เคยนำชี้ไว้คือ แนวบันไดขั้นบนสุด

มองมุมหนึ่งคือ วิลลาหรู สร้างบันไดรุกล้ำชายหาดสาธารณะ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ก็อาจจะเห็นได้ว่า มีที่ดินชายหาดแปลงใหญ่ ถูกนำไปออกเอกสารสิทธิ มีเจ้าของ ถูกเปลี่ยนเป็นที่ดินส่วนบุคคล

มีคำถามใหญ่ที่ตามมา คือ ทำไมชายหาด หรือ ที่ดินบริเวณชายหาดจึงกลายเป็นที่ดินที่มีเจ้าของ ทั้งที่ควรจะเป็นสมบัติสาธารณะที่ถูกดูแลโดยหน่วยงานของรัฐ

ถ้าครอบครองพื้นที่หน้าชายหาดได้ ... ก็ทำเงินได้มหาศาล โดยเฉพาะเมื่อเป็นชายหาดหน้าทะเลอันดามันที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ต่างก็ต้องการเดินทางมาสัมผัสสักครั้ง

และหากตั้งคำถามใหม่ เช่น หากต้องการทราบว่า ... ถ้าเราอยากจะมีชายหาดเป็นของตัวเองบ้าง เราจะต้องทำอย่างไร ?? ก็จะอาจจะพบที่มาของ “มายากล” ที่เนรมิตให้ชายหาดกลายเป็นของเราได้

อ่านข่าว : คดีฝรั่งทำร้ายหมอ อาฟเตอร์ช็อก ! ราคาที่ดินติดชายหาดภูเก็ต

"มายากล"การเสกที่ดินให้มีเจ้าของ

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท อดีตผู้ประสบภัยสึนามิที่บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นหนึ่งในคนที่ออกมาตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบมาโดยตลอด และในฐานะที่เขาต้องทำงานกับชุมชนพื้นเมืองในหลายพื้นที่ ซึ่งต่างก็มีปัญหาความเดือดร้อนเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินต่างกัน ทำให้เขาต้องต่อสู่กับ “มายากลการเสกที่ดินให้มีเจ้าของ” มาแล้วเกือบทุกรูปแบบ

“ปัญหาของชุมชนท้องถิ่นหรือคนพื้นเมืองส่วนใหญ่ ไม่ใช่การที่มีนายทุนมาออกเอกสารสิทธิ์ไปทับที่อยู่อาศัยของเขา แต่มันจะมาในรูปแบบที่อยู่ดีๆ มีกลุ่มทุนมาแสดงตัวว่ามีเอกสารสิทธิ์ทับที่ป่าหรือที่สาธารณะที่ชุมชนเขาใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่ เช่น ทับที่ป่าชุมชน ที่จอดเรือ สุสาน ที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อต่างๆ” ไมตรี อธิบายสภาพปัญหาที่ฝังลึกและยาวนานมากไปกว่าเรื่องของการท่องเที่ยว

มาดูกันว่า “มายากล เสกเอกสารสิทธิ์” จากประสบการณ์ที่ “ไมตรี จงไกรจักร์” พบเจอมา มีอยู่ในรูปแบบใดบ้าง

ก่อนอื่น ต้องท่องคาถากันไว้ก่อนว่า ก่อนจะขอรังวัดออก “โฉนดที่ดิน” ต้องมี นส.3 ก. และก่อนจะมี นส.3 ก. ก็ต้องมี สค.1 หรือ ต้องเป็นที่ดินที่มีการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนนั่นเอง

ดังนั้น ถ้าคิดจากหลักการว่า การจะขอออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินได้จะต้องเป็นที่ดินที่มีผู้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อน ก็ไม่ควรจะมีเอกสารสิทธิ์อยู่ที่ชายหาดหรือป่าเขาได้

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท

อ่านข่าว : "ชายหาด" สมบัติของแผ่นดิน ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ครอบครองไม่ได้

รูปแบบที่ 1 - สค.1 บิน

ในเมื่อการจะออกเอกสารสิทธิ์ นส.3 ก. ได้ จะต้องมี สค.1 มาก่อน ... ทำให้เมื่อมีการตรวจสอบที่ดินที่ถูกสงสัยว่าได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ มักจะพบว่า “รูปแปลง” ของที่ดินในเอกสาร ไม่ตรงกับที่ดินที่ครอบครองอยู่จริง

หมายความว่า สค.1 ที่ถูกนำมาใช้ออก นส.3 ก. ไม่ใช่ สค.1 ของที่ดินแปลงนี้ แต่ “บินมา” จากที่ดินแปลงอื่นที่มี สค.1 ถูกต้องอยู่แล้ว

“สมมติว่า รูปแปลงที่ดินในเอกสารเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ระบุในเอกสารไว้ชัดเจนว่า ทิศเหนือติดภูเขา ทิศใต้ติดน้ำ ทิศตะวันตกติดป่า .... แต่พอไปดูแปลงที่ออกเป็น นส.3 ก.ไปแล้วและกำลังครอบครองอยู่จริง กลับพบว่ามีรูปแปลงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทิศต่างๆ ก็ไม่ตรงกับในเอกสาร ... นั่นก็หมายความว่า สค.1 ที่ถูกนำมาออก นส.3 ก ไม่ใช่ของที่ดินแปลงนี้จริงๆ แต่บินมาจากไหนก็ไม่รู้”

“บางแปลงที่ได้ที่ชายหาดไปด้วย ก็จะใช้ สค.1 บิน มาจากแปลงที่เขียนว่ามีด้านใดด้านหนึ่งติดทะเล พอบินมาติดทะเล ก็เท่ากับได้ถมชายหาดไปด้วยเลย ... ถ้าทิศทางมันไม่ตรงกับในเอกสาร เขาก็หมุนให้ด้านยาวของแปลงไปตรงกับชายหาดได้” ไมตรี อธิบาย

สค.1 บิน เป็นรูปแบบการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบที่พบมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีราคาแพง ชายหาด บนภูเขาที่มองเห็นวิวทะเลสวยงาม ซึ่งที่ดินเหล่านี้มักไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมืองในอดีต แต่อาจเป็นที่ดินที่เขาใช้ประโยชน์อยู่แล้ว เช่น ใช้เป็นที่จอดเรือ ใช้หาของป่า แต่ไม่ได้ถือครอง

ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า การออกเอกสารสิทธิ์มิชอบด้วยวิธี สค.1 บิน ยังมีกระบวนการต่อเนื่องที่ช่วยให้นายทุนที่ต้องการครอบครองที่ดินแปลงนั้น อยู่ในสถานะเสมือนเป็นผู้ที่ซื้อที่ดินมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

“คนพื้นเมืองเขาทำกินในที่ดิน โดยไม่ได้เอกสาร ไม่มี สค.1 หรือบางพื้นที่อาจเป็นที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมืองก็จริง แต่เขาก็ไม่เคยได้รับสิทธิให้มี สค.1  ดังนั้นเมื่อมีความต้องการจากบุคคลภายนอก เพราะเห็นความสวยงามของที่ดินบริเวณนั้น ก็จะไม่สามารถขอซื้อต่อมาได้โดยตรงเพราะไม่เคยมีเอกสารสิทธิ์ ก็จึงต้องไปใช้วิธีการอื่นๆ เพื่อสร้างปาฏิหาริย์ คล้ายเป็นมายากล ที่จะเสกให้มี “สค.1 บิน” มาจากที่ดินแปลงอื่นก่อน ทำให้ดูเหมือนว่า เขาไปซื้อที่ดินในแปลงที่เคยมีเจ้าของครอบครองสิทธิมาก่อนแล้ว ...

ถ้ามองตามกฎหมาย เจ้าของที่ดินรายใหม่ ก็จะอ้างได้ว่า ไปซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์อยู่แล้วมาอย่างถูกต้อง”

รูปแบบที่ 2 - สค.1 บวม

เป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงขนาดของที่ดิน โดยจะวัดพื้นที่แปลงที่ขอออก นส.3 ก. ให้ขยายออกไปเกินกว่าในเอกสารสิทธิ์ สค.1 เดิม เช่น ในกรณีที่เขียนในเอกสารสิทธิ์ว่าติดทะเล ก็จะชี้แนวรวมที่ดินบริเวณชายหาดไปด้วยเลย ซึ่งเป็นอีกรูปแบบที่เกิดขึ้นบ่อยมาก เพราะการกำหนดขนาดของที่ดินในเอกสาร สค.1 ไม่มีความชัดเจนในแง่อัตราส่วน เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่กับเจ้าของที่ดินร่วมกันทุจริตได้ด้วยการนำชี้อาณาเขตให้เกิดไปกว่าในเอกสาร โดยเฉพาะหากล้ำไปในที่สาธารณะก็ไม่มีเจ้าของที่ดินอื่นมาโต้แย้ง

“หลายแห่งที่เราเจอ คือ ทั้งรูปแบบที่ 1 และ 2 อยู่ในแปลงเดียวกัน คือเป็นรูปแบบ สค.1 ทั้งบินและบวม เช่น ปัญหาที่พบที่เกาะหลีเป๊ะ (สตูล) หรือเกาะพีพี (กระบี่) เราพบว่า มี สค.1 แปลงเดียว สามารถถูกใช้บินไปออกเอกสารสิทธิ์ นส.3 ก.ได้ถึง 3 แปลง แถมยังเป็น 3 แปลงที่อยู่ห่างกันมาก ไม่ใช่พื้นที่ติดกัน และบางจุดก็พบว่า สค.1 ที่บินมาออกเอกสารสิทธิ์ ยังถูกเนรมิตให้ขยายแนวเขตบวมออกไปได้อีกราวกับเป็นการขึ้นรูปแปลงใหม่ไปเลย”

รูปแบบที่ 3 – เล่นแร่แปรที่ดิน

“นี่เป็นวิธีการทำให้ที่ดินที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง ถูกนำไปผ่านกระบวนการอื่นๆ ที่ถูกกฎหมาย และวนกลับมาอยู่ในมือเจ้าของรายเดิม” ไมตรี พยายามอธิบายว่า นี่เป็นมายากลที่ค่อนข้างซับซ้อน

ถ้าเทียบวิธีการนี้ กับวิธีการทำ สค.1 บิน อาจจะบอกได้ว่า ใช้หลักการเดียวกันนี้ คือการออกเอกสารสิทธิ์ นส.3 ก. ในชื่อของคนทั่วไปที่ไม่มีใครรู้จัก จากนั้นเจ้าของตัวจริง ก็ทำทีเป็นว่าไปขอซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์แล้วมาอย่างถูกต้อง แต่จากประสบการณ์ไมตรี เขาก็พบว่ามีวิธีการที่ซับซ้อนกว่านั้น ซึ่งเป็นการนำรูปแบบของการ “ปั่นราคาที่ดิน” มาช่วยในการฟอกขาวที่ดิน

สำหรับการปั่นราคาที่ดิน มีตัวอย่างที่ชัดเจนจากการทำ “โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน” ซึ่งถูกยกเลิกไป  รูปแบบหนึ่งของการทุจริตที่ถูกตัดสินแล้วว่ามีความผิดแน่นอนก็คือ กระบวนการจัดหาที่ดินมาดำเนินโครงการ

ซึ่งคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น พยายามเปลี่ยนแปลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการให้ครอบคลุมไปถึงบริเวณคลองด่าน โดยมีหนึ่งในบริษัทผู้รับเหมาที่ทำหน้าที่จัดหาที่ดิน เสนอขายที่ดินตรงจุดที่ถูกเปลี่ยนแปลงโครงการไปให้กับกรมควบคุมมลพิษในราคาสูงถึงประมาณไร่ละ 1 ล้านบาท ทั้งที่ที่ดินบริเวณนี้เคยมีราคาอยู่ที่หลักหมื่นบาทต่อไร่เท่านั้น แต่เอกชนรายนี้ ใช้วิธีการตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาซื้อที่ดินของเครือข่ายตัวเองต่อกันไปหลายๆ ทอด โดยซื้อในราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนที่ดินมีราคาพุ่งขึ้นไปหลายเท่า

“เราพบรูปแบบคล้ายกันนี้ที่อุบลราชธานีครับ คนที่ต้องการที่ดินเขาจะซื้อที่มือเปล่ามาก่อน (ที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่มีการครอบครองปรปักษ์อยู่แล้ว) จากนั้นเขาก็จะให้ผู้ครอบครองเดิมไปขอออกเอกสารสิทธิ์ ... ซึ่งแน่นอนว่า เอกสารสิทธิ์นั้น ได้มาจากวิธีการที่ไม่ถูกต้องและอาจถูกตรวจสอบย้อนหลังได้”

“ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต นายทุนซึ่งเป็นเจ้าของตัวจริง ก็จะให้เจ้าของเดิมนำที่ดินไปจำนองไว้กับธนาคาร และเมื่อหลุดจำนองถูกธนาคารยึดไป ธนาคารก็จะแบ่งขายเป็นแปลงย่อยๆ ซึ่งจะมีบริษัทที่เป็นลูกหลานของนายทุนดังกล่าวมารับซื้อไปอีกที จากนั้นก็แบ่งแปลงขายอีก แล้วก็นำบริษัทในเครือข่ายเดียวกันมารับซื้อต่อไปอีก  ที่ดินเหล่านี้ก็จะดูเหมือนเป็นที่ดินที่ชอบด้วยกฎหมายมากขึ้นไปเรื่อยๆ” ไมตรี ยกตัวอย่าง

นี่เป็นเพียงมายากล 3 รูปแบบที่ถูกใช้กันบ่อยๆ ในการเข้ายึดครองที่ดินสาธารณะที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีวิธีการที่หลากหลายที่กลุ่มทุนจะเข้าไปถือครองที่ดินของรัฐ และใช้กลวิธีทำให้การถือครองนั้นกลายเป็นที่ยอมรับตามกฎหมายได้ในที่สุด

ซึ่งวิธีการจะแตกต่างกันออกไปตามสถานะเดิมของที่ดิน และต่างกันออกไปตามบริบทของพื้นที่ด้วย โดยผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ได้ยกตัวอย่างสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านน้ำเค็ม บ้านเกิดของเขาเอง ซึ่งมีเพื่อนบ้านจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินไปหลังคลื่นสึนามิพัดทั้งบ้านเรือนและเอกสารสิทธิ์ต่างๆ หายไปพร้อมกัน

“โฉนดที่ดิน หรือเอกสารสิทธิ์อะไรก็ตาม สำหรับคนที่บ้านน้ำเค็มจะไม่ถูกเก็บไว้ในตู้เก็บของที่บ้านนะครับ แต่จะถูกเก็บไว้ในกระเป๋ามหัศจรรย์ เพราะทันทีที่มีการแจ้งเตือนสึนามิ ถูกครอบครัวจะถือกระเป๋าใบนี้ติดตัวไปด้วย เนื่องจากสึนามิเมื่อ 26 ธันวาคม 2547 นอกจากจะพรากครอบครัวอันเป็นที่รักของพวกเราไปแล้ว ผู้รอดชีวิตจำนวนมากยังต้องสูญเสียที่ดินไปในภายหลัง เพราะมีนายทุนมาอ้างสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินแทน”

“ที่บ้านน้ำเค็ม ไม่มีทั้ง สค.1 บินและบวมครับ เพราะที่นี่ไม่มี สค.1 นี่เป็นตัวอย่างของลักษณะเฉพาะพื้นที่ คือ บริเวณนี้เป็นพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ชายทะเลมาก่อนในอดีต ซึ่งโดยหลักกฎหมายแล้ว เมื่อหมดสัมปทาน ก็ต้องคืนที่ดินให้กับรัฐ แต่ภายหลังสึนามิก็มีกลุ่มทุนมาอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์จากการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องของการสัมปทานเหมืองแร่ และไปทับซ้อนกับที่ของคนในชุมชน”

ดังนั้น How To ทำอย่างไร จึงจะมีที่ดินชายหาดเป็นของตัวเองได้บ้าง  เมื่อรับรู้จากประสบการณ์การต่อสู้ร่วมกับชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ต่างๆแล้ว อาจสรุปได้ว่า

ไม่ว่าเราจะขอให้ผู้มีอำนาจช่วยใช้มายากลเสกเอกสารสิทธิ์การครอบครองที่ดินชายหาดให้ด้วยวิธีการ บิน บวม หรือ เล่นแร่แปรธาตุใดๆ  สิ่งที่เราต้องมีก่อนก็คือ เงิน อำนาจ อิทธิพล

รายงานโดย: สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกียวข้อง : 

ฝรั่งเตะหลัง-ภรรยาชาวไทย "ขอโทษ" พญ.ผ่านสื่อ อ้างไม่ได้ตั้งใจทำร้าย
“แพทย์หญิง” ยันดำเนินคดีต่างชาติทำร้ายถึงที่สุด นายกเล็ก ชี้เป็น “พื้นที่สาธารณะ” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง