วันนี้ (29 ก.พ.2567) ยอดหลังรัฐบาลปิดลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ มีผู้เข้าโครงการมากกว่า 150,000 คน สามารถไกล่เกลี่ยหนี้สำเร็จ 18,000 คน คิดเป็นมูลหนี้ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 1,800 ล้านบาท จากมูลหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือ 2,600 ล้านบาท
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า ตัวเลขที่ออกมาตนยังไม่พอใจและย้ำไปว่ายังทำไม่ดีพอ ซึ่งตนได้หารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย อยู่ตลอดเพื่อพยายามเร่งให้คนเข้ามาลงทะเบียนมากๆ ทั้งเรื่องของความไม่เข้าใจกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ หรือเรื่องกลัวผู้มีอิทธิพลต่างๆ นาๆ ก็ต้องพยายามทำกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม การประเมินเพียงตัวเลขผู้เข้าโครงการเพียงอย่างเดียวก็คงไม่สามารถทำได้ อาจต้องดูความสำเร็จในแง่ช่วยลดภาระ หรือทำให้คนเข้ามาสู่ในระบบ หรือหลุดพ้นความเป็นหนี้ได้หรือไม่ด้วย
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายสะท้อนความคิดเห็นกันมากว่าการลงทะเบียนดังกล่าว เป็นการเปิดลงทะเบียนเฉพาะบุคคลที่ยินดีจะเข้าโครงการ ซึ่งไม่ครอบคลุมหนี้สินทั้งหมด
อ่านข่าว : รีบเลย! ลงทะเบียนออนไลน์ "แก้หนี้นอกระบบ" ถึงเที่ยงคืนนี้
นักวิชาการแนะแก้กฎหมายล้มละลายช่วยแก้หนี้
สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าทีมวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย หรือ Fair Finance Thailand มองว่า การลงทะเบียนแก้หนี้มีมาหลายสมัย แต่การแก้หนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น สภาพเศรษฐกิจ ฟื้นตัวไม่ทันกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น กระทบความสามารถในการหารายได้และการชำระหนี้ของลูกหนี้ ส่งผลให้แนวโน้มปัญหาหนี้สินรุนแรงขึ้น ซึ่งไม่สามารถสะสางได้ด้วยมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้เพียงอย่างเดียว
จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดร่างแก้ไขกฎหมายล้มละลายที่พรรคก้าวไกลเสนอเข้าสู่สภาฯ เนื่องจากสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์อำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอี ยื่นฟื้นฟูกิจการได้สะดวกขึ้น พร้อมกับเพิ่มสิทธิ์ให้ลูกหนี้รายย่อยสามารถยื่นขอฟื้นฟูฐานะเหมือนบริษัทเอกชน โดยไม่ต้องรอให้ถูกฟ้องล้มละลายก่อน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยสามารถแก้ปัญหาหนี้สินได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องเปิดลงทะเบียนแก้หนี้ทุกรัฐบาลเหมือนตอนนี้
หากเป็นไปตามที่นักวิชาการด้านการเงินอิสระกล่าวถึง ก็ดูเหมือนจะมีความหวังว่าหากใครมีหนี้สินล้นพ้นตัว ก็น่าจะมีทางออกอีกทางหนึ่งที่ทำได้ นอกเหนือไปจากแนวคิดแบบเดิมที่มักเน้นการนำหนี้นอกระบบเข้าไปสู่ในระบบ ซึ่งค่อนข้างมีเงื่อนไขที่เข้มงวดมาก ซึ่งแนวคิดในการนำหนี้นอกระบบมาสู่หนี้ในระบบ เป็นสิ่งที่ดีในแง่การลดภาระหนี้ลง เพราะจะลดการคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมและลดการผ่อนชำระรายเดือนลงได้
การจะเข้าในระบบได้ต้องมีหลักฐานที่แสดงที่มารายได้ และความสามารถในการชำระคืนในอนาคต น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ กล่าวว่า แบงก์ชาติผลักดันให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่ผู้ให้บริการการเงินสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก เช่น รายได้ยื่นภาษี เงินสมทบประกันสังคม การซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม พฤติกรรมชำระค่าน้ำค่าไฟ ตลอดจนสถานการณ์บังคับคดีของบุคคคลหรือบริษัท เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการวิเคราะห์สินเชื่อตามความเสี่ยงของผู้กู้ โดยไม่ต้องดูข้อมูลรายได้ที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการเฟสแรกได้ภายในปี 2568
แต่จริงๆ แล้ว การโอนย้ายหนึ้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ ไม่ได้มีอะไรการันตีว่าจะแก้ปัญหาหนี้ได้ทั้งหมด เพราะตัวเลขหนี้ในระบบในขณะนี้ก็ไม่ได้สะท้อนสถานการณ์ที่สู้ดีนัก
สรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ล่าสุดปี 2566 หนี้เสียของสินเชื่ออุปโภคบริโภค แยกเป็นหนี้บัตรเครดิต เป็นอันดับ 1 ร้อยละ 3.5 รองลงมาหนี้ที่อยู่อาศัย ร้อยละ 3.33 สินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 2.48 และสินเชื่อรถยนต์ ร้อยละ 2.13
ขณะที่ข้อมูลสถานะครัวเรือนไทย เวลานี้มีหนี้เสียยังไม่ถูกฟ้อง 1 ล้านล้านบาท คนกำลังจะเป็นหนี้เสียอีกกว่า 6.1 แสนล้านบาท คนที่เป็นหนี้เสียและปรับโครงสร้างแล้วราว 1 ล้านล้านบาท และคนที่ไปหมดทุกช่องแล้ว ถูกฟ้องและอยู่ระหว่างบังคับคดีอีก 1.2 ล้านคดี ทุนทรัพย์ 3.68 แสนล้านบาท
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนี้นอกระบบหรือในระบบ หัวใจสำคัญคือการสร้างเศรษฐกิจให้ดี เพื่อคนมีรายได้ ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จึงจะเป็นการตัดวงจรหนี้อย่างยั่งยืน
อ่านข่าวอื่นๆ
กรมอุทยานฯ ยืนยันแผนที่แนวเขตเขาใหญ่ถูกต้อง
นายอำเภอถลางชี้ "หาดยามู" พท.สาธารณะ - พญ.ยันเอาเรื่องถึงที่สุด
สมาคมตะกร้อสั่งยุติการทำงาน "ผู้จัดการ-โค้ช" ยกชุด ปมหักหัวคิวเงินอัดฉีด