ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดข้อมูลโครงการรัฐ ไขปม "คอร์รัปชัน" ฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง

สังคม
1 มี.ค. 67
12:00
258
Logo Thai PBS
เปิดข้อมูลโครงการรัฐ ไขปม "คอร์รัปชัน" ฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“เปิดเผยข้อมูลภาครัฐ” ปัจจัยแก้คอร์รัปชันที่ไม่มีทางทำได้ ตราบที่ยังมัวพูด แต่ไม่ “ทำจริง”

ส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกน้ำหนักเกินจนทำถนนเสียหายหลังจากเพิ่งสร้างเสร็จไปไม่นาน สะพานที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมาใส่รถที่วิ่งอยู่บนถนน เสาไฟประติมากรรมที่ติดตั้งถี่ยิบจนส่องสว่างเข้าไปถึงในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากเหตุไฟไหม้สถานบันเทิงที่ไม่ควรได้เปิด

เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนล้วนมีโอกาสประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน และไม่ว่าจะมีหลักฐานชัดเจนหรือไม่ ประชาชนก็มักเชื่อมโยงเหตุการณ์ดังกล่าวไปถึงปัญหาคอร์รัปชัน เพราะในหลายๆ เหตุการณ์ขาดการสื่อสารข้อเท็จจริง ขาดการสื่อสารกระบวนการแก้ปัญหาและรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กอปรกับในบางครั้งเจ้าหน้าที่เองก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างน่ากังขา ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัย เกิดความไม่ไว้วางใจจากคำถามที่ไม่เคยถูกตอบ ซึ่งทำให้สิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานความโปร่งใส” หายไปจากการดำเนินงานของภาครัฐ

“รัฐอยากให้ประชาชนเชื่อมั่น ประกาศว่าทำงานอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ประกาศนโยบายเปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้นบ้าง นโยบาย Open Government บ้าง แต่ความจริงยังห่างไกลจากภาพที่ควรจะเป็นมาก”

สุภอรรถ โบสุวรรณ ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ HAND Social Enterprise หรือ แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม

สุภอรรถ โบสุวรรณ ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ HAND Social Enterprise หรือ แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม

สุภอรรถ โบสุวรรณ ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ HAND Social Enterprise หรือ แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม

สุภอรรถ โบสุวรรณ หรือ บิ๊ก เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเกี่ยวกับการต่อต้านปัญหาคอร์รัปชัน ในนาม HAND Social Enterprise หรือ แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งและกรรม การผู้จัดการ สะท้อนให้เห็นปัญหาว่า ประเทศไทย ถูกมองว่า “ไม่โปร่งใส” มาตลอด เพราะไม่มีความพยายามที่จะเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ทั้งที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สุด ซึ่งรัฐควรจะต้องทำให้เป็นเรื่องปกติ

“รัฐ พยายามรณรงค์เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ ซึ่งวิธีการที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับปัญหาคอร์รัปชันได้ มีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆในระบบธรรมาภิบาล คือ ความโปร่งใสของหน่วยงานรัฐ การสร้างช่องทางที่มีประสิทธิภาพให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบรัฐได้ และการสร้างกลไกความรับผิดชอบเมื่อตรวจสอบพบปัญหาการคอร์รัปชัน ซึ่งจุดตั้งต้นของ 3 ประเด็นนี้ที่รัฐสามารถทำได้เลย ก็คือ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ แต่รัฐกลับไม่ได้พยายามทำ”

สุภอรรถ บอกว่า แต่ถ้ารัฐไม่ทำ ไม่เปิดเผย อ้างว่าเป็นความลับ หรือเปิดเผยแล้วแต่เข้าไปค้นหาได้ยาก มันก็จะไม่มีผล เช่น ถ้ามีบุคคลสำคัญหรือนักธุรกิจรายใหญ่ ถูกจับกุม ถูกดำเนินคดี แต่กลับใช้ช่องทางต่างๆทางกฎหมายเพื่อทำให้ไม่ต้องเข้ารับโทษในเรือนจำได้สำเร็จ มันก็จะมีคำถามง่ายๆ เชิงข้อมูลตามมาว่า ที่ผ่านมา เคยมีคนอื่นได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกันนี้หรือไม่ ถ้ามี มีกี่คน เป็นใครบ้าง แล้วคนที่ไม่ได้รับสิทธิแบบเดียวกันนี้มีความแตกต่างจากเคสนี้อย่างไร

ถ้ารัฐเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ออกมาได้ หรือเคยมีข้อมูลสถิติตัวนี้ออกมา ประชาชนก็จะให้การยอมรับ แต่ถ้าไม่เปิดเผย ประชาชนก็จะมีความรู้สึกว่า แล้วเราจะต่อต้านคอร์รัปชันไปเพื่ออะไร” สุภอรรถ เปรียบเทียบให้เห็นถึงประโยชน์ที่รัฐจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน หากเปิดเผยข้อมูล

มีคำถามที่สำคัญมากๆ ก็คือ ในเมื่อการเปิดเผยข้อมูลเป็นรัฐ เป็นภารกิจที่ควรเป็นมาตรฐานที่หน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องทำ แล้วทำไมจึงยังมีปัญหาการไม่เปิดเผยข้อมูลอยู่ สุภอรรถ อธิบายแบบลงรายละเอียดโดยอ้างอิงว่า มีบางถ้อยคำในข้อกฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ที่เปิดช่องให้หน่วยงานรัฐใช้เป็นข้ออ้างในการไม่เปิดเผยข้อมูล

“ส่วนใหญ่ จะไปตีความกฎหมายให้ปลอดภัยในหน้าที่การงานของตนเอง ตามมาตรา 15 ที่ว่า ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน”

“แต่ความเป็นจริงประโยชน์สาธารณะน่าจะถูกคำนึงถึงท้ายสุดเลยนะ (ฮาปนเศร้า) เจ้าหน้าที่มักจะถามว่าข้อมูลส่วนนี้ทำไมประชาชนต้องมารู้ต้องมาทราบ ผมก็อยากถามกลับไปบ้างว่า แล้วทำไมประชาชนถึงจะไม่มีสิทธิรู้ ไม่มีสิทธิทราบ”

“อย่างข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลกรรมการบริษัท หรือผู้ถือหุ้นที่กลัวกันมากว่าจะเกิดปัญหา ก็ถูกพิสูจน์แล้วว่า การเปิดเผยนั้นจะมีประโยชน์ต่อสาธารณะมาก ไม่เห็นต้องกลัวหรือกังวลอะไร ACTAi.co เปิดให้ใช้งานมาหลายปีแล้ว ก็ทำให้สื่อมวลชนตลอดจนเจ้าหน้าที่อย่าง ป.ป.ช.ใช้งาน คนไม่โกงไม่ควรกลัวข้อมูลเปิด คนโกงต่างหากที่ควรกลัวและกังวล”

ในฐานะที่ HAND เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการสร้างระบบธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชัน โดยทำงานร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จึงรวบรวมปัญหาการไม่เปิดเผยข้อมูลภาครัฐด้วยเหตุผลต่างและวิธีการต่างๆ ดังนี้

วิธีที่ 1 ข้อมูลที่ไม่ถูกเปิดเผยเลย ... เป็นข้อมูลอ้างว่าเป็นความลับของทางราชการ อ้างว่าระบบกำลังปรับปรุง หรืออาจถึงกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ความลับทางการค้าของคู่สัญญาที่เป็นเอกชน (PDPA) มีลักษณะสำคัญ คือ เจ้าหน้าที่รัฐมักมีทัศนคติที่เชื่อว่า รัฐเป็นเจ้าของข้อมูลเหล่านี้ เป็นความลับที่ประชาชนไม่ควรรู้หรือไม่จำเป็นต้องรู้

วิธีที่ 2 เปิดเผยข้อมูลไว้ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ... เป็นวิธีการที่เคยทำมาในอดีต เช่น การลงประกาศข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างไว้ในหน้าเว็บไซต์ซึ่งเป็นที่สาธารณะก็จริง แต่วางไว้ในจุดที่หายาก เข้าถึงได้ยาก หากจะค้นหาด้วยการเสิร์ชก็จะต้องป้อนข้อความที่เป็นชื่อเอกสารที่ถูกต้องทุกตัวอักษรจึงจะแสดงเอกสารออกมา ดังนั้นจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่รู้ช่องทางจริงๆเท่านั้นจึงจะมองเห็นข้อมูลนี้ได้

วิธีที่ 3 เปิดเผยข้อมูลในรูปแบบที่นำไปใช้ต่อได้ยาก ... เป็นการเปิดข้อมูลแบบผิวเผินบ้าง เป็นข้อมูลที่ถูกปรุงแต่งมาแล้วบ้าง หรืออยู่ในรูปแบบไฟล์ที่นำไปใช้ต่อไม่ได้ เช่น ไฟล์ PDF ไฟล์สแกนกระดาษ ไฟล์ที่มีลายน้ำ ข้อมูลเหล่านี้ ณ ปัจจุบันต่อให้ใช้เทคโนโลยี OCR : Optical Character Recognition (ให้คอมพิวเตอร์แปลงตัวอักษรในกระดาษเป็นตัวอักษรดิจิทัล) ก็ยังยากที่จะนำไปวิเคราะห์เชื่อมโยงกับข้อมูลชุดอื่นๆ ต่อได้

วิธีที่ 4 เปิดเผยข้อมูลแบบมีเวลาจำกัด ... ข้อนี้มีตัวอย่างเกิดขึ้นกับองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการคอร์รัปชันเอง เช่น ป.ป.ช. โดยมีตัวอย่างที่สำคัญคือ ข้อมูลการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง ป.ป.ช.จะเปิดเผยไว้โดยมีกำหนด 180 วันเท่านั้น หลังการเข้ารับตำแหน่ง และจะเปิดเผยอีกครั้งเป็นเวลา 180 วันเช่นกันหลังพ้นจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้มีวาระการดำรงตำแหน่งสูงสุดถึง 4 ปี และยังเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถดาวน์โหลดได้

“นอกจากควรจะแสดงข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไว้ตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง รวมทั้งควรเปิดให้ดาวน์โหลดข้อมูลได้แล้ว ขอเสนอให้ ป.ป.ช. ควรปรับเปลี่ยนวิธีการยื่น เพราะวิธีการเดิมที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหน้าที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเองทั้งหมด มีข้อเสีย คือ เป็นภาระมาก และ ป.ป.ช.เองก็ไม่มีทางรู้ว่าเขาแสดงบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จหรือไม่จนกว่าจะมีผู้ร้องเรียน”

“ดังนั้น ป.ป.ช.ควรทำความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆที่สามารถช่วยตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เช่น ธนาคาร (ตรวจสอบบัญชี), กรมที่ดิน (ตรวจสอบเอกสารสิทธิการถือครองที่ดิน), กรมการขนส่งทางบก (ตรวจสอบการครอบครองยานพาหนะ) หรือแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ตรวจสอบการถือหุ้นในกิจการต่างๆ) ซึ่งจะทำให้ ป.ป.ช. รู้ข้อมูลทรัพย์สินที่เป็นจริงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เลย โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ยื่นคำร้องขอตรวจสอบ โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จะเหลือภาระที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพียงแค่การถือครองวัตถุที่มีค่าต่างๆเท่านั้น”

สุภอรรถ บอกว่า เราจะเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลภาครัฐได้แบบนี้ ก็ต้องมีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่ดีก่อน และเรายังจะได้ประโยชน์ คือ เราจะรู้เลยว่า มีรัฐมนตรีคนไหนที่มีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับรัฐหรือไม่ หรือแม้แต่ข้อมูลที่จะบ่งบอกว่าใครถือหุ้นในกิจการต้องห้ามหรือไม่ ก็จะรู้ ตรวจสอบ และได้ข้อสรุปตั้งแต่ก่อนลงเลือกตั้งด้วยซ้ำ เมื่อมีข้อมูลเช่นนี้ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิด เช่น เขาได้รับเลือกเป็น สส. แล้วมาถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แล้วค่อยมาคืนตำแหน่งให้ภายหลัง

บทเรียนที่สุภอรรถสรุปไว้เพื่อชี้ให้เห็นต้นตอของปัญหาที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็น Open Government ที่แสดงความโปร่งใสด้วยการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้ง่าย จึงมีอยู่ทั้งหมด 4 ปัจจัย

  • เจ้าหน้าที่รัฐไม่อยากเปิดข้อมูล เพราะกลัวถูกฟ้องร้อง กลัวมีความความผิด ไปจนถึงข้อมูลที่ตนเองเก็บไม่ดี มั่วตัวเลข มั่วข้อมูล หรือข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ถูกบิดเบือนโดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดี จึงไม่อยากเปิด
  • เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีความรู้มากพอ เช่น อ้างว่าการเปิดเผยข้อมูลเป็นไฟล์ Excel จะทำให้ถูกปลอมแปลงได้ง่าย ทั้งที่ความจริงแล้ว หากข้อมูลถูกปลอมแปลง ก็จะเป็นความผิดของผู้ปลอมแปลง และยังป้องกันปัญหานี้ได้ง่ายมาก ด้วยการทำไฟล์ที่แก้ไขไม่ได้ขึ้นไปแสดงควบคู่กัน
  •  โครงสร้างของระบบ IT ที่แสดงข้อมูลของรัฐ ควรต้องถูกปรับปรุงทั้งหมด ตั้งแต่ระบบการจัดการข้อมูลและระบบแสดงผล เพราะไม่รองรับในการที่ภาคประชาชนเข้ามาเรียกดูข้อมูล หรือนำเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อ และมีความจำเป็นต้องใช้กลไกของภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยจัดการ เพราะหากใช้กลไกการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ จะทำให้ได้ระบบที่เก่ากว่าระบบที่เป็นปัจจุบันมาก เนื่องจากติดขัดจากกระบวนการของบประมาณ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความล่าช้า ต้องวางแผนการทำระบบล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 ปี
  • ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐไม่ไปไหน คือ ฝ่ายการเมือง ที่แท้จริงมีอำนาจมาก แต่ยังไม่เห็นความเอาจริงเอาจังในการเปิดเผยข้อมูลที่ควรเป็นสาธารณะ แต่พูด Buzzword ว่าโปร่งใสตรวจสอบได้ เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น ซ้ำร้าย ด้วยความมีอำนาจมากนี่เอง ในอดีต ก็เคยมีกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูล ใช้อำนาจทางการเมืองสั่งการลงมาที่หน่วยงานราชการให้ช่วยปกปิดข้อมูล

“ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือข้าราชการมากครับ เราดูง่ายๆว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตั้งแต่ระดับอธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปจนถึงปลัดกระทรวง จะต้องถูกเสนอชื่อโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ... แม้ว่าจะต้องส่งชื่อเข้าไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพียงการแจ้งที่ประชุมเท่านั้น เพราะไม่มีรัฐมนตรีอื่นมาใช้อำนาจข้ามกระทรวงอยู่แล้ว เป็นโควตาทางการเมือง”

“…หรือจะเป็น สว.เอง ที่มีส่วนสำคัญในการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าทำหน้าที่สำคัญในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร”

“ระบบเช่นนี้ ทำให้ข้าราชการระดับสูงต้องตกอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายการเมืองที่สามารถให้คุณให้โทษต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการได้ ดังนั้นฝ่ายการเมืองกลุ่มที่ไม่ต้องการให้เปิดเผยข้อมูลของรัฐ ก็สามารถสั่งการผ่านข้าราชการเหล่านี้ได้ และเราต้องไม่ลืมด้วยว่า ข้าราชการระดับสูง ก็มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในระดับรองๆ ลงไปที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วย”

“…กลับกัน หากฝ่ายการเมืองต้องการจะ “ทำจริง” ใช้อำนาจบังคับสั่งการให้ข้าราชการเปิดเผยข้อมูลในมาตรฐาน Open data standards คงเป็นภาพที่ผมอยากเห็นที่สุด น่าเสียดายที่ยังไม่เห็นอะไรนอกจากคำพูด”

“หากยังไม่สามารถผลักดันให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนอย่างโปร่งใสได้ วงจรของผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างอำนาจรัฐกับกลุ่มทุน ก็ยังคงจะมีอยู่ต่อไป ประเทศไทยก็ยากจะหลุดพ้นจากการคอร์รัปชัน และก็ไม่ต้องมาหวังว่าค่าคะแนน CPI : Corruption Perception Index (ดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน) จะสูงขึ้น” สุภอรรถ บรรยายถึงอุปสรรคที่เขาพบเจอในการทำงานต่อต้านคอร์รัปชัน

เมื่อเห็นปัญหาเช่นนี้ ผู้ร่วมก่อตั้ง HAND วิสาหกิจเพื่อสังคม จึงย้ำว่า นอกจากการเดินหน้า “ทำจริง” ผลักดันให้มีระบบการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้เกิดขึ้นได้จริงแล้ว ยังจะต้องมีกลไกที่ “ทำจริง” ควบคู่กันไปด้วย คือ การสร้างทัศนคติหรือการออกกฎหมายคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องปลอดภัยเมื่อเปิดเผยข้อมูล การช่วยให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่รัฐถึงโอกาสในการเก็บและนำข้อมูลที่ถูกเปิดเผยไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาประเทศ การสังคายนาระบบเทคโนโลยีของรัฐ และต้องผลักดันให้มีนักการเมืองตัวอย่างโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในอำนาจบริหารที่พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลของตัวเองและพร้อมจะสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สามารถนำข้อมูลภาครัฐไปเปิดเผยได้อย่างปลอดภัย

“ผมนึกถึง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ บุคคลที่ผมเคารพนับถือจากการได้เรียนรู้ประวัติของท่าน ท่านก็เคยถูกฝ่ายการเมืองสั่งให้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ท่านไม่ยอมทำตาม จนถูกสั่งย้ายออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ว่าอาจารย์ป๋วยจะย้ายไปอยู่ที่ไหนก็สร้างประโยชน์ให้ที่นั่นได้เป็นอย่างดี และสุดท้ายก็ได้กลับมาในจุดสูงสุด เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ อาจารย์ป๋วย แสดงให้เห็นว่า ข้าราชการต้องไม่มองว่าต้องทำตามคำสั่งของฝ่ายการเมืองเพื่อให้เติบโตในหน้าที่การงาน แม้ว่ามันจะไม่ถูกต้อง เพราะบุคคลที่ยึดหลักความถูกต้องและทำจริงในสิ่งที่เกิดประโยชน์กับสาธารณะย่อมเป็นผู้ที่ถูกเคารพยกย่องสรรเสริญ ” สุภอรรถ ทิ้งท้ายผ่านเหตุการณ์ที่น่าจดจำในประวัติศาสตร์

รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง