ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คำพิพากษาฉบับเต็ม! ยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" กับพวก คดีจัดโรดโชว์ 240 ล้าน

การเมือง
4 มี.ค. 67
13:03
2,583
Logo Thai PBS
คำพิพากษาฉบับเต็ม! ยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" กับพวก คดีจัดโรดโชว์ 240 ล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดคำพิพาษาฉบับเต็ม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" พร้อมพวก รวม 6 คน คดีจัดโรดโชว์ งบประมาณ 240 ล้านบาท

วันนี้ (4 มี.ค.2567) วันนี้ เวลา 09.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อม.6/2567 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ที่ 2 นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ที่ 3 บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ที่ 4 บริษัทสยามสปอร์ต ซินติเคท จำกัด (มหาชน) ที่ 5 นายระวิ โหลทอง ที่ 6 จำเลย

คดีนี้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2555 โจทก์ยื่นฟ้องว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2557 จำเลยที่ 3 ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการเสนอโครงการ Roadshow ที่มิใช่กรณีเร่งด่วน โดยจำเลยที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ลงนามผ่านเรื่อง แล้วจำเลยที่ 3 ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจบิดผันสั่งอนุมัติงบกลาง โดยเจตนาร่วมกันกำหนดให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดโครงการ โดยจำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 เพื่อขออนุมัติ จัดจ้างการดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยวิธีพิเศษ อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังร่วมกันดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวดทั้งที่ไม่เข้าเงื่อนไขอันจะได้รับการยกเว้น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวนเงิน 239,700,000 บาท โดยจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151,157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามกรทุจริต พ.ศ. 2541 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192

และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12, 13 ลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบ มาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2563 มาตรา 192 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 12, 13 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 กับนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม. 211/2560 ของ

โจทก์ยื่นฟ้องกรณีไม่ปรากฏตัวจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้สั่งไม่ประทับรับฟ้อง

อ่านข่าว : ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" คดีจัดโรดโชว์ 240 ล้าน - ถอนหมายจับ

องค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งไม่ประทับรับฟ้องข้อหาเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดซื้อโดยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 โดยเห็นว่าฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยทั้งหกเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณา โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่ประทับรับฟ้องดังกล่าว

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยองค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืนจำเลยที่ 1 ไม่มาศาล ถือว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้การปฏิเสธศาลไต่สวนพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 นัตไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายวันที่ 7 ธันวาคม 2566 คู่ความขอแถลงปิดคดีภายใน 60 วัน

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการนำงบกลางจำนวน 40,000,000 บาท มาจัดทำโครงการ Roadshow ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมของประเทศ และโครงการ Roadshow เป็นการดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐสภาเท่านั้นตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยถึงดุลพินิจของฝ่ายบริหารในการกำหนดนโยบายดังกล่าว

แต่การใช้งบประมาณเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ย่อมต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบและมติ
คณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง สำหรับคดีนี้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาทันธ์ 2552 กำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีขออนุมัติใช้เงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจตรวจสอบขั้นตอนปฏิบัติว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ดำเนินการใดที่ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวอันถือเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทางราชการ หรือโดยทุจริตหรือไม่

พยานหลักฐานได้ความว่า กำหนดเวลาเริ่มดำเนินโครงการ Roadshow เกิดขึ้นจากการพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมิใช่เป็นการตัดสินใจของจำเลยที่ 3 เอง และมิได้กำหนดเวลากระชั้นชิดเพียงเพื่อให้เป็นเหตุอ้างใช้งบกลาง เมื่อกรณีไม่อาจใช้ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มาดำเนินโครงการ Roadshow ได้ตามที่ได้กำหนดเวลาไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำในกรณีมีความจำเป็นและเร่งด่วนต้องใช้จ่ายงบประมาณ

ขณะที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งอนุมัติงบกลางเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเป็นยุติว่าร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... .. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศได้ ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานฝ่ายบริหารและผ่านมติคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีข้อทักท้วง ประกอบกับ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีความเห็นว่าเห็นสมควรที่นายกรัฐมนตรีจะอนุมัติงบกลางนี้ได้ กรณีย่อมมีเหตุผลเพียงพอให้จำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถอนุมัติได้ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไต่ใช้ดุลพินิจกระทำไปบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น

แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 3 - 4/2557 ว่า ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ตราขึ้นโดยไม่ใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน ก็เป็นเพียงการวินิจฉัยถึงความชอบของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น ทั้งยังเป็นการวินิจฉัยภายหลังเกิดเหตุโดยมิได้วินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญาซึ่งต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในคดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเป็นประการใด ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเล็งเห็นผลว่าโครงการ Roadshow ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน แม้โครงการ Roadshow จะดำเนินการในพื้นที่เดียวกันกับโครงการกระทรวงคมนาคม แต่ก็เป็นเพียงพื้นที่ 2 จังหวัดแรก ทั้งโครงการ Roadshow มีภารกิจครอบคลุมมากกว่า ถือไม่ได้ว่าเป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนกัน

สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมหรือแนะนำโดยมิชอบเพื่อให้จำเลยที่ 1 อนุมัติงบกลางอย่างไร จำเลยที่ 2 จึงเป็นแต่เพียงผู้ทำหน้าที่พิจารณาแล้วผ่านเรื่องเสนอไปยังจำเลยที่ 1 ตามลำดับชั้นเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 3 เพิ่งทราบว่าต้องขอใช้งบบกลางจากการเสนอตามลำดับขั้นของข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน จึงเป็นเพียงการดำเนินการตามหน้าที่เท่านั้น

ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เสนอให้จำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลาง และจำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลางจำนวน 40,000,000 บาท มาดำเนินการโครงการ Roadshow จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี

ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันตกลงให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเริ่มการจัดจ้างหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดทำโครงการ Roadshow จึงเป็นเรื่องปกติที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้แก้ไขรูปแบบของงาน จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ริเริ่มให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้ามานำเสนองาน ไม่ปรากฏว่ารูปแบบงานได้กำหนดรายละเอียด

คุณลักษณะเฉพาะอย่างใดที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยเฉพาะเจาะจงหรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น ที่จำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยขอความอนุเคราะห์ให้แต่ละจังหวัดอำนวยความสะดวก และจำเลยที่ 1 เป็นประธานแถลงข่าวงานโครงการ Roadshow โดยมีพนักงานของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ช่วยประสานงานกับสื่อมวลชน รวมทั้งจำเลยที่ 4 เป็นผู้ออกแบบรูปแบบในการจัดงานแถลงข่าวและโลโก้สร้างอนาคตไทย 2020 นั้น ก็มิใช่เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจหรือให้การรับรองการดำเนินการ ทั้งเป็นรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติงาน จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะทราบข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด

สำหรับจำเลยที่ 2 มิได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ Roadshow โดยตรงส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ปรากฏว่าแนวทางการสรรหาเอกชนมาดำเนินการโครงการ Roadshow เป็นข้อสรุปร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ โครงการของกระทรวงคมนาคมก็เคยจ้างเอกชนมาดำเนินโครงการ จึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ การที่จำเลยที่ 3 แจ้งให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไปรวบรวมผลงานอดีตมาเสนอ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชอบตรวจสอบก่อนเสนอต่อที่ประชุม ทั้งการที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ก็จัดทำรูปแบบของงานมาเสนอต่อที่ประชุม เป็นการกระทำโดยเปิดเผยแก่บุคคลอื่นเป็นจำนวนมาก โดยจำเลยที่ 3 มิได้กระทำการอันใดในลักษณะที่เป็นการชี้นำหรือจูงใจหรือให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าไม่มีบุคคลใดสั่งการให้เลือกจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้าง

พยานหลักฐานทางไต่สวนจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้าปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติ จัดจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษตามฟ้องหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยวงเงิน 40,000,000 บาท ก่อนสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ปรากฏว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ริเริ่มให้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ แต่เป็นการเสนอของเจ้าหน้าที่ตามลำดับชั้นโครงการ Roadshow กำหนดเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2556

และจำเลยที่ 3 เสนอเรื่องต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จึงไม่อาจใช้วิธีการประกวดราคา ทั้งหัวหน้าฝ่ายพัสดุ เกษียณข้อความรับรองว่าตรวจแล้ว ถูกต้องตามระเบียบพัสดุ กรณีมีเหตุเพียงพอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาได้ว่าเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3) เช่นนี้ แม้จำเลยที่ - สั่งอนุมัติภายในวันเดียวก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ กรณีจึงมีเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริต จึงขาดเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

สำหรับจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหน้าที่และอำนาจของจำเลยที่ 3 ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ แต่เป็นกรณีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินเกินอำนาจอนุมัติของจำเลยที่ 3 จึงต้องเสนอจำเลยที่ 2 พิจารณา ดังนี้ การที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้เสนอเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต่อคณะกรรมการบูรณาการการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย จึงมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ส่วนที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางนำข้อเสนอราคาของจำเลยที่ 4 มาใช้ในการกำหนดราคากลางนั้นเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคากลางเอง โดยไม่ปรากฏว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริตหรือมีผู้ใดสั่งการหรือแทรกแซงการกำหนดราคากลางและคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษให้ต้องเลือกจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับจ้างแต่อย่างใด ทั้งเมื่อจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องก็ยังมีคำสั่งให้ชะลอการจ่ายเงินค่าจ้างแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้ก่อน 

ประการสำคัญที่สุดหลังเกิดเหตุรัฐประหาร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้น คณะกรรมการดังกล่าวก็เห็นว่าขั้นตอนการดำเนินโครงการ Roadshow เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 จึงอนุมัติเบิกจ่ายเงิน สอดคล้องกับที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดต้องตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ละเวันการปฏิบัติหน้าที่

ส่วนโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัด วงเงิน 200,000,000 บาท ก็ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะใช้วิธีการประกวดราคาได้ กรณีจึงมีเหตุผลเพียงพอให้จำเลยที่ 2 เข้าใจได้ว่าการจัดจ้างโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัด เข้าเงื่อนไขตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3) เช่นกัน

ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ ร่วมกันดำเนินการให้มีการอนุมัติลงนามในสัญญาจ้างก่อนได้รับเงินประจำงวด โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 (ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ) หรือไม่ เห็นว่า ที่มาของการดำเนินการดังกล่าวมิใช่เกิดจากการกระทำเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของจำเลยที่ 3 เองแต่การที่จำเลยที่ ต้องเสนอจำเลยที่ 2 ลงนามในหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีนั้น เกิดจากความจำเป็นต้องปฏิบัติไปตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลาง มีหนังสือแจ้ง และด้วยเหตุนี้ ย่อมเป็นเหตุผลให้จำเลยที่ , จำเป็นต้องมีหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในขั้นตอนนี้จึงมิได้เป็นการกระทำโดยมิชอบ

ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีและลงมติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 ด้วย ก็เพราะการอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวด เป็นดุลพินิจและอำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 วรรคสี่ ไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดกฎหมายหรือระเบียบ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันสนับสนุนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดดังวินิจฉัยแล้ว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ส่วนที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 แบ่งจังหวัดเพื่อจัดทำงานนำเสนอ (Presentation) เป็นขั้นตอนก่อนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันเสนอราคาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ดังนั้น จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

องค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ให้พิพากษายกฟ้อง

อ่านข่าวอื่นๆ : 

ศาลเลื่อนนัดตรวจหลักฐานคดี "สว.อุปกิต" เป็น 22 และ 29 เม.ย.นี้

โอกาสอีกครั้งของ "สุริยะ" ถ.พระราม 2 ไม่เสร็จเตรียมลดเกรดผู้รับเหมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง