ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สมาคมตะกร้อสั่งยุติการทำงาน "ผู้จัดการ-โค้ช" ยกชุด ปมหักหัวคิวเงินอัดฉีด

กีฬา
29 ก.พ. 67
20:38
894
Logo Thai PBS
สมาคมตะกร้อสั่งยุติการทำงาน "ผู้จัดการ-โค้ช" ยกชุด ปมหักหัวคิวเงินอัดฉีด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมาคมกีฬาตะกร้อฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีการหักเงินรางวัลนักกีฬากรณีหักหัวคิวเงินอัดฉีดของนักกีฬา โดยให้ผู้จัดการทีมและโค้ชทีมชาติไทย ยุติการทำหน้าที่ พร้อมแต่งตั้ง "สุพจน์ ตุ้มประชา" ทำหน้าที่คุมทีมชาติไทย

วันนี้ (29 ก.พ.2567) จากกรณีที่เป็นประเด็นข่าวหลังจบเอเชียนเกมส์ 2022 กว่างโจวเกมส์ ได้มีอดีตนักตะกร้อทีมชาติไทยโพสต์ถึงเรื่องข้อตกลงเรื่องเงินอัดฉีดนักกีฬาทีมชาติไทยของกีฬาตะกร้อว่ามีการตกลงแบ่งเปอร์เซ็นต์ภายในแคมป์ จำนวน 30-50% จากจำนวนเงินอัดฉีดที่นักกีฬาแต่ละคนได้รับจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

จน “โจ้หลังเท้า” พ.ต.ท.สืบศักดิ์ ผันสืบ 1 ในคณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทยได้ออกมาช่วยเหลือนักกีฬาทีมชาติที่โดนแบบเดียวกัน พร้อมงัดเอาหลักฐานต่างๆ ว่านักกีฬาแต่ละคนมีข้อตกลงไว้กี่เปอร์เซนต์ มีการโอนเข้าบัญชีใคร หรือมีการนัดสถานที่ให้เงินสดกันที่ไหน

หลักฐานการแบ่งเปอร์เซ็นต์เงินอัดฉีดเอเชียนเกมส์ของนักกีฬาตะกร้อทั้งทีมชายและทีมหญิง ในประเภททีมชายได้ 2 เหรียญทอง จากทีมเดี่ยว กับ ทีมชุด รวมเงินที่ได้จากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 34 ล้านบาท แบ่งเป็นนักกีฬา 5 คนที่เล่นทีมเดี่ยวกับทีมชุดจะได้คนละ 4 ล้านบาท และนอกนั้นอีก 7 คนที่เล่นแค่ทีมชุดจะได้คนละ 2 ล้านบาท เข้าสู่กระบวนการแบ่งเงินอัดฉีดตามข้อตกลงภายในทีม

ปรากฏว่า คนที่เล่นทีมชุด 7 คนจะได้ตามปกติคือคนละ 2 ล้านบาท แต่คนที่เล่นทีมเดี่ยวได้เงินคนละ 2.1 ล้านบาท ส่วนเงินจำนวน 9.5 ล้านที่หักออกจากทีมเดี่ยวจะแบ่งให้ 1.ให้นักกีฬา 3 คนที่เดินทางไปจีนด้วยแต่ไม่ได้ลงแข่ง ซึ่งทั้ง 3 คนจะได้คนละ 1.3 ล้านบาท รวมเป็น 3.9 ล้านบาท และ 2.ให้กับนักกีฬาที่เป็นคู่ซ้อมจำนวน 9 คน ซึ่งทั้ง 9 คน จะได้คนละ 2.5 แสนบาท รวมเป็น 2.25 ล้านบาท

โดยทั้ง 2 ข้อนี้ นักกีฬาทีมชายให้เหตุผลว่าเป็นน้ำใจที่เต็มใจแบ่งให้รวมกันคือ 6.15 ล้านบาท แต่เมื่อหักลบจากเงินจำนวน 9.5 ล้านบาท ปรากฏว่าเหลือเงินอีกจำนวน 3.35 ล้านบาท ที่ยังเป็นคำถามว่าหายไปไหน?

ขณะที่ทีมหญิงก็ได้รับเงินอัดฉีดเท่ากับทีมชายเพราะได้ 2 เหรียญทอง (ทีมเดี่ยว กับ ทีมชุด) จำนวน 34 ล้านบาท แบ่งเป็นนักกีฬา 5 คนที่เล่นทีมเดี่ยวกับทีมชุดจะได้คนละ 4 ล้านบาท และนอกนั้นอีก 7 คนที่เล่นแค่ทีมชุดจะได้คนละ 2 ล้านบาท

แล้วเมื่อเข้ากระบวนการแบ่งเงินอัดฉีดตามข้อตกลงภายในทีม ปรากฏว่า นักกีฬาทีมเดี่ยว 5 คน ได้คนละ 2 ล้านบาท และนักกีฬาทีมชุด 7 คน กับ นักกีฬา 3 คนที่เดินทางไปจีนด้วยแต่ไม่ได้ลงแข่งขันได้คนละ 1.5 ล้านบาท รวมแล้ว 25 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 9 ล้านบาทจะมีการแบ่งให้นักกีฬาคู่ซ้อมจำนวน 9 คน คนละ 2.5 แสนบาท รวมเป็น 2.25 ล้านบาท ทำให้เหลือ 6.75 ล้านบาท ซึ่งก็ยังเป็นคำถามเหมือนกันว่าหายไปไหน?

สรุปได้ว่าเงินของทีมชายหายไปจำนวน 3.35 ล้านบาท และของทีมหญิงหายไปจำนวน 6.75 ล้านบาท โดยเงินทั้ง 2 ก้อนนี้ไม่ได้มีรายงานว่าแจกแจงไปยังนักกีฬาคนไหนเลย ทำให้ "สารวัตรโจ้" ตั้งข้อสังเกตว่าเงินจำนวนดังกล่าวที่ควรเป็นของนักกีฬาอยู่ที่ใคร และเรื่องการหักเงินอัดฉีดนักกีฬาอย่างไม่เป็นธรรมได้เข้าสู่กระบวนการของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ล่าสุด “บิ๊กต้อม” ธนา ไชยประสิทธิ์ นายกสมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย เป็นประธานในการประชุมสมาคมโดยมีวาระสำคัญคือการตัดสินเรื่องการหักเงินนักกีฬาทีมชาติ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน เป็นผู้ตัดสิน คือ ดร.สมพงษ์ ชาตะวิถี, รัฐชัย ดารากร ณ อยุธยา, สุพจน์ ตุ้มประชา, พล.ร.ท.บุญชิต พูลพิทักษ์ และ สมชาย ประเสริฐศรี

โดยในที่ประชุมมีมติให้หยุดทำหน้าที่ของผู้จัดการทีมและผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย แล้วให้ สุพจน์ ตุ้มประชา เป็นผู้จัดการทีมและหัวหน้าผู้ฝึกสอน ส่วนทีมผู้ฝึกสอน 4 คนคือ สามารถ โพธิ์ทอง, สมพร ใจสิงหล, ประเวศ อินทรา และ อธิยุต กิ้มทอง ซึ่งทั้งหมดนี้จะลงทำหน้าที่ในการแข่งขันตะกร้อชิงแชมป์โลกที่ประเทศมาเลเซีย ในเดือนพฤษภาคม, คิงส์ คัพ ในเดือนกันยายน และ เอเชียนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์ทเกมส์ ในเดือน พฤศจิกายน

ขณะที่ ดร.สมพงษ์ ชาตะวิถี ประธานคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า การหักเงินนั้นมาจากการปฏิบัติภารกิจร่วมกันซึ่งเป็นการเจรจาร่วมกันระหว่าง นักกีฬา โค้ช และ ผู้จัดการทีม โดยนักกีฬาได้ให้คำชี้แจงว่าเป็นการหักเงินที่มากเกินไป ก็เป็นกลุ่มนักกีฬาที่ได้ 2 เหรียญทองซึ่งจะได้เงินคนละ 4 ล้านบาท แต่ถูกหักออกไปคนละ 50% ทำให้เหลือเพียงคนละ 2 ล้าน หรือ เทียบเท่ากับได้ 1 เหรียญทอง ตอนนี้ก็พิจารณาแล้วว่าให้หยุดการทำงานของผู้จัดการทีมและผู้ฝึกสอนทันที

ด้าน พ.ต.ท.สืบศักดิ์ ผันสืบ กล่าวว่า ไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายใครแต่อยากให้ทุกเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบที่ถูกต้อง ส่วนที่ประชุมก็ได้รับทราบแล้วว่าเงินจำนวน 10.1 ล้านบาทไปอยู่ที่ใคร แต่ก็รักษามารยาทในที่ประชุมว่าจะไม่ขอเปิดเผย แต่ทั้งหมดวันนี้ถือว่าจบลงแล้ว และเป็นที่น่าพอใจสำหรับคำตัดสินของสมาคมในการให้ทีมผู้ฝึกสอนชุดเก่าและผู้จัดการทีมหยุดปฏิบัติหน้าที่

อ่านข่าวเพิ่ม : 

5 ดาวรุ่งติดทีมชาติวอลเลย์บอลหญิง ลุยศึกใหญ่ 2024

"มาดามแป้ง" หวังบอลหญิงไทยไปบอลโลกสมัย 3 - "วีเมนส์ลีก" เปิดฉาก 2 มี.ค.

สมาคมวอลเลย์บอลฯ เรียกนักตบชาย-หญิง เก็บตัวสู้ศึกนานาชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง